ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิล ปี 2568 ยังคงเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคง จากสัดส่วนรายได้ราว 80% ที่เป็นการทำสัญญาขายระยะยาวกับภาครัฐ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งจะได้รับตามสัญญา แม้จะไม่มีการผลิตไฟฟ้าส่งเข้าโครงข่ายภาครัฐ และค่าไฟฐานกับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่กำหนดโดยภาครัฐ ซึ่งเป็นรายได้ต่อหน่วยไฟฟ้า ที่จะได้รับเมื่อมีการผลิตและขายไฟฟ้า
ในขณะที่สัดส่วนรายได้อีกราว 20% เป็นการขายให้ผู้ประกอบการ ในนิคมอุตสาหกรรม โดยจะทำสัญญาซื้อขายกันโดยตรง และมักอ้างอิงราคาค่าไฟของภาครัฐ ในการทำสัญญาซื้อขาย ทั้งนี้ ธุรกิจยังคงมีทิศทางเติบโตจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น แม้จะชะลอลงจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิล ในระยะกลางถึงยาว คือ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (ร่าง PDP 2024) มีเป้าหมายลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า แรงกดดันจากกระแสรักษ์โลกและการพัฒนาของเทคโนโลยี ส่งผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัวสู่พลังงานทางเลือกใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม มีแนวโน้มหันมาใช้ไฟฟ้าสะอาดมากขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ. Climate Change และกฎระเบียบการค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดมากขึ้น รวมถึงอุปทานก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้า LNG ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า