การทำข้อตกลงระหว่างอินโดนีเซียกับจีน ในน่านน้ำเชิงยุทธศาสตร์ “ทะเลจีนใต้” โดยระบุว่าทั้งสองประเทศได้ “บรรลุความเข้าใจร่วมกัน ในการร่วมพัฒนาพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อน” แสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาเรื้อรังนี้ สามารถหาทางออกด้วยการเจรจาแบบ “สันติวิธี”
กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ข้อตกลงดังกล่าว ชี้แจงฉันทมติทางการเมืองและทิศทางความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย ในการพัฒนาร่วม ในพื้นที่ทางทะเล ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างสองประเทศ อินโดนีเซียและจีน จะศึกษาประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น เนื้อหาและรูปแบบความร่วมมือ พร้อมระบุว่า การอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ และฉันทมตินี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ยืนกรานว่า ประเทศอินโดนีเซีย ไม่ใช่รัฐที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ และไม่มีเขตอำนาจทับซ้อนกับจีน จุดยืนของอินโดนีเซียไม่เปลี่ยนแปลง และข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิอธิปไตยของชาติ
ทะเลจีนใต้ ถูกบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่มีมากว่า 2,000 ปี โดยจีนใช้หลักฐานว่า นักเดินเรือจีนเคยสำรวจ และตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้มายาวนาน และในสมัยราชวงศ์หมิง ก็มีการเดินทางของเจิ้งเหอ แสดงถึงบทบาทของจีนในทะเลจีนใต้ โดยจีนใช้การเดินเรือของเจิ้งเหอ เป็นหลักฐานในการสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมกิจกรรมทางทะเล ที่มีมาแต่โบราณ โดยพรรคก๊กมินตั๋ง ใช้หลัก “เส้นประ 11 เส้น” ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ปรับเป็น “เส้นประ 9 เส้น” ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้
อย่างไรก็ตาม คู่พิพาทของจีน เช่น ฟิลิปปินส์ กลับมีพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซง ด้วยการกล่าวอ้างว่า ทะเลจีนใต้คือน่านน้ำสากล อย่างไรก็ตาม ในฐานะมหาอำนาจโลกตะวันออก จีนยังเชื่อว่าการเจรจา คือทางออกที่คุ้มค่ากว่าการเผชิญหน้าด้วยกำลังทหาร จึงเสนอผลประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกับประเทศคู่พิพาท เพื่อลดระดับความขัดแย้ง
รัฐบาลจีนได้แสดงออกถึงความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ด้วยสันติวิธี โดยได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยไมตรีจิตและความร่วมมือของอาเซียน (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ในปี พ.ศ. 2533 มีสาระสำคัญ คือ การให้รัฐที่มีข้อพิพาทกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างสันติวิธี การที่รัฐบาลจีน ยินยอมลงนามในสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว เท่ากับว่าจีนยอมรับในหลักการที่จะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ข้อพิพาทใด ๆ กับประเทศในอาเซียน ซึ่งย่อมครอบคลุมถึงกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ด้วย
อีกหนึ่งกรณีคือ การร่วมลงนามในร่างแนวปฏิญญา DoC ระหว่างอาเซียนกับจีน ที่กำาหนดให้ทั้ง 2 ฝ่าย อดทนอดกลั้นต่อการใช้ความรุนแรง หลีกเลี่ยงการกระทำาอันเป็นการยั่วยุระหว่างกัน แม้ปฏิญญา DoC จะไม่มีผลผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ยังแสดงเจตนารมณ์ ให้อาเซียนเข้ามาร่วมแก้ปัญหานี้ในรูปแบบ “พหุภาคี”