“..ผู้พูดเรื่องเงินตกหล่นคือ นายสมชาย แสวงการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้อภิปรายในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ในการพิจารณางบประมาณว่า “มีเงินตก 2 ก้อนใหญ่เงินจำนวนมากตกไปกับผู้ที่รับไปแล้ว หลักร้อยและหลักพันครับ ใครรับไปผมไม่มีใบเสร็จ แต่ข้อมูลนี้รับทราบกันดีในหมู่สมาชิกสภาชุดที่แล้ว ก็เรียนให้เป็นข้อมูล” และศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานสภาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ พูดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 ว่า “ผมก็เลยไปเอาสัญญามาดู เอามาดูก่อนที่ท่าน สนช.สมชายจะอภิปรายเมื่อวันก่อนว่ามีเงินตกหล่นอยู่ 500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท และมอบให้ผมไปควานหา ผมจะไปหาที่ไหน ผมก็เลยต้องตรวจดูสัญญา ผมไม่เห็นมีสัญญาที่ไหนแย่เท่าฉบับนี้…”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนคำสั่งไม่รับเรื่องกล่าวหากรณีขอแจ้งเบาะแสการทุจริตเงินตก 2 ก้อนใหญ่ (500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท) จากงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 12,280 ล้านบาทไว้พิจารณา
นายวัชระ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากกรณีที่สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งคำสั่งไม่รับเรื่องกล่าวหาการทุจริตเงินงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ว่ามีการรับเงินใต้โต๊ะ (เงินตกหล่น) จำนวน 2 ก้อนใหญ่ จำนวน 500 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท ไว้พิจารณานั้น ตนในฐานะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะผู้ร้องเรียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำสั่งดังกล่าว และขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทบทวนคำสั่งไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณาเนื่องจากเหตุผลดังนี้
- ผู้พูดเรื่องเงินตกหล่นคือ นายสมชาย แสวงการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้อภิปรายในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ในการพิจารณางบประมาณว่า “มีเงินตก 2 ก้อนใหญ่เงินจำนวนมากตกไปกับผู้ที่รับไปแล้ว หลักร้อยและหลักพันครับ ใครรับไปผมไม่มีใบเสร็จ แต่ข้อมูลนี้รับทราบกันดีในหมู่สมาชิกสภาชุดที่แล้ว ก็เรียนให้เป็นข้อมูล” ปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมหน้า 182-186 และศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานสภาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ พูดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 ในพิธีมอบหมายนโยบายการบริหารราชการของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อหน้าคณะผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนำโดยนายจเร พันธุ์เปรื่อง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 ว่า “ผมก็เลยไปเอาสัญญามาดู เอามาดูก่อนที่ท่าน สนช.สมชายจะอภิปรายเมื่อวันก่อนว่ามีเงินตกหล่นอยู่ 500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท และมอบให้ผมไปควานหา ผมจะไปหาที่ไหน ผมก็เลยต้องตรวจดูสัญญา ผมไม่เห็นมีสัญญาที่ไหนแย่เท่าฉบับนี้” ปรากฏอยู่ในรายงานการประชุม ซึ่งทั้งสองท่านพูดในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามลำดับ
- กรณีไม่ปรากฏพยานเอกสารตามหนังสือนางดารณี ธรเสนา ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอ้างนั้นย่อมมิใช่เป็นหน้าที่ของผู้ร้องเพียงเท่าที่ท่านกล่าวอ้าง หากแต่เป็นอำนาจหน้าที่หลักของ ป.ป.ช.ที่มีอำนาจเรียกพยานเอกสารธุรกรรมทางการเงินของบุคคลหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าในห้วงระยะเวลาดังกล่าวมีการถอนเงินสดหรือเช็คหรือแคชเชียร์เช็คเป็นจำนวนมากจากธนาคารใดบริษัทใดไปจ่ายให้กับผู้ใด ท่านเป็น ป.ป.ช.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมพึงรู้ถึงอำนาจหน้าที่การตรวจสอบดังกล่าวดีอยู่แล้ว ข้าพเจ้าแนบหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ ปช 0020/1840 ลงวันที่ 31๑ กรกฎาคม 2567 มาให้ท่านดูว่าเป็นเรื่องเศร้าเพียงใดที่ ป.ป.ช. ไม่ตรวจสอบการทุจริตเงินหล่นจำนวน 500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท
- จึงย่อมมีมูลเหตุการแจ้งเบาะแสการทุจริตเพียงพอและความปรากฏแก่ ป.ป.ช. แล้วจึงเป็นกรณีที่ ป.ป.ช. พึงพิจารณารับเรื่องไว้ไต่สวนตามพันธกิจและวิสัยทัศน์และกฎหมายของ ป.ป.ช. จึงขอให้ ป.ป.ช.ทั้งคณะโปรดรับเรื่องไว้ไต่สวนหาความจริงหาคนทุจริตการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้ประเทศชาติต่อไป หากท่านละเว้นไม่สอบสวนเรื่องนี้ ตนจักขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายอาญาต่อไป
- กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับมอบหมายให้พิจารณามีคำสั่งแทนไม่รับเรื่องกล่าวหาไว้พิจารณา จึงขอทราบข้อเท็จจริงดังนี้
4.1 ชื่อกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับมอบหมายคือท่านใด ทำไมวินิจฉัยแบบนี้ขัดกับพันธกิจและวิสัยทัศน์ของสำนักงาน ป.ป.ช. และกฎหมายของ ป.ป.ช. หรือไม่
4.2 พยานบุคคลที่เป็นพยานบอกเล่า ป.ป.ช. ได้เชิญมาให้ถ้อยคำหรือไม่ อย่างไร สอบสวนให้สิ้นกระบวนการอย่างครบถ้วนของ ป.ป.ช.แล้วหรือยัง
4.3 ป.ป.ช. ได้เชิญศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย และ นายสมชาย แสวงการ มาให้การหรือไม่ หากสำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่ได้เรียกพยานบุคคลหรือท่านระบุว่าเป็นพยานบอกเล่ามาให้ข้อมูลหรือถ้อยคำขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการรับเรื่องไว้ไต่สวนเพื่อค้นหาความผิดปกติเช่นเดียวกับกรณีจับอัยการฉาวรีดเงิน 2 แสนบาท ส่อทุจริตที่สำนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราชวิ่งคดี เลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช. ยังลงทุนลงแรงนั่งเครื่องบินไปจับอัยการ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กรณีทุจริตค่าอาหารกลางวันนักเรียน วงเงินความเสียหายไม่สูงแต่ ป.ป.ช. จริงจังเอาเป็นเอาตาย แต่เรื่องกล่าวหาทุจริตเงินหล่น 500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาทนี้ ป.ป.ช. กลับเพิกเฉยเป่าทิ้งปัดทิ้ง ไม่จริงจังเหมือนการปราบปรามข้าราชการเล็ก ๆ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่น ข้าราชการบ้านนอกที่ไม่มีเส้นสายไม่เคยเข้าหลักสูตร นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) หรือไม่ใช่เป็นนักการเมืองชั้นผู้ใหญ่ที่มีเส้นสายสนิทสนมกับ ป.ป.ช. ขนาดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียังเคยพูดกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้องเรียนกับ ป.ป.ช. กล่าวหา นายเศรษฐา ทวีสิน ผิดมาตรา 157 ว่า “เรื่องของ ป.ป.ช. เดี๋ยวไปวิ่งเอา” รวมทั้งที่ผ่านมามีข้าราชการที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแต่ศาลปกครองหรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบยกฟ้องเป็นจำนวนมาก ป.ป.ช. เคยเยียวยาชื่อเสียงเกียรติยศให้กับข้าราชการผู้บริสุทธิ์ที่ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิดหรือไม่
- เมื่อเทียบเคียงกรณีคดีสินบนโรงไฟฟ้าขนอม พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ไปประชุมเรื่องการทุจริตที่ต่างประเทศเพียงแค่ได้ยินว่ามีการทุจริตติดสินบนโรงไฟฟ้าขนอม 20 ล้านบาทในที่ประชุมเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดใด ๆ เมื่อกลับประเทศไทยยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนและฟ้องศาลในที่สุด แต่กลับไม่ฟ้องบริษัทและบุคคลผู้ติดสินบนแต่ประการใด ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทเดียวกันนี้เป็นคู่สัญญาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบที่มีมูลเหตุร้องเรียนนี้และเป็นพฤติการณ์เจือสมที่เคยปฏิบัติมาก่อนตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ช. คดีหมายเลขดำที่ 07-3-619/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 308-3-50/2562 ที่อ้างถึง 2 ใช่หรือไม่
ดังนั้น ตนชี้ช่องทางให้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงระหว่างการลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 (ปีงบประมาณ 2556) แม้แต่เรื่องส่อทุจริตที่เพียงปรากฏข่าวตามหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ป.ป.ช. ยังหยิบยกมาสอบสวนซึ่งโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ก็เป็นกรณีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างยิ่งเพราะใช้เงินงบประมาณค่าก่อสร้างสูง 12,280 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างรวมขยายสัญญา 2,764 วัน จนถึงวันนี้ (14 สิงหาคม 2567) รวมเวลา 4,054 วัน การก่อสร้างก็ยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากงานก่อสร้างผิดแบบหรือสเปค ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญา มีการงดค่าปรับและตรวจรับมอบงานทั้งที่งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญา ในอดีตที่ผ่านมามีเรื่องอื้อฉาวไม่น้อยกว่า 20 เรื่องที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องส่อทุจริตกับสำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว
ทั้งนี้ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. กันข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานและข้าพเจ้ายินดีมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมด้วยตนเองโดยเร็วที่สุด
อนึ่ง ตนขอขอบคุณ ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย และ นายสมชาย แสวงการ ที่แจ้งเบาะแสการทุจริตเงินตก 2 ก้อนใหญ่ (500 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท) จากงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 12,280 ล้านบาท โดยนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณชนกลางที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติและบุคคลในวงงานรัฐสภาอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา บันทึกไว้เป็นเอกสารราชการเป็นประวัติศาสตร์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเข้มแข็งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ทุกประการ
ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรนำในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและได้รับความเชื่อมั่น” และพันธกิจ “บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดันการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” อย่ามุ่งเอาผิดข้าราชการชั้นผู้น้อยหรือข้าราชการบ้านนอกที่ไม่มีเส้นสายหรือเอาเป็นเอาตายกับข้าราชการที่ไม่รู้กฎหมาย แต่กับนักการเมือง รัฐมนตรี ผู้มีอำนาจกลับปัดทิ้งหรือปล่อยให้ขาดอายุความดังที่เคยปรากฏมาก่อนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนในหลายกรณีมาแล้ว…นายวัชระ กล่าวทิ้งท้าย