*เมื่อรถไฟอยากสังคายนาองงค์กร ตั้งคณะที่ปรึกษา คณะทำงานกลั่นกรองโครงการสารพัด
*ประกาศแผนจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการในระบบ e-Bidding ทั้งที่งานบางอย่างต้องอาศัยความเชี่ยวชาญมีผู้ผลิตน้อยราย
อะไรจะเกิดขึ้น????
เหลือบไปเห็น นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) ออกโรงชี้แจงต่อสื่อมวลชน กรณีแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาผู้ว่ารถไฟ และคณะทำงานหลายต่อหลายชุด อาทิ คณะทำงาน ศึกษาโครงการร่วมลงทุนกับเอกชน คณะทำงานศึกษาและกลั่นกรองโครงการ คณะที่ปรึกษากฎหมาย ฯลฯ
ล่าสุดยังผลักดันการนำเอาระบบ e-bidding มาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการต่างๆ ในการรถไฟ โดยหวังว่า จะเป็นการสังคายนา รูปแบบจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้กับหน่วยงาน
แม้หลายฝ่ายจะตั้งข้อสังเกต การนำเอาระบบ E-bidding มาใช้ กับการจัดซื้อจัดจ้างในทุกโครงการ อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะงานบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะทาง จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเฉพาะทาง บางโครงการมีผู้ผลิตเฉพาะทางผู้ผลิตเฉพาะด้าน ไม่อาจจะนำเอาระบบ E-bidding มาใช้ได้
แต่ก็ดูจะไม่สามารถทัดทานจุดยืนของผู้ว่ารถไฟคนนี้ได้ จนหลายฝ่ายอดคิดไม่ได้ว่า หากทุกโครงการจะต้องประมูลจัดซื้อด้วยระบบ e-bidding แล้ว กรมบัญชีกลางจะกำหนดให้จัดซื้อด้วยวิธีเจาะจง หรือวิธีคัดเลือกไปทำไมไปเพื่ออะไร ?
ยิ่งในอนาคตอันใกล้ การรถไฟยังมีแผนจะประมูลจัดซื้อหัวรถจักรไฮบริด 113 คัน วงเงิน 23,000 ล้าน ที่บอร์ดรถไฟ เพิ่งจะเคาะโต๊ะไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมาด้วยแล้ว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า จะยังคงดำเนินไปภายใต้รูปแบบ E-bidding ต่อไปจริงๆหรือ?
หลายฝ่ายเป็นกังวล ภายใต้ระบบ E-bidding ที่ยึดเอาราคาต่ำสุดเป็นเกณฑ์ มันอาจเข้าตำรา “ของถูก ของดีไม่มีในโลก”เอาได้ เพราะสิ่งที่ได้มาจะกลายเป็นหัวรถจักรดีเซลจากจีน อย่างที่การรถไฟฯจัดซื้อเข้ามาทำขบวนก่อนหน้านี้ โดยประมูลจัดซื้อหัวรถจักร 20 คัน 2,000 ล้าน ตกคันละ 100 ล้านบาท และมาซื้อรอบหลัง 50 คัน 6,200 ล้านบาท
แต่คุณภาพที่ได้เป็นอย่างไร ทุกฝ่ายต่างรู้กันอยู่ นัยว่า ทุกวันนี้มีหัวรถจักรจีนจอดตายสนิทรอการซ่อมบำรุง รอถอดอะไหลสลับสับเปลี่ยนกันเป็นทิวแถว บริการรถไฟ ที่คุยนักคุยหนาว่า ปรับปรุงสู่ยุคใหม่ทันสมัยแล้ว วันนี้ผู้คนยังเห็นว่า ก็ยังคงอยู่ในสภาพ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” ซ้ำรอยประวัติศาสตร์อยู่ดี…
หากประมูลจัดซื้อหัวรถจักไฮบริดรอบใหม่ที่บอร์ดรถไฟฯ เพิ่งเคาะโต๊ะไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะประมูล กันปลายปี 2568 นี้ ยังคงเจริญรอยตามหลักการ e-bidding ที่ผู้ว่ารถไฟยืนยัน นั่งยันว่า มันต้องไปตามครรลองนี้ิ ก็ให้คาดเดาได้ไม่ยากว่า ผลจัดซื้อที่ได้มา คงไม่พ้นจะได้หัวรถจักรไฮบริด made in china ล้านเปอร์เซ็นต์
เพราะผู้ผลิตจะพยายามลดต้นทุนการผลิตได้มาซึ่งของงานโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพเป็นหลัก สุดท้ายแล้วแม้จะได้ความโปร่งใส แต่หากได้ของไร้คุณภาพเข้ามา ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับองค์กรเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นกับหัวรถจักร CSR วันนี้ ผู้ว่าการรถไฟฯยอมเปฏิเสธความผู้รับผิดชอบไปไม่พ้นอยู่ดี
เพราะผู้ผลิตหัวรถจักรคุณภาพ จากญี่ปุ่นยุโรป เยอรมัน ฝรั่งเศส หรืออเมริกาคงไม่สามารถลงไปห้ำหั่นราคาแข่งกับสินค้าไร้คุณภาพ จากบางประเทศ ได้อย่างแน่นอน !
ก็คงต้องเตือนไปยังทั่นรองนายกฯ” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคมหน่วยงานต้นสังกัด รวมไปถึงผู้ว่ารถไฟเอาไว้ตรงนี้ ว่า แม้หลักการE-bidding ที่กรมบัญชีกลางวางเอาไว้จะเป็นเรื่องที่ดี
แต่นั่นเหมาะสมกับการประมูลจัดซื้อสินค้าและพัสดุภัณฑ์เป็นการทั่วไปอย่างเก้าอี้ ช้อน ส้อม ถ้วยโถโอชา สินค้าพัสดุภัณฑ์เป็นการทั่วไปที่ไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพเท่าไหร่
แต่กับสินค้าบางประเภท ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี เป็นการเฉพาะ และมีผู้ผลิตน้อยราย เป็นสินค้าที่ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้งานเป็นหลักนั้น จะมายึดหลักการต้องได้ “ของดีราคาถูก”เป็นสรณะ คงไม่ได้ได้
ผู้ผลิตยุโรป เยอรมัน ฝรั่งเศส พวกนี้ ไม่มีทางจะลง มาแข่งราคาแบบสินค้าแบกะดินจากบางประเทศได้แน่
ดังนั้นวิธีการคัดเลือกเพื่อให้ได้ “ของดี ราคาที่เหมาะสม”กับคุณภาพ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำให้เกิดความโปร่งใสได้ เพราะขึ้นอยู่กับงานแต่ละประเภทเป็นสำคัญ
บางงานก็เหมาะสมกับการทำแบบอีบิ้ดดิ้ง บางงานก็สมควรใช้วิธีคัดเลือกหรือเจาะจง บางงานมีเพียงยี่ห้อเดียวสิ่งเดียวที่จะซื้อจะไปใช้อีบิดดิ้งก็ดูตลกเหมือนสร้างจัดฉากละครเวทีไปเสียเปล่า
ส่วนการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะทำงานกลั่นกรองชุดต่างๆ ที่ผู้ว่ารถไฟว่าเป็นการปฏิรูป กระบวนการ บริหารจัดการสมัยใหม่ จะทำอะไรต้องรอบคอบคิดหน้าคิดหลังเป็นร้อยตลบ เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้อะไรนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่กับรถไฟใช้ได้แน่หรือ?
ลำพังเอาแค่ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงานที่คั่งค้าง อยู่ในมือ การรถไฟก็ไม่สามารถจะบริหารจัดการอะไรให้ประสบผลสำเร็จเป็นชิ้นอันได้ ดูอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่การรถไฟโม่แป้งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ผ่านมาวันนี้ กว่า 5-6 ปีเข้าไปแล้ว คืบหน้าไปถึงไหน ?
ทั้งๆที่การรถไฟ โม่แป้งเองกับมือแท้ๆ ไม่ต้องไปขออนุญาตใคร แต่ก็กลับไม่มีปัญญาจะบริหารจัดการโครงการให้มันคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมได้
เห็นแล้วก็ให้นึกไปถึงโครงการระบบทางรถไฟและถนนยกระดับโฮปเวลล์ ที่การรถไฟบอกเลิกสัญญาสัมปทานและยกเลิกโครงการไปก่อนหน้าด้วยข้ออ้างเอกชนผู้รับสัมปทานคือบริษัทโฮปเวลล์ ก่อสร้าง โครงการได้ล่าช้า เพราะดำเนินโครงการการมาตั้ง 5-6 ปี กลับมีความคืบหน้าโครงการเพียง 15-20% เท่านั้น จึงต้องยกเลิกโครงการไป
แต่พอตัวเอง ปัดฝุ่นเอาโครงการนี้กลับมาทำเองบ้าง ก็กลับไม่สามารถจะโม่แป้งดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงเป็นรูปประธรรมได้ทั้งที่ไม่ต้องไปขออนุญาตหรือชออนุมัติดำเนินการจากใครอื่น
ดังนั้น หากจะต้องส่งทุกโครงการจัดซื้อ จัดจ้าง ที่เป็นโครงการใหญ่ๆ ไปให้คณะทำงานตรวจสอบชุดต่างๆ ดำเนินการกลั่นกรองและตรวจสอบโครงการก่อนทุกกระเบียดนิ้ว
ก็ไม่รู้ว่า รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนทั้งเฟสแรก และเฟส 2 ที่จะต้องดำเนินการอีกกว่า 354 ก.ม. เพื่อจะไปเชื่อมกับรถไฟ ลาว-จีน ที่ก่อสร้างมาพร้อมกับไทย แต่กลับปาดหน้าเปิดให้บริการไปตั้งแต่ปีมะโว้ 2564 แล้วนั้น จะแล้วเสร็จได้เมื่อไหร่
กลัวแต่ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายประวัติศาสตร์นี้ จะก่อสร้างไม่ทันฉลอง 300 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีนเสียมากกว่า จริงไม่จริง!!!