วันเสาร์, ธันวาคม 7, 2024
หน้าแรกการเมืองกสม. เสนอทบทวนสถานที่ตั้งโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในพื้นที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ย้ำประชาชนต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ

Related Posts

กสม. เสนอทบทวนสถานที่ตั้งโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในพื้นที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ย้ำประชาชนต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ

กสม. เสนอทบทวนสถานที่ตั้งโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในพื้นที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ย้ำประชาชนต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ – ระดมสมัชชาเครือข่ายระดับพื้นที่วางแนวทางแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะ กรณีกลุ่มนักเรียนรหัส G ภิกษุสามเณร คนไทยพลัดถิ่น และผู้สูงอายุ เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 27/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. เสนอทบทวนสถานที่ตั้งโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 20 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ย้ำชุมชนและประชาชนที่จะได้รับผลกระทบต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก สมาคมพลเมืองนครนายกเมื่อเดือนเมษายน 2565 ระบุว่า สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ผู้ถูกร้อง) จะดำเนินโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ขนาด 15 – 20 เมกะวัตต์ ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ รายงาน EHIA ผู้ร้องเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจละเมิดสิทธิของประชาชนในหลายประเด็น อาทิ ใช้ข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2533 ในการเลือกสถานที่ตั้งโครงการ โดยไม่ทำประชาพิจารณ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการไม่ครบถ้วน ขาดความโปร่งใส สถานที่ตั้งไม่มีความเหมาะสม เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสีรั่วไหลปนเปื้อนในน้ำ และสู่ชั้นดิน การเกิดแผ่นดินไหวและการก่อวินาศกรรม ไม่มีการจัดทำรายงาน EHIA ในการใช้พื้นที่เก็บกากกัมมันตรังสี และการจัดทำรายงาน EHIA โครงการไม่มีการหารือก่อนรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ อีกทั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ครอบคลุม จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้

(1) สถานที่ตั้งโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องใหม่ ขนาด 20 เมกะวัตต์ มีความเหมาะสมหรือไม่ เห็นว่า การที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ผู้ถูกร้อง ดำเนินโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องใหม่ จากขนาด 10 เมกะวัตต์ เป็นขนาด 20 เมกะวัตต์ โดยยังคงใช้พื้นที่ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก อันเป็นสถานที่ตั้งโครงการเดิม ซึ่งเป็นการเลือกพื้นที่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ที่ชุมชนอาศัยหนาแน่น และผลการศึกษาสถานที่ตั้งของผู้ถูกร้องที่ศึกษารายละเอียดเชิงลึกของสถานที่ในด้านวิศวกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม สรุปว่า ยังมีความเสี่ยงในกรณีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลไปสู่แหล่งน้ำ น้ำบาดาล และอากาศ มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วม และมีความไม่ชัดเจนของความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหว อีกทั้งยังไม่มีบริษัทรับทำประกันความเสียหายและการชดเชยเยียวยาอันเกิดจากผลกระทบจากสถานประกอบการนิวเคลียร์ การดำเนินโครงการดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความหวาดกลัว ความห่วงกังวลต่อประชาชนที่อยู่รอบบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก สถานที่ตั้งจึงไม่มีความเหมาะสม ซึ่งผู้ถูกร้องจะต้องจัดหาพื้นที่ใหม่ โดยให้ยึดหลักการระวังไว้ก่อน (precautionary principle) เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จากกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม ประเด็นนี้จึงรับฟังได้ว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

(2) การรับฟังความคิดเห็น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA ของโครงการมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ เห็นว่า แม้ก่อนเริ่มโครงการในปี 2563 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ผู้ถูกร้องได้ประชาสัมพันธ์และทำประชาคมเพื่อให้ทราบรายละเอียดเบื้องต้นของโครงการ ต่อมาในปี 2565 มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจำนวน 2 ครั้ง เพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EHIA โดยครอบคลุมบริเวณพื้นที่โครงการและรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งมีประชากรอยู่จำนวน 38,082 คน แต่จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 จำนวน 730 คน และครั้งที่ 2 จำนวน 289 คน คิดเป็นร้อยละ 1.92 และ ร้อยละ 0.76 เท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ทั้งหมดรอบบริเวณพื้นที่โครงการ

อีกทั้งในรายงาน EHIA ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาด 20 เมกะวัตต์ ที่ชัดเจน และการดำเนินโครงการที่ผ่านมายังมีข้อร้องเรียน ข้อห่วงกังวล และมีการคัดค้านโครงการมาอย่างต่อเนื่องในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) สถานที่ตั้งที่ไม่มีความเหมาะสมตามหลักการของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) (2) สถานที่เก็บและการทำลายกากกัมมันตรังสี 2 แห่ง โดยเฉพาะที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ยังพบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี (3) กฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสถานประกอบการนิวเคลียร์ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และ (4) ปัญหาข้อพิพาทโครงการนิวเคลียร์เดิมกับบริษัทเอกชน ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลจนเป็นที่ยุติ แต่ผู้ถูกร้องและบริษัทที่ปรึกษายังคงดำเนินโครงการต่อไป โดยไม่ได้นำข้อร้องเรียนและข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่มาพิจารณาอย่างแท้จริง

และเมื่อเทียบกับโครงการ BNCT ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นสถานประกอบการนิวเคลียร์แห่งแรกภายใต้กฎกระทรวง การอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ. 2563 ที่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบโครงการและไม่เคยได้รับการร้องเรียน เนื่องจากได้ชี้แจงวัตถุประสงค์และนำเสนอให้เห็นเป็นรูปธรรม ประชาสัมพันธ์และจัดทำเอกสารเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เน้นการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย มีภาพประกอบ ทำวิดีโอสาธิตความปลอดภัย และโครงสร้างของอาคารที่มีความปลอดภัย รวมทั้งจัดทำโครงสร้างเสมือนจริง เพื่อสาธิตการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์ สร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินโครงการดังกล่าวกับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ประกอบกับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เห็นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อโครงการ เป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานรัฐต้องมีการประชาสัมพันธ์ เปิดเผยข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเกิดความมั่นใจต่อพลังงานนิวเคลียร์

จึงสรุปได้ว่า การรับฟังความคิดเห็น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA ของโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ขนาด 20 เมกะวัตต์ ของผู้ถูกร้อง มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนี้

(1) ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อทบทวนสถานที่ตั้งโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 20 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายกของผู้ถูกร้อง โดยศึกษาและพิจารณาพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในการดำเนินโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องใหม่ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม โดยนำข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล ของประชาชนที่ผ่านมาไปปรับใช้ในพื้นที่ตั้งโครงการใหม่ และให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงน้อยที่สุด และจัดทำแผนดำเนินโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในพื้นที่แห่งใหม่ โดยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ความคุ้มค่าของโครงการ ผลกระทบ มาตรการป้องกันต่าง ๆ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือมีภัยพิบัติที่เกิดขึ้น การชดเชยเยียวยา การติดตามตรวจสอบอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการจัดการกากกัมมันตรังสี และสถานที่จัดเก็บกากกัมมันตรังสี ให้มีความชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน เข้าใจได้ง่าย และจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ โดยเปิดโอกาสให้นักวิชาการ ภาคประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบในวงกว้าง สามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจรวมทั้งให้นำความคิดเห็น ข้อห่วงกังวล รวมถึงความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการที่ผ่านมาไปประกอบการดำเนินการโครงการใหม่ด้วย

(2) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อทบทวนประเภทโครงการที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้าง และมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายสูง โดยเฉพาะโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ ให้มีมาตรการป้องกันควบคุมอย่างรวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งรวมทั้งในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือมีภัยพิบัติที่เกิดจากการดำเนินการ มาตรการการชดเชยเยียวยา การตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และการติดตามเพื่อให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และสามารถคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทุกด้าน รวมทั้งให้มีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

(3) ให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กำกับดูแลการจัดการกากกัมมันตรังสีของผู้ถูกร้องทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ที่สำนักงานที่คลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และสำนักงานที่องครักษ์ จังหวัดนครนายกในการจัดเก็บกากกัมมันตรังสี โดยให้มีการตรวจสอบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเป็นประจำทุกเดือนและรายงานให้ประชาชนทั่วไปและพื้นที่ใกล้เคียงทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts