วันจันทร์, มกราคม 27, 2025
หน้าแรกคอลัมนิสต์วัชระ เพชรทองตะลึง! กทม.และปริมณฑลมีโรงงานระบายฝุ่นพิษมากถึง 1,522 แห่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ตอบปัญหา “วัชระ”

Related Posts

ตะลึง! กทม.และปริมณฑลมีโรงงานระบายฝุ่นพิษมากถึง 1,522 แห่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ตอบปัญหา “วัชระ”

“…อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจง ดำเนินแผนควบคุมปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทุกวิถีทางแล้ว ถึง 6 มาตรการ เผย กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีแผนตรวจโรงงานที่มีการระบายฝุ่น 2,472 โรงงาน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2567 ถึง กุมภาพันธ์ 2568 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (1,522 โรงงาน) และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (950 โรงงาน)…”

จากกรณีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร้องเรียนต่อนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ขอให้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือปัญหา PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยโดยเร็วที่สุดนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา นายวัชระ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า อธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้มีหนังสือชี้แจงต่อนายวัชระ ความว่า

ตามหนังสือที่อ้างถึง นายวัชระ เพชรทอง ได้ขอให้กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดำเนินการควบคุมป้องกันแก้ไขภาวะมลพิษและคุณภาพอากาศที่ไม่ได้มาตรฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เนื่องจากฝุ่นละออก PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนอย่างร้ายแรง

ในการนี้ กรมควบคุมมลพิษ ขอเรียนว่า ได้จัดทำเอกสารข้อมูลการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเสร็จเรียบร้อยแล้ว รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ดังนี้

การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการจัดทำมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ซึ่งยกระดับการปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละออง PM2.5 จากปี 2567 โดยการควบคุมพื้นที่เกษตรมุ่งเป้ากลุ่มป่าแปลงใหญ่ เพื่อยกระดับการปฏิบัติการแบบไร้รอยต่อข้ามเขตป่าและเขตปกครอง บริหารไฟในพื้นที่เกษตรช่วงการเก็บเกี่ยว การใช้ระบบการลงทะเบียนมีงบประมาณที่ยืดหยุ่น สื่อสารรวดเร็ว มีตัวชี้วัดที่คำนึงถึงผลกระทบของประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 มีมติเห็นชอบมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ประกอบด้วย

1) ระยะเตรียมการ จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา Risk Map แผนปฏิบัติการจัดการไฟป่าตามห้วงเวลา แผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ข้อมูลพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเลี่ยงเผา และข้อมูลเกษตรกรรายจังหวัด

2) การจัดการไฟในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ทำประโยชน์อื่นในพื้นที่ป่าโดยตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ชุดดับไฟป่า บริหารจัดการเชื้อเพลิง ประกาศจำกัดการเข้าพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนโดยไม่เผา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินของรัฐและมุ่งเน้นการเปลี่ยน การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชแบบผสมผสาน

3) การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร โดยประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ไฟและบริหารจัดการไฟในพื้นที่เกษตรเท่าที่จำเป็นและมีการควบคุม ควบคุมอ้อยไฟไหมเข้าโรงงาน หากฝ่าฝืนถูกบังคับใช้กฎหมาย ตัดสิทธิความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ใช้สิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ ส.ป.ก./นิคมสหกรณ์กับเกษตรกร ที่ไม่ร่วมมือ รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรปรับรูปแบการผลิต และออกมาตรการสิทธิและประโยชน์ให้เกษตรกรที่ไม่เผา

4) การควบคุมฝุ่นละออกในเขตเมือง ออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเขตเมืองช่วงวิกฤต สนับสนุนการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ มีนโยบายปรับลดอัตราค่าโดยสารในช่วงวิกฤต เร่งรัดเปลี่ยนรถ ขสมก. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจจับรถยนต์ควันดำ รถบรรทุก พื้นที่ก่อสร้าง ผู้ทำผิดวินัยจราจร โดยปรับสูงสุด ตรวจบังบังใช้กฎหมายโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบกิจการอย่างเข้มงวด ควบคุม/จับกุมผู้ลักลอบเผาในเขตชุมชนและริมทาง

5) การจัดการหมอกควันข้ามแดน ส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา จัดการหารือระดับรัฐมนตรีก่อนเริ่มต้นฤดูหมอกควัน ตั้งศูนย์ข้อมูลและศูนย์บัญชาการเฝ้าระวัง ควบคุมและดับไฟในประเทศเพื่อนบ้าน

6) การบริการจัดการภาพรวม เร่งรัดการของบกลางสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์กับภาคเอกชน ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฝุ่นละออง PM2.5 มีนโยบายการ Work From Home ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด พื้นที่เสี่ยงและช่วงเวลาวิกฤต

กลไกการบริหารจัดการของมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 มี 3 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับชาติ โดยคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นประธานทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ควบคุม กำกับ เร่งรัด ติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (2) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคโดยมีแม่ทัพภาคเป็นประธานทำหน้าที่อำนวยการและบูรณาการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและดับไฟ โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด และ (3) ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานทำหน้าที่อำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง การตรวจสอบ กำกับ ควบคุมการประกอบกิจการ กิจกรรมที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 421/2567 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ

ผลการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ณ ปัจจุบัน โดยกลไกคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ โดยกรมควบคุมมลพิษ เป็นฝ่ายเลขานุการ ได้ดำเนินการดังนี้

1 ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองรายจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการในการป้องกันและควบคุมไฟป่า การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร และการปฏิบัติงานในพื้นที่ของจังหวัด รวมจำนวน 19 โครงการ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 โครงการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 4 โครงการ และจังหวัด (4 จังหวัด) จำนวน 13 โครงการ ขณะนี้ งบกลางของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 โครงการ อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ สำหรับโครงการอื่นอยู่ระหว่างให้สำนักงบประมาณพิจารณา

2.การดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้
2.1 งดซื้ออ้อยไฟไหม้

– กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการ ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด ตรวจสอบโรงงานน้ำตาลให้ระบาย PM 2.5 เป็นไปตามกฎหมายกำหนด และตรวจสอบไม่ให้โรงงานรับซื้ออ้อยไฟไหม้ และขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลหยุดรับอ้อย (ปิดหีบ) ให้ช่วงเวลาที่คาดว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองวิกฤต

2.2 เข้มงวดการเผาป่า-พื้นที่เกษตร
– กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการในพื้นที่ป่า โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า ตั้งจุดเฝ้าระวังไฟในพื้นที่ป่า และบริหารจัดการเชื้อเพลิง (ชิงเผา)
– กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการในพื้นที่เกษตร โดย จัดการเศษวัสดุการเกษตรจากนาข้าว และข้าวโพด ให้เข้าสู่ระบบบริหารจัดการการเผา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เครื่องจักรเข้าไม่ถึงและพิจารณาตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือหรือการชดเชยจากรัฐ หากพบมีการเผาในเขตปฏิรูปที่ดินและนิคมสหกรณ์หรือในพื้นที่เกษตรทั่วไป หากมีการเผาตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือหรือชดเชยจากภาครัฐ

2.3 การบังคับใช้กฎหมายกับผู้เผา
– กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินคดีกับผู้เผาป่า ด้วยกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ ในพื้นที่ป่า

2.4 ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผ่านการเผา
– กระทรวงพาณิชย์ กำลังพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น GATT ATIGA รวมถึงความเท่าเทียม ประเทศไทยต้องปฏิบัติต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศ ไม่ด้อยกว่าสินค้านำเข้าและพิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับการเผา แทนมาตรการห้ามนำเข้า

2.5 ห้ามนำยานพาหนะควันดำ
– กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดเขต Low Emission Zone โดยห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้ากรุงเทพมหานคร บริเวณชั้นใน เว้นแต่รถที่ลงทะเบียน Green List รถ EV, NGV, EURO 5/6
– กรุงเทพมหานครและกรมการขนส่งทางบก ดำเนินการตรวจสอบ/ตรวจจับควันดำรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง และที่อู่จอดรถโดยสารหากพบรถควันดำเกินมาตรฐานจะระงับการใช้รถจนกว่าจะปรับปรุง และเข้มงวดกับ ตรอ. รวมทั้งให้ประชาชนที่พบรถควันดำให้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมายังแอปพลิเคชัน TRAFFY FONDUE สายด่วน 1584 Line ID : 1584DLT และ สายด่วน 1650 (กรมควบคุมมลพิษ)
– กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร และกรุงเทพมหานคร มีการจัดทำแผนกานร่วมตรวจสอบ ตรวจจับรถควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด 35 จังหวัด กับทุกจังหวัดมาตั้งแต่เดือนตุลาคมตรวจสอบรถยนต์ รวมทั้งสิ้น 51,227 คัน พบควันดำเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จำนวน 649 คัน หากเจ้าของรถยนต์ยังไม่ดำเนินการแก้ไขหรือนำมายกเลิกคำสั่งฯ ภายในระยะเวลา 30 วัน กรมควบคุมมลพิษ มีมาตรการในการติดตาม โดยทำหนังสือถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์เพื่อแสดงหลักฐานการยกเลิกฯ หากพบว่ายังไม่ได้ยกเลิกคำสั่งฯ จะดำเนินการปรับเป็นพินัยกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะของพนักงานเจ้าหน้าที่ ค่าปรับไม่เกินห้าพันบาทตามมาตรา 102 แห่ง พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ต่อไป

2.6 ควบคุมฝุ่นในพื้นที่ก่อสร้าง-โรงงาน
– กรุงเทพมหานคร ตรวจสถานปรกอบการ/โรงงาน แพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง ท่าทราย
– กรมโยธาธิการและผังเมือง มีกฎระเบียบในการควบคุมอาคารที่จะทำการก่อสร้าง
– กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีแผนตรวจโรงงานที่มีการระบายฝุ่น 2,472 โรงงาน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2567 ถึง กุมภาพันธ์ 2568 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (1,522 โรงงาน) และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (950 โรงงาน)

ด้านนายวัชระ กล่าวว่า ขอขอบคุณนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษที่ได้ตอบแผนการแก้ไขฝุ่นพิษให้ทราบโดยเร็ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของหลายกระทรวงเกี่ยวข้องกัน รัฐบาลต้องรับผิดขอบชีวิตของประชาชนมากกว่านี้ ที่น่าตกใจที่สุดคือมีโรงงานปล่อยฝุ่นพิษอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลมากถึง 1,522 แห่ง ทำไมกระทรวงอุตสาหกรรมไม่สั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษทุกแห่ง ในขณะประเทศอื่นเขาสั่งปิดโรงงานทันที

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts