“…แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับ พันตำรวจเอก แพทย์หญิง ณปภัช ณัฏฐสุมน นายแพทย์ (สบ.5) หัวหน้ากลุ่มงานตรวจพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับบุคคล สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรฯ คดีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 เกี่ยวกับการเป็นแพทย์ ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ โดยยังคงย้ำว่า บาดแผลทางยาวขาข้างขวาของแตงโม ไม่ได้เกิดจากใบพัดเรือ แต่แพทย์กลับลงความเห็นว่า เกิดจากใบพัดเรือ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริง…”
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00น. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหลักฐานแจ้งความเอาผิด แพทย์นิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ที่ร่วมชันสูตรฯ คดีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม “ชี้”เข้าข่ายเป็นการกระทำที่มีการลงนามรับรองเอกสารราชการอันเป็นเท็จ
นายอัจฉริยะ เรื่องรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้าพบพลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. เพื่อแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับ พันตำรวจเอก แพทย์หญิง ณปภัช ณัฏฐสุมน นายแพทย์ (สบ.5) หัวหน้ากลุ่มงานตรวจพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับบุคคล สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรฯ คดีการเสียชีวิตของนางสาวภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 335 (6) ผู้ใดลักทรัพย์โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและความผิดตามประมวลกฏหมายอาญาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 161 ที่ระบุเกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร ฯ กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น และมาตรา 162 (1)
ที่ระบุว่า เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐาน อันเป็นความเท็จ
และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 และมาตรา 265 ที่เกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารราชการ รวมทั้ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 เกี่ยวกับการเป็นแพทย์ ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จ
นายอัจฉริยะ เปิดเผยว่า วันนี้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเฉพาะกลุ่มแพทย์และพวก ส่วนจะมีกี่คนขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวน ในการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยยังคงย้ำว่า บาดแผลทางยาวขาข้างขวาของแตงโม ไม่ได้เกิดจากใบพัดเรือ แต่แพทย์กลับลงความเห็นว่า เกิดจากใบพัดเรือ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริง
นายอัจฉริยะ ยังนำหลักฐานข้อความสนทนา ที่อ้างว่าเป็นนายตำรวจนามเรียกขานว่า ไอยรา 4 ที่ยอมรับว่า การนำหมูไปจำลองเหตุการณ์ 10 ครั้ง ทำได้แค่ครั้งเดียว ที่หมูจะหลุดเข้าไปในใบพัดเรือ
โดยข้อความสนทนานี้ บุคคลที่ใช้นามเรียกขานว่า ไอยรา 4 ส่งต่อให้กับบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ อาจนำไปสู่การทำพยานหลักฐานเท็จ
ส่วนบุคคลที่ใช้นามเรียกขานว่าไอยรา 4 จะเป็นบุคคลเดียวกับนายตำรวจอักษรย่อ ว.หรือไม่ ขอให้สื่อมวลชนไปสอบถาม นายตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 จะทราบดีว่าเป็นใคร
นายอัจฉริยะ ยังแสดงความแปลกใจ ที่ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาแถลงยืนยันว่า พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมแล้วเสร็จตามที่พนักงานอัยการ ส่งสำนวนมาให้สอบในประเด็นต่างๆเพิ่มเติมอีก 20 ประเด็น เพื่อประกอบสำนวนคดีให้มีความรัดกุม ซึ่งนายอัจฉริยะ ตั้งข้อสังเกตว่า การสอบสวนเพิ่มเติม 20 ประเด็นดังกล่าว มีการสอบสวนที่เร่งรีบเกินไป หรือไม่?
นายอัจฉริยะ ยังย้ำว่า การนำข้อมูลต่างๆมาเผยแพร่ ไม่ใช่การลดความน่าเชื่อถือการทำงานของพนักงานสอบสวนคดีแตงโม แต่ปัจจุบันการเสาะแสวงหาข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์รวดเร็ว กว่าการทำงานของตำรวจ ซึ่งข้อมูลหลักฐานต่างๆที่นำเสนอนั้น เพื่อยืนยันว่า ข้อสังเกตที่สังคมสงสัย และไม่เชื่อว่า แตงโมปัสสาวะท้ายเรือ และแตงโม ตกจากท้ายเรือ เป็นไปไม่ได้
@suebjarkkhao #อัจฉริยะ ร้องเอาผิดหมอนิติเวชฯ อ้างกรณีใช้หลักฐานเท็จรายงานแฉ! แชทไลน์หลุด ‘ไอยรา4’ รับผลทดลองกับหมูใช้ไม่ได้บาดแผลไม่เหมือนที่ขา #แตงโมนิดา ♬ เสียงต้นฉบับ – สืบจากข่าว