วันจันทร์, ธันวาคม 23, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. มีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง

Related Posts

กสม. มีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง

กสม. มีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ – ประธาน กสม. เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 13 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นางรัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 41/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. มีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รับทราบมาว่าคณะรัฐมนตรีได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามความในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามความในมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไปแล้ว 6 พื้นที่ และจะประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอีกหลายพื้นที่ ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง

กรณีดังกล่าว กสม. ได้เคยมีข้อเสนอแนะ ที่ 1/2565 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาการสำรวจการถือครองที่ดินเพื่อจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา และเนื้อหาสาระของกฎหมายที่ไม่ได้มุ่งหมายในการรับรองสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชน โดย ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา และได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ยืนยันไม่แก้ไขตามข้อเสนอแนะของ กสม. และมิได้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างใดต่อไป

กสม. ขอเน้นย้ำว่า การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะกระทบสิทธิของประชาชนใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประเด็นแรก การเหมารวมและตีตราว่าผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมเป็นอาชญากร ด้วยประเทศไทยมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ จารีตประเพณี และวัฒนธรรม มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขาสูงและตามชายฝั่งทะเลมาแต่เดิม แม้จะไม่มีเอกสารแสดงสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มีสิทธิในที่ดินตามวิถีวัฒนธรรมหากครอบครองมาก่อนการประกาศสงวนหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐ การกำหนดให้บริเวณใดเป็นที่ดินของรัฐอันเป็นการสงวนหวงห้ามเฉพาะพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเท่านั้น ไม่อาจลบล้างสิทธิในที่ดินของประชาชนได้ ซึ่งรัฐมีหน้าที่พัฒนากลไกในการพิสูจน์และรับรองสิทธิอย่างเป็นธรรม

แม้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จะกำหนดให้มีการสำรวจถือครองภายใน 240 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่การสำรวจดังกล่าวยังตกหล่น ไม่ครบถ้วน และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะการไม่สำรวจแปลงที่ถูกตรวจยึดและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี 2552-2564 ที่เป็นช่วงเวลาสำรวจการถือครอง พบว่ามีจำนวนกว่า 25,400 คดี และมีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกว่า 6,400 คน เนื้อที่ประมาณ 2.9 แสนไร่ ซึ่งบางแปลงไม่ได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิอย่างเป็นธรรม อันเป็นปัญหาที่ กสม. ได้เคยชี้ให้เห็นแล้วในข้อเสนอแนะที่แจ้งไปยัง ครม. ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎรที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ด้านป่าไม้และที่ดิน พ.ศ. ….

นอกจากนี้ หลังสำรวจการถือครองที่ดินแล้วไม่ปรากฏในทางกฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ว่ามีกระบวนการจำแนกกลุ่มผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม แต่บัญญัติในกฎหมายแม่บทให้รัฐบาลกำหนดโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบบเหมารวมและตีตราว่าผู้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่อนุรักษ์เป็นผู้ยากไร้และผู้บุกรุกซึ่งลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามปรากฏในบทบัญญัติของร่างพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีสัญชาติไทยเป็นผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินที่อื่นอีก อยู่อาศัยและทำกินภายใต้การอนุญาตของรัฐเป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้สิทธิในที่ดิน สามารถครอบครองที่ดินได้ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 40 ไร่ ส่วนที่ครอบครองเกินต้องคืน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม และเจ้าของที่ดินที่ผ่านการพิสูจน์สิทธิซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านเนื้อที่ครอบครองตามนัยมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ทั้งนี้ การอยู่อาศัยและทำกินโดยชอบด้วยกฎหมายจะต้องเข้าร่วมโครงการนี้เท่านั้น หากไม่เข้าร่วมจะไม่ได้รับการยกเว้นโทษทางอาญาและยังมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงการไม่นำสิทธิดั้งเดิมของบุคคลมาพิจารณา และแสดงให้เห็นว่าปัญหาการถูกทำให้เป็นอาชญากรไม่เคยถูกแก้ไข

ประเด็นที่สอง การถูกไล่รื้อและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งชาติพันธุ์ ภายใต้บังคับของกฎหมายแม่บท โครงการตามพระราชกฤษฎีกานั้นมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด 20 ปี ย่อมหมายความว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่บุคคลและชุมชนออกจากพื้นที่ และไม่มีแผนรองรับการโยกย้ายที่อยู่อาศัยและที่ทำกินไว้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้บุคคลกลุ่มเปราะบางมีสภาพความเป็นอยู่ที่ขาดแคลนและไม่มั่นคง กระทบต่อสิทธิมนุษยชนหลายประการ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ สิทธิในที่อยู่อาศัย และสิทธิในสุขภาวะอนามัยที่ดี ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีความเสี่ยงที่จะถูกไล่รื้อจากพื้นที่โดยไม่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณพื้นที่สูง และชายฝั่งทะเล แทบจะไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินบรรพบุรุษของตนเองตามกฎหมาย พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ อีกทั้งยังมีการใช้ที่ดินแตกต่างจากคนพื้นที่ราบ เช่น ไร่หมุนเวียน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ เป็นต้น ซึ่งการไม่รับรองสิทธิในที่ดินให้กลุ่มชาติพันธุ์ถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งชาติพันธุ์ อันสอดรับกับการที่ประเทศไทยไม่ยอมรับสถานะความเป็นเผ่าพันธุ์และสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมืองทางกฎหมาย แม้จะประกาศรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) และเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) แล้วก็ตาม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 จึงมีมติเห็นควรให้แจ้งข้อพิจารณาตลอดจนข้อเสนอแนะกรณีดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม. ทบทวนและชะลอการประกาศใช้ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไว้ก่อน จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านป่าไม้และที่ดิน แล้วเสร็จ หรือมีการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 64 และ 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชน และไม่เป็นภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควร ซึ่งขณะนี้ กสม. อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts