“…วัชระ เผย คดี กปปส. ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ เอกนัฏ จำคุก 1 ปี โดยรอลงอาญาและโทษปรับเงิน 13,333 บาท และ คดีของนายทักษิณ ชินวัตร ในมาตรา 112 อัยการมีคำสั่งฟ้อง นายเอกณัฐ ได้ไปให้การในสำนวนคดีนี้ว่าที่นายทักษิณ พูดที่ประเทศเกาหลีใต้ไม่เข้ามาตรา 112 ส่วนกรณีนายสันติ พร้อมพัฒน์ ปรากฏข่าวว่าเคยถูกมหาวิทยาลัยรามคำแหงลงโทษลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา เนื่องจากพบว่า ได้ให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทนโดยการปลอมบัตรประจำตัวนักศึกษาและใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพของกรมการขนส่งทางบก…”
เมื่อเวลา 10.30 น. วันศุกร์ ที่ 23 สิงหาคม 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือขอแจ้งข้อมูลบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ให้นายกรัฐมนตรีเพื่อประกอบการตัดสินใจ ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยนายวัชระเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า
ตามที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ทำหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. ได้เสนอชื่อนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่มีคดีความติดตัวแล้วและพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีนั้น
การเสนอชื่อนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ของพรรครวมไทยสร้างชาติและการเสนอชื่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ ของพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐมนตรีเป็นสิทธิ์ของพรรคการเมือง แต่ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีขอส่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีดังนี้
1.คดี กปปส. คดีหมายเลขดำ อ.247/2561 หมายเลขแดง อ.317/2564 ศาลอาญา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จำเลยที่ 9 จำคุก 1 ปี โดยรอลงอาญาและโทษปรับเงิน 13,333 บาท ได้ประกันตัวต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง ตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของสำนักงานอัยการสูงสุด ถ้าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาแตกต่างกัน กล่าวคือคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง โดยระเบียบดังกล่าวอัยการต้องมีคำสั่งฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาตัดสินชี้ขาด ดังนั้นคดีนี้จึงยังไม่ถึงที่สุดตามที่นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคกล่าวอ้าง
2.คดีของนายทักษิณ ชินวัตร ในข้อกล่าวหาฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือมาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามหมายเลขคดีดำที่ อ.1860/2567 ปรากฏเรื่องอัศจรรย์ทางจริยธรรมว่าก่อนที่อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาอ้างนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพยานในชั้นอัยการและนายเอกณัฐฯ ได้ไปให้การในสำนวนคดีนี้ว่าที่นายทักษิณฯ พูดที่ประเทศเกาหลีใต้ไม่เข้ามาตรา 112 เหตุใดนายเอกนัฏฯ จึงไปเป็นพยานให้นายทักษิณฯ ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) “เป่านกหวีด” ประท้วงขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และระบอบทักษิณมาตลอดชีวิตจนสมาชิก กปปส. ล้มตายและบาดเจ็บจำนวนมากแล้วเหตุใดจึงไปเป็นพยานให้นายทักษิณในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์อันเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีหรือผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่
3.ส่วนกรณีนายสันติ พร้อมพัฒน์ จากพรรคพลังประชารัฐปรากฏข่าวว่าเคยถูกมหาวิทยาลัยรามคำแหงลงโทษลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ 1170/2542 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2542 เนื่องจากในการสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2541 หัวหน้าตึกสอบ PRA 201 รายงานว่าในการสอบกระบวนวิชา PY 103 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2542 คาบสอบที่ 1 ได้ตรวจพบว่านายสันติ พร้อมพัฒน์ รหัสประจำตัว 4106562624 ได้ให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทนโดยการปลอมบัตรประจำตัวนักศึกษาและใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพของกรมการขนส่งทางบก และใช้เป็นหลักฐานในการเข้าสอบ ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืนและผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงซึ่งขนาดการศึกษายังกระทำการทุจริต ดังนั้นการบริหารงานให้ประเทศชาติและประชาชนจึงเป็นเรื่องน่าสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตโดยพลัน
ทั้งนี้ ตนถือว่าได้แจ้งให้ คุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทราบล่วงหน้าก่อนการประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของท่านแล้ว…” นายวัชระ กล่าวทิ้งท้าย