วันพุธ, ธันวาคม 18, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่กสม. ร่วมเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน พัฒนาศักยภาพด้านการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ รองรับกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM)

Related Posts

กสม. ร่วมเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน พัฒนาศักยภาพด้านการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ รองรับกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM)

นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ที่ไทยเพิ่งให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 มาอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายที่จะยกระดับมาตรฐานการทำหน้าที่ด้านการตรวจเยี่ยมเชิงป้องกันสถานที่ควบคุมตัวที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำทรมาน โดยได้จัดตั้งกลุ่มงานตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวและการป้องกันการทรมาน ภายใต้สำนักรับเรื่องร้องเรียนและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นการเฉพาะ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism) หรือ NPM ที่สามารถตรวจสอบและเข้าถึงสถานที่ควบคุมตัวของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอิสระ และสม่ำเสมอ ซึ่งกลไกนี้จะเกิดขึ้นได้หากไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) โดย กสม. มีข้อเสนอแนะสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยมีกลไกคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ถูกควบคุมในสถานที่ควบคุมตัวหรือสถานที่ลิดรอนเสรีภาพของรัฐจากการถูกกระทำทรมานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมร่วมกับทุกภาคส่วนของไทยในการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี OPCAT เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 กสม. โดยนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เข้าร่วมในเวทีหารือระดับชาติว่าด้วยการเข้าเป็นภาคี OPCAT ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยได้ยืนยันการสนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นภาคี OPCAT และความพร้อมในการทำหน้าที่ตามกลไก NPM หากไทยเข้าเป็นภาคี OPCAT และ กสม. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าว

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ในการทำหน้าที่ตรวจสอบและเข้าถึงสถานที่ควบคุมตัวของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการตรวจเยี่ยมตามหลัก OPCAT ซึ่งเน้นการป้องกันด้วยกระบวนการหารืออย่างสร้างสรรค์กับหน่วยงานที่มีสถานที่ในการคุมขังบุคคล ระหว่างวันที่ 13 – 18 ธันวาคม 2567 นี้ กสม. จึงร่วมกับเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APF) และสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT) จัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านการตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพและสถานที่ควบคุมตัวบุคคล (NHRCT Capacity Building Week 2024) โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐที่มีสถานที่ควบคุมตัว เช่น เรือนจำ สถานีตำรวจ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ของ APF และ APT รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. โดยผู้แทนจากหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ จะได้หารือและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันเกี่ยวกับเครื่องมือ วิธีการ และมาตรฐานการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว เพื่อยกระดับมาตรฐานสถานที่ควบคุมตัวของรัฐให้สอดคล้องตามหลักกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีหรือจะเข้าเป็นภาคีต่อไป โดยจะมีการศึกษาดูงาน ณ เรือนจำกลางพิษณุโลก และสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ด้วย

“นอกจาก กสม. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อผลักดันและเตรียมความพร้อมให้ไทยเข้าเป็นภาคี OPCAT และรองรับกลไก NPM ที่ทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐแล้ว กสม. ยังจะเดินหน้าส่งเสริมให้เรือนจำพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักทัณฑวิทยาและมาตรฐานที่กำหนดตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานการตรวจประเมินของกรมราชทัณฑ์ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติงาน พร้อมกันนี้จะร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ขับเคลื่อนการปฏิบัติตามแผนพัฒนาสถานีตำรวจ พ.ศ. 2568 – 2570 ที่จัดทำโดยคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงาน กสม. กับ ตร. โดยจะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีตำรวจในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป” นางสาวปิติกาญจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา กสม. ได้ตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพเพื่อติดตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ รวม 13 แห่ง ประกอบด้วย เรือนจำ สถานีตำรวจ สถานบำบัดยาเสพติด ในหลายภูมิภาค โดยการตรวจเยี่ยมเป็นไปในลักษณะที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจกับฝ่ายบริหาร มีการสำรวจสถานที่ควบคุมตัว การสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง ญาติผู้ต้องขัง และเจ้าหน้าที่เรือนจำโดยลับ และมีการตรวจดูบันทึกและเอกสารที่เกี่ยวกับการรับผู้ต้องขังไว้ควบคุมตัว สุขภาพ วินัย เรื่องร้องเรียน การใช้กำลัง เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงหรือการทำร้ายตนเอง โดยให้ความสำคัญกับประเด็นเฉพาะของกลุ่มเปราะบางที่ถูกคุมขังด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts