วันพุธ, กุมภาพันธ์ 19, 2025
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 วางท่อส่งน้ำรุกล้ำที่ดินมีโฉนดของชาวบ้านในพื้นที่ อ. เกาะคา จ. ลำปาง

Related Posts

กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 วางท่อส่งน้ำรุกล้ำที่ดินมีโฉนดของชาวบ้านในพื้นที่ อ. เกาะคา จ. ลำปาง

2.กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 วางท่อส่งน้ำรุกล้ำที่ดินมีโฉนดของชาวบ้านในพื้นที่ อ. เกาะคา จ. ลำปาง แนะหน่วยงานระมัดระวังการดำเนินการและเยียวยาอย่างเป็นธรรม

นายจุมพล ขุนอ่อน ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ระบุว่า ตนและประชาชนรวม 9 ราย ได้รับความเสียหายจากการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ลำน้ำแม่ยาว สนับสนุนการเกษตรแปลงใหญ่ หมู่ที่ 1 2 3 4 10 11 ตำบลเกาะคา ตำบลท่าผา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ของสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 กรมทรัพยากรน้ำ ผู้ถูกร้อง ซึ่งมีการวางท่อส่งน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินมีโฉนดของประชาชนหลายรายโดยไม่ได้รับความยินยอม จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโดยพิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า โครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนเงินงบประมาณจากกรมทรัพยากรน้ำ โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเหตุอันเป็นที่มาของข้อพิพาทตามเรื่องร้องเรียน เกิดจากปัญหาการกำหนดแนวเขตการวางท่อส่งน้ำของโครงการฯ ซึ่งจากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 ได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์กำหนดแนวเขตที่จะใช้วางท่อส่งน้ำของโครงการฯ แล้ว ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2567 เทศบาลตำบลท่าผามีหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 ขอให้พิจารณาเพิ่มความยาวท่อส่งน้ำและจุดปล่อยน้ำ และขอให้ปรับย้ายแนวท่อส่งน้ำออกจากบริเวณถนนคอนกรีตเสริมเหล็กช่วงหนึ่ง เนื่องจากมีรางระบายน้ำซึ่งใช้อยู่เดิมฝังอยู่ใต้ถนน สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 จึงได้ย้ายตำแหน่งการวางท่อส่งน้ำไปก่อสร้างชิดไหล่ถนนด้านล่างซึ่งติดกับพื้นที่ทางการเกษตรของผู้ร้องและประชาชนเจ้าของที่ดิน ทั้ง 9 ราย อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ได้มีการประชาพิจารณ์ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ดังนั้นการย้ายและวางท่อส่งน้ำตามโครงการฯ ช่วงที่เป็นข้อพิพาท จึงกระทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องและประชาชนเจ้าของที่ดินทั้ง 9 ราย

กรณีตามคำร้องยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การวางท่อส่งน้ำตามโครงการฯ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้ร้องและประชาชนเจ้าของที่ดิน ทั้ง 9 ราย หรือไม่ เห็นว่า ก่อนสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 จะปรับย้ายตำแหน่งการวางท่อส่งน้ำตามคำขอของเทศบาลตำบลท่าผานั้น สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 ไม่ได้ประสานให้ผู้ร้องและประชาชนเจ้าของที่ดิน ทั้ง 9 ราย เข้าร่วมชี้ระวังแนวเขตที่ดิน ซึ่งหากใช้ความระมัดระวังตามสมควรโดยแจ้งให้เจ้าของที่ดินร่วมชี้ระวังแนวเขตหรือจัดให้มีการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินก่อนดำเนินการ ก็จะทราบได้ว่า บริเวณไหล่ถนนด้านล่างช่วงที่เป็นข้อพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดของผู้ร้องและประชาชนเจ้าของที่ดินทั้ง 9 ราย ซึ่งอยู่ในวิสัยที่หน่วยงานรัฐจะใช้ความระมัดระวังได้ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การวางท่อส่งน้ำตามโครงการฯ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้ร้องและประชาชนเจ้าของที่ดิน ทั้ง 9 ราย ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า การดำเนินโครงการฯ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 เป็นโครงการที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันจำนวนมากในอีกหลายพื้นที่ อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การจะให้รื้อถอนท่อส่งน้ำออกจากที่ดินพิพาทในทันที อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ส่วนอื่นที่ยังจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมจากโครงการดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาตามคำร้องนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 ประสานเทศบาลตำบลท่าผา ผู้ร้อง และประชาชนเจ้าของที่ดินที่ได้รับความเสียหาย เพื่อปรึกษาหารือร่วมกันกำหนดวิธีการและแนวทางแก้ไขปัญหาวางท่อส่งน้ำรุกล้ำที่ดินของผู้ร้องและประชาชน หากต้องรื้อถอนท่อส่งน้ำ ช่วงที่เป็นข้อพิพาทจะต้องทำให้ที่ดินกลับคืนสภาพเดิม รวมทั้งกำหนดค่าชดเชยจากความเสียหายดังกล่าวด้วยอัตราที่เป็นธรรม โดยจัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงที่ระบุแนวทางการดำเนินการและระยะเวลาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ก่อนที่จะรื้อถอนท่อส่งน้ำ ให้ชี้แจงข้อมูลและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่อื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการ และในระหว่างแก้ไขปัญหาอาจวางท่อส่งน้ำชั่วคราวหรือจัดหาแหล่งน้ำอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนต่อไป

(2) ให้กรมทรัพยากรน้ำ กำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานหรือโครงการในลักษณะตามคำร้องนี้ ให้ระมัดระวังการดำเนินการและต้องแจ้งให้เจ้าของที่ดิน รวมทั้งประสานสำนักงานที่ดินที่รับผิดชอบในพื้นที่ ให้เข้าร่วมระวังชี้แนวเขตหรือจัดให้มีการรังวัดที่ดิน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts