วันพุธ, กรกฎาคม 9, 2025
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. ตรวจสอบโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา (ช่วงชุมทางบ้านภาชี - นครราชสีมา) ชี้การจัดทำรายงาน EIA ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แนะทบทวนรูปแบบการก่อสร้าง

Related Posts

กสม. ตรวจสอบโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา (ช่วงชุมทางบ้านภาชี – นครราชสีมา) ชี้การจัดทำรายงาน EIA ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แนะทบทวนรูปแบบการก่อสร้าง

นายจุมพล ขุนอ่อน รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ระบุว่า ประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 1 – 2 กิโลเมตร จากโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา (ช่วงชุมทางบ้านภาชี – นครราชสีมา) เขตพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี รวมระยะทาง 7.02 กิโลเมตร ไม่ได้รับทราบรายละเอียดข้อมูลโครงการฯ และไม่ได้รับเชิญในฐานะผู้มีส่วนได้เสียหลักโดยตรงเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ รายงาน EIA โดยจากรายงานดังกล่าวพบข้อมูลผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2556 ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปเพียงไม่กี่คนเท่านั้น จึงไม่ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ผู้ร้องเห็นว่า การจัดทำรายงาน EIA ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อีกทั้ง หากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกร้อง) ยังคงยืนยันก่อสร้างตามแบบเดิมคือ คันทางรถไฟระดับดินสูง 6.50 เมตร ระยะทางราว 7 กิโลเมตร จะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนทำให้สภาพความเป็นอยู่ต้องเปลี่ยนแปลง การเดินทางยากลำบากขึ้น และได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 41 (1) ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และมาตรา 58 บัญญัติให้การดำเนินการใดของรัฐถ้าอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียของประชาชนหรือชุมชน รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. (ผู้ถูกร้อง) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่เริ่มต้น โครงการดังกล่าวได้รับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงการออกแบบโครงการเมื่อปี 2556 โดย สนข. เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และช่วงเปลี่ยนแปลงแบบโครงการเมื่อปี 2563 โดย รฟท. เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซง พบว่า รฟท.ได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซงเพิ่งทราบรายละเอียดรูปแบบการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเป็นครั้งแรก และได้คัดค้านเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างแบบคันทางรถไฟระดับดินเนื่องจากข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านวิถีชีวิตของชุมชน เช่น มลพิษ ฝุ่น เสียง การแบ่งแยกชุมชนออกเป็นสองฝั่ง การบดบังทัศนียภาพ แสงแดดและทิศทางลม และการเปลี่ยนทิศการระบายน้ำที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขัง แต่ผู้ถูกร้องไม่สามารถปรับรูปแบบตามที่ประชาชนในพื้นที่เสนอได้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณการก่อสร้าง ข้อพิพาทเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างโครงการช่วงพื้นที่อำเภอหนองแซงจึงยังไม่อาจยุติได้ ในขณะที่รายงาน EIA ของโครงการได้รับความเห็นชอบแล้ว

ส่วนการดำเนินงานของ สนข. ในกระบวนการจัดทำรายงาน EIA ฉบับแรก ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดลอมแห่งชาติแล้วนั้น ปรากฏว่า การประชาสัมพันธ์โครงการมีเพียงการติดป้ายประชาสัมพันธ์ที่สถานีรถไฟหนองแซง และในการจัดประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่อำเภอหนองแซง 1 ครั้ง เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนทราบ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 นั้น มีผู้เข้าร่วม 38 คน เป็นประชาชนทั่วไปเพียง 2 คน ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนประชาชนที่มีอยู่ราว 247 ครัวเรือนในพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียงในระยะ 500 เมตร แม้ต่อมา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2556 สนข. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เพื่อสรุปผลการศึกษาโครงการ ก็ไม่ปรากฏว่ามีประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซงเข้าร่วมด้วย เนื่องจากไม่ได้รับทราบการประชาสัมพันธ์ให้เข้าร่วม ประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซงจึงได้รับทราบรายละเอียดของโครงการเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2565 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกร้อง) ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

กสม. เห็นว่า ประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซงไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงกระบวนการจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการใน EIA ฉบับแรกของผู้ถูกร้อง ประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซงก็ยังคงไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ EIA อยู่เช่นเดิม และได้รับทราบรายละเอียดของโครงการจากผู้ถูกร้องเป็นครั้งแรกภายหลังจากที่ EIA ทั้ง 2 ฉบับได้รับความเห็นชอบแล้ว ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถให้ความเห็นและเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาของชุมชนที่เหมาะสมเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาโครงการได้ จึงไม่สอดคล้องตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลให้เกิดข้อพิพาทและข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างคันทางรถไฟระดับดินที่ผ่านพื้นที่อำเภอหนองแซง รวมระยะทาง 7.02 กิโลเมตร ขึ้นตามที่มีการร้องเรียน และส่งผลกระทบต่อสิทธิของชุมชนและบุคคลในการรับทราบข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจง ก่อนการดำเนินการที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต จึงรับฟังได้ว่า รฟท. มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกระทรวงคมนาคม ให้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกร้อง) นำความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองแซงเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างโครงการแบบทางรถไฟยกระดับ มาประกอบการพิจารณารูปแบบการก่อสร้างโครงการช่วงพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี โดยให้จัดประชุมรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการอิสระในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านวิศวกรรมโยธา ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านชุมชน อย่างรอบด้าน รวมถึงให้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนในพื้นที่ในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้แล้วเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และ สนข. จัดให้มีการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และมีการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดจากการดำเนินการ รวมทั้งจัดให้มีมาตรฐานการดำเนินงานและช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) และให้นำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ไปใช้ประกอบการทบทวนกระบวนการดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมจากประชาชนในโครงการอื่น ทั้งที่อยู่ระหว่างดำเนินการและโครงการอื่นในอนาคต เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนอย่างแท้จริงโดยให้คำนึงรวมถึงหลักการพื้นฐานของการจัดการการมีส่วนร่วมของประชาชนตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts