“…ปปง. แถลงผลยึดและอายัดทรัพย์สิน ทนายตั้ม กับพวก เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชี รวมมูลค่าประมาณ 71 ล้านบาท พร้อมมีมติให้เพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์ 29 ล้านบาท คดี “ดิไอคอน กรุ๊ป” เนื่องจากมีหลักฐานชี้แจง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด…”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 นายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. และโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมซึ่งมี นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. เป็นกรรมการและเลขานุการ ในช่วงเดือนธันวาคม 2567- เดือนมกราคม 2568 โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ การพนันออนไลน์
ซึ่งสรุปผลการดำเนินการได้ ดังนี้
(1) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 15 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 510 ล้านบาท แบ่งเป็นการยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 8 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 507 ล้านบาท และดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 7 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท
โดยมีรายคดีที่น่าสนใจ คือ รายคดี นางสาวสุรีวรรณฯ กับพวก ซึ่งผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์มีพฤติการณ์โอนและรับโอนเงินเชื่อมโยงกับความผิดมูลฐานในคดีอื่นหลายคดี และเป็นเครือข่ายการฟอกเงินรายสำคัญ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 125 รายการ เป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่าประมาณ 505 ล้านบาท (คำสั่ง ย.249/2567)
(2) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 15 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 6,529 ล้านบาท โดยมีการดำเนินการที่น่าสนใจ คือ
2.1 การยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 5 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 329 ล้านบาท โดยมีรายคดี ที่น่าสนใจ ดังนี้
รายคดี นายษิทราฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันมีลักษณะ เป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีเหตุที่อันควรเชื่อได้ว่ามีการโอน ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทำความผิด จำนวน 3 รายการ เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่าประมาณ 71 ล้านบาท (คำสั่ง ย.243/2567)
รายคดี นางสาวเจียนฯ กับพวก (สัญชาติจีน) คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่ง ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว 59 รายการ มูลค่าประมาณ 27 ล้านบาท (ย.168/2567) และจากการสืบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม ในการนี้คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวน 7 รายการ (ห้องชุด และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 78 ล้านบาท (คำสั่ง ย.241/2567)
รายคดี นางสาวเดือนนภาฯ กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้วรวม 118 รายการ มูลค่าประมาณ 574 ล้านบาท (ย.254/2566, ย.94/2567) และจากการสืบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม ในการนี้คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่ง ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวน 4 รายการ (ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง) รวมมูลค่าประมาณ 95 ล้านบาท (คำสั่ง ย.250/2567)
รายคดี นายภานุวัชรฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 22 รายการ (ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 81 ล้านบาท (คำสั่ง ย.244/2567)
2.2 ดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็น ของแผ่นดินจำนวน 2 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท
โดยมีข้อมูลการดำเนินการกับทรัพย์สิน ที่น่าสนใจ ดังนี้
รายคดี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามคำสั่งที่ ย.214/2567, ย. 222/2567, ย.223/2567, ย.224/2567 และ ย.225/2567 รวมจำนวน 103 รายการ มูลค่าประมาณ 286 ล้านบาท
และมีมติให้เพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์สินจำนวน 40 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 29 ล้านบาท เนื่องจากผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงหลักฐานว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกดำเนินการไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
รายคดี นายสฤษฎ์ฯ กับพวก กรณีเกี่ยวเนื่องกับบริษัทเหลียนเชิง จำกัด คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องของให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 130 รายการ (คำสั่ง ย. 193/2567) ซึ่งมีทรัพย์สินที่เป็นโครงการก่อสร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่ รวมมูลค่าประมาณ 2,552 ล้าน
ทั้งนี้ ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีที่มีผู้เสียหายฯ สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้น สำนักงาน ปปง. จะตรวจสอบและรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายและจำนวนความเสียหายเพื่อพิจารณาก่อนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนให้กับผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไชต์ สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th)
2.3 ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 8 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 3,400 ล้านบาท โดยมีข้อมูล การดำเนินการกับทรัพย์สินที่น่าสนใจ ดังนี้
รายคดี นางสาวรัชญาฯ กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (กรณีคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) ซึ่งเป็นการดำเนินการกับทรัพย์สิน จำนวน 303 รายการ (เช่น ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ เงินสด สินค้าแบรนด์เนม และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาท(คำสั่ง ย. 142/2567)
รายคดี นายชนินทร์ฯ กับพวก (กรณีหุ้น STARK) ซึ่งเป็นความผิดมูฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และการยักยอกฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งการดำเนินการกับทรัพย์สินในกรณีนี้อยู่ระหว่าง การพิจารณาของศาลแพ่ง โดยสำนักงาน ปปง. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการ คุ้มครองสิทธิฯ เสร็จสิ้นแล้ว และคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่น คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายกว่า 3,900 ราย) ซึ่งเป็นการดำเนินการกับทรัพย์สิน จำนวน 50 รายการ (เช่น ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 3,244 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 222/2566 และ ย. 32/67)
(3) ความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการกับทรัพย์สินจำนวน 10 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 158 ล้านบาท แบ่งเป็นการยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 5 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 104 ล้านบาท และดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 5 รายคดี รวมมูลค่ากว่า 54 ล้านบาท
โดยมีรายคดีที่น่าสนใจ ดังนี้
รายคดี sand168.com กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการพนัน ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยจากการสืบสวนพบว่ามีการชักชวน ให้บุคคลทั่วไปเล่นพนันออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว และจากการตรวจสอบพบข้อมูลการโอนและรับโอนเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 742 รายการ (เช่น เงินสด ทองรูปพรรณ วัตถุมงคล สินค้าแบรนด์เนม และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท (คำสั่ง ย.7/2568)
รายคดี ufav8.info รายนายปรเมศวร์ฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนัน ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 72 รายการ (เช่น พระเครื่อง เครื่องประดับ สินค้าแบรนด์เนม รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์) มูลค่าประมาณ 24 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 238/2567)
รายคดี นางสาวจันจิราฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่อง ให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 164 รายการ (เช่น เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์) มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท (ย.230/2567)