“…การผลักดันนโยบายแบบนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือคอนวีเนียลมอลล์หรือไม่ เพราะเม็ดเงินจากการที่ไม่ต้องจัดซื้อจัดหาถุงพลาสติกมาแจกลูกค้าปีๆ หนึ่งไม่ใช่น้อย ๆ และเงินที่ลูกค้าต้องซื้อถุงพลาสติกในร้านค้าที่เคยแจกให้ฟรีก็มีไม่น้อยด้วยเช่นกัน น่าแปลกไหม ไม่ให้ร้านค้าแจกถุงพลาสติกแต่ถ้าจะซื้อมีขายให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกันน่าดูชมเลยทีเดียว…”
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ได้แสดงความเห็นสอบถาม รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษาที่ผ่านมา ในระหว่างการพิจารณาวาระ เรื่องการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังนั้น
โดยคุณมนัญญาถาม รมว.วราวุธ ความว่า “อยากรู้ว่าในร้านสะดวกซื้อ ประชาชนต้องเสียเงินซื้อถุงพลาสติก แล้วเงินที่ประชาชนต้องมานั่งเสียมันไปไหน นโยบายรัฐคือ ไม่ให้ถุงเลยหรืออย่างไร แต่ก่อนซื้อของไม่ต้องเสียค่าถุง ตอนนี้ต้องเสียเพิ่มขึ้นมา”
ทำให้เกิดวิวาทะกันทั้งสองฝ่าย จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องไล่ให้ไปเถียงกันนอกห้องประชุม จนกลายเป็นประเด็นดราม่าอยู่ในขณะนี้ เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวและคนคัดค้านก็ไม่น้อยเลยทีเดียว
ทั้งนี้ แม้จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่จะต้องออกมาเป็นเจ้าภาพในการรณรงค์ผลักดันในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ควรที่จะต้องมีทางออกและคำตอบให้กับประชาชนด้วย โดยเฉพาะกับข้อสงสัยที่ว่า
การผลักดันนโยบายแบบนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือคอนวีเนียลมอลล์หรือไม่ เพราะเม็ดเงินจากการที่ไม่ต้องจัดซื้อจัดหาถุงพลาสติกมาแจกลูกค้าปีๆ หนึ่งไม่ใช่น้อย ๆ และเงินที่ลูกค้าต้องซื้อถุงพลาสติกในร้านค้าที่เคยแจกให้ฟรีก็มีไม่น้อยด้วยเช่นกัน น่าแปลกไหม ไม่ให้ร้านค้าแจกถุงพลาสติกแต่ถ้าจะซื้อมีขายให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกันน่าดูชมเลยทีเดียว
เรื่องนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ควรจะไปเริ่มต้นในบ้านของตัวเองก่อนดีไหมครับ เช่น ขณะนี้มีประกาศของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ออกมาว่าห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน 65 นี้เป็นวันแรก ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับถึง 1 แสนบาทเลยทีเดียว ต่อไปนี้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศคงจะสะอาดสะอ้านไม่มีถุงพลาสติกอีกแล้วเป็นแน่แท้ แต่ทว่าบังคับใช้ประกาศดังกล่าวอย่าเลือกปฏิบัติก็แล้วกัน เพราะพนักงาน เจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง รวมทั้งคนใหญ่คนโตในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ต้องอยู่ภายใต้ประกาศฯฉบับนี้เช่นเดียวกัน
เห็นทีสมาคมฯ จะลองเข้าไปสุ่มตรวจสอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ โดยเฉพาะโรงประกอบอาหาร และถังขยะในบ้านพักเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต่างๆ ดูว่าจะมีถุงพลาสติกเป็นหลักฐานอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีจะถ่ายรูปแล้วเอาไปให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯพิจารณาว่า ความเป็นจริงกับ “โลกสวย” นั้นมันต่างกันอย่างไร นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด