ตำรวจป่าโมก แจ้งข้อกล่าวหา ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖ (ฉบับ ราษฎร์อุปถัมภ์) ที่รับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการรับและนำพาเด็กเข้าเมืองผิดกฎหมายและให้ที่พักพิง ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก พยานผู้เชี่ยวชาญยืนยัน ผอ.ทำตามกฎหมายและระเบียบกระทรวงศึกษาธิการอย่างถูกต้อง

เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ที่ผ่านมา พ.ต.ท.นิสิต นิวรณุสิต รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ได้แจ้งข้อกล่าวหา นางกัลยา ทาสม ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖ (ฉบับ ราษฎร์อุปถัมภ์) และพวกรวม ๕ คน โดยระบุว่า เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือกระทำการด้วยประการใดๆอันเป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่คนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และร่วมกันโดยรู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยมีสภาทนายความแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นทนายความให้ความช่วยเหลือ

จากกรณีที่นางกัลยา ทาสม ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖ (ฉบับ ราษฎร์อุปถัมภ์) ได้รับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย จากจังหวัดเชียงราย จำนวน ๑๒๖ คนเข้าเรียนในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖ (ฉบับ ราษฎร์อุปถัมภ์) อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ต่อมามีการร้องเรียนและแจ้งความ นำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหา
นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในกรรมการดำเนินการจัดการศึกษา แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในปี ๒๕๔๘ ตนได้ร่วมจัดทำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘ และเป็นผู้ที่จัดทำ คู่มือและแนวปฏิบัติ สำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ปี ๒๕๕๐ ของกระทรวงศึกษาธิการ

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ขอยืนยันว่าการที่ผู้อำนวยการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียนและบันทึกข้อมูลเด็กนักเรียน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย คือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ให้สถานศึกษามีหน้าที่รับเด็กทุกคนเข้าเรียนในสถานศึกษา อีกทั้งเงินอุดหนุนการศึกษาจัดให้แก่เด็กนักเรียนทุกคน แม้เป็นเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยก็ได้รับ รวมทั้งการที่ผู้ใหญ่บ้านรับรองเด็กในพื้นที่ในการปกครองเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๐ ที่ระบุว่า ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ปกครองบรรดาราษฎรที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฯปี ๒๕๔๘ เป็นกฎหมายที่รองรับมติคณะรัฐมนตรี ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่ระบุว่า ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร ซึ่งเดิมเคยจำกัดไว้ให้เฉพาะบางกลุ่ม บางระดับการศึกษา เป็นเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศสามารถเข้าเรียนได้ โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา
เป็นไปตามหลักการ Education for all เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าสู่สิทธิขั้นพื้นฐานคือการศึกษา แต่จากกรณีนี้มีเจ้าหน้าที่บางคนบิดเบือนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่า “เปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย” เป็น “ต้องเป็นบุคคลที่อาศัยในประเทศไทยมาก่อน” อันเป็นการจำกัดให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาในบางประเภทของเด็ก ซึ่งขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีที่ไม่จำกัดประเภท ดังนั้นการให้ความเห็นและตีความเองเจ้าหน้าที่บางคนจึงเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีและขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๘
ในรอบ ๒๐ ปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาได้รับเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษานับแสนคน ทั้งเด็กที่อยู่ในเมืองและเด็กที่อยู่ในบริเวณชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย
นายสุรพงษ์กล่าวว่า สำหรับข้อหานำพาคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พบว่าผอ.ไม่ได้ออกไปต่างประเทศและนำพาเด็กเหล่านี้เข้ามา แต่ไปรับเด็กเหล่านี้ในเขตดินแดนประเทศไทย จึงไม่ใช่ผู้นำพาเข้ามาจากต่างประเทศ และการนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างถูกต้องและเปิดเผย ไม่ใช่การปกปิดซ่อนเร้นเด็กเหล่านี้ให้พ้นการการจับกุม จึงไม่มีความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมือง
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การตั้งข้อกล่าวหาต่อผอ.ที่รับนักเรียนเข้าเรียน อาจสร้างความหวั่นไหวให้กับครูอาจารย์และสถานศึกษาจำนวนมากที่รับเด็กเหล่านี้เข้าเรียนตามกฎหมาย ซึ่งตนอยากให้กำลังใจบุคลากรทางการศึกษาที่ทำหน้าที่ของตน โดยยึดประโยชน์ทางการศึกษาของเด็กเป็นสำคัญ กรณีนี้หวังว่าทางอัยการจะไม่สั่งฟ้องเพราะไม่มีความผิดตามกฎหมาย ในทางตรงกันข้ามผอ.และพวกต้องได้รับการชื่นชมที่ทำหน้าที่ทางการศึกษาแก่กลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสเหล่านี้