วันศุกร์, มกราคม 10, 2025
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. ชี้หน่วยงานของรัฐละเลยให้เอกชนรุกล้ำคลองสาธารณะและที่สาธารณประโยชน์ของชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต แนะตรวจสอบการออกโฉนด และประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม

Related Posts

กสม. ชี้หน่วยงานของรัฐละเลยให้เอกชนรุกล้ำคลองสาธารณะและที่สาธารณประโยชน์ของชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต แนะตรวจสอบการออกโฉนด และประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม

นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลราไวย์และสมาชิกเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ตเมื่อเดือนกันยายน 2565 และเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ระบุว่า มีการรุกล้ำถมคลองสาธารณะ ซึ่งชาวเลราไวย์เรียกว่า “คลองหลาโอน” เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นเหตุให้น้ำท่วมขังชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยให้เอกชนหาประโยชน์จากพื้นที่หน้าชุมชน ซึ่งเป็นลานคอนกรีตสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยหน่วยงานของรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต (ผู้ถูกร้องทั้งห้า) ปล่อยปละละเลย จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 70 กำหนดให้รัฐพึงมีแนวนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข โดยไม่ถูกรบกวน อีกทั้ง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีมาตรการสำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาวิถีชีวิตชาวเล โดยคำนึงถึงความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ สาธารณสุข สิทธิสถานะบุคคล ภาษา และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงการแก้ไขปัญหาอคติทางชาติพันธุ์

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่า กรณีการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่หน้าชุมชนชาวเลราไวย์นั้น เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีความผูกพันกับวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวเลราไวย์มาอย่างยาวนาน ต่อมา เอกชนฟ้องขับไล่ชาวเล ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กลุ่มชาวเลราไวย์ชนะคดี เอกชนไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ชาวเลราไวย์ และเห็นว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้เอกชนดังกล่าวอ้างเอกสารสิทธิในที่ดินและเข้าไปเรียกเก็บค่าเช่าบริการ บนลานคอนกรีตที่ก่อสร้างโดยงบประมาณของภาครัฐ จึงเป็นไปโดยไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ดี ชาวเลราไวย์ ได้ร่วมกันยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองภูเก็ต

กรณีลานคอนกรีตซึ่งใช้งบประมาณของรัฐในการก่อสร้าง แต่ละเลยให้เอกชนแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบนี้ อาจมีการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่น จึงเห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ส่วนกรณีการรุกล้ำคลองหลาโอน ปรากฏข้อเท็จจริงหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2510 ว่า คลองหลาโอนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชนชาวเลราไวย์ เป็นทางโค้งตามแนวชายฝั่งทะเล ความยาวประมาณ 400 เมตร และไหลลงสู่ทะเล ปัจจุบัน คลองหลาโอนส่วนต้นไม่ปรากฏสภาพความเป็นคลองแล้ว และปรากฏเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิของเอกชน ที่ผ่านมาชาวเลราไวย์ร้องเรียนเรื่องการรุกล้ำคลองหลาโอนและเรียกร้องให้มีป้องกันและดูแลรักษาคลองหลาโอนมาตลอด และเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ยังปรากฏกรณีที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งกระทำการที่เข้าลักษณะการรุกล้ำคลองหลาโอนส่วนปลาย โดยเทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ละเลยให้มีการถมทำลายคลอง รวมทั้ง สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ไม่ใช้ความละเอียดอ่อนและตระหนักถึงสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ส่งผลให้เกิดการออกโฉนดที่ดินทับคลองหลาโอนส่วนต้น ดังนั้น การกระทำของหน่วยงานข้างต้น จึงเป็นการละเลยหน้าที่ของรัฐต่อสิทธิชุมชน ส่งผลให้เกิดการทำลายและทำให้สูญหายซึ่งพื้นที่ทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมทั้ง กระทบต่อหลักการและมาตรการของเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับกรณีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ชุมชนชาวเลราไวย์ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชนเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นชุมชนแออัดและบ้านเรือนอยู่ติดกันอย่างแน่นขนัด และไม่มีทางระบายน้ำออกสู่ทะเล ปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียในชุมชนจึงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพอนามัยของประชาชน แม้เทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต และจังหวัดภูเก็ต จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาแล้ว แต่มาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม กรณีจึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ของรัฐในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนและทำให้ประชาชนไม่อาจบรรลุถึงสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กรมที่ดิน หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งห้า ได้แก่ เทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต และสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการออกโฉนดที่ดินทับคลองหลาโอนส่วนต้น ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน และการคำนึงถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม หากพบว่า มีการออกโฉนดที่ดินทับคลองหลาโอนส่วนต้น ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินในส่วนดังกล่าว และให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเอกชนรุกล้ำคลองหลาโอนส่วนปลาย หากพบว่ามีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งให้มีมาตรการสำหรับการเยียวยาคืนสู่สภาพเดิมและการป้องกันการรุกล้ำคลองหลาโอนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ให้เทศบาลตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ร่วมกันกำหนดมาตรการสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชนชาวเลราไวย์ โดยให้มีระบบการจัดการน้ำและการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ชุมชนชาวเลราไวย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน รวมทั้งให้นำข้อมูลตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม. ที่ 470/2550 ลงวันที่ 21 กันยายน 2550 ข้อมูลตามคำพิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต คดีหมายเลขแดงที่ 1084 – 1098/2561 ลงวันที่ 24 มกราคม 2562 ที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นมาและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเลราไวย์ ซึ่งอยู่มาก่อนการครอบครองที่ดินของเอกชน และข้อมูลตามรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการดังกล่าว

ให้หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งห้าและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการสำหรับการเยียวยา ฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาคลองหลาโอนให้เป็นพื้นที่สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและเป็นพื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนชาวเลราไวย์ กำหนดมาตรการสำหรับการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เอกชนผู้ครอบครองที่ดินใกล้กับชุมชนชาวเลราไวย์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

และให้หน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งห้า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการสำหรับฟื้นฟู อนุรักษ์ และส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงามของชุมชนชาวเลราไวย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง การประกาศให้ชุมชนชาวเลราไวย์เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts