วันนี้ (10 ตุลาคม 2567) ที่ห้อง Bluebox L โรงแรมบลูแรบบิท ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจ.จันทบุรี พร้อมด้วย นายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี นายอุกฤษฏ์ วงทองสาลี ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ร่วมกันแถลงข่าว ารจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าอาหารสตรีทฟู้ด
เป็นที่ทราบกันดีว่า การระบาดของโควิด – 19 ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างงานในหลายๆ ธุรกิจ และหลายกิจการต้องปิดตัวลง รวมถึงราคาสินค้า ราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ตลอดจนราคาอาหารสด เช่น สุกร ไก่ ไขไก่ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน
เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ของทางจังหวัดจันทุบรีที่ได้รับผลกระทบ ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรีจึงจัดโครงการ โครงการส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีทฟู้ด และจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าอาหารสตรีทฟู้ดภายใต้ชื่องาน “Chanthaburi Street Food Street Fest : สวรรค์นักเดินทาน” ขึ้นมา เพื่อให้สามารถทำการค้าขายสร้างรายได้ ให้สามารถมีรายได้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อสร้างสภาพคล่อง และยกระดับสตรีทฟู้ดภายในจังหวัดจันทบุรี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เห็นความสำคัญ อีกทั้งยังเป็นการตอบรับ กระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร หรือ “Gastronomic Tourism” ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) และเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกชื่นชอบ ซึ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะชื่นชอบอาหารไทย และปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มชื่นชอบอาหารสตรีทฟู้ด และอาหารท้องถิ่น (Local Food) ของไทยมากขึ้นทุกปี โดยยกระดับอาหาร สตรีทฟู้ดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน แต่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ รวมไปถึงการจัดระเบียบจราจร และสิ่งสำคัญคือ ด้านความปลอดภัยของอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เพราะอาหารเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน และเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงจะช่วยในเรื่องการสร้างอาชีพ ช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน