เมื่อเวลา 10.30 น.ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ที่ห้องประชุมมหาชัย (201) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ปัญหาศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติจังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายอาคม ศาณศิลปิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด,ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงานและบังคับใช้กฎหมายกับศูนย์การเรียนสำหรับเด็กข้ามชาติที่มีลักษณะอาจไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร
จากการรายงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา พบว่า ปัจจุบันมีศูนย์การเรียนสำหรับเด็กข้ามชาติทั้งหมด 5 แห่ง มีเด็กข้ามชาติเข้ารับการดูแลและศึกษาอยู่ในศูนย์ต่างๆ รวมทั้งหมดกว่า 800 คน โดยจำแนกเป็น 1.ศูนย์อบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาแก่เด็กข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทย มีองค์กรหรือเครือข่าย มูลนิธิ LPN เป็นผู้ดูแล ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน,2.ศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมความรู้ภาษาพัฒนาทักษะชีวิตแก่เด็ก มีองค์กรหรือเครือข่าย มูลนิธิ LPN เป็นผู้ดูแล ตั้งอยู่ในพื้นที่ มหาชัยเมืองใหม่ ต.คอกกระบือ อ.เมืองสมุทรสาคร ,3.ศูนย์ฝึกอบรมภาษา ศาสนาวัฒนธรรม และการศึกษาเรียนรู้เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อสังคมแรงงานข้ามชาติเด็กข้ามชาติสมุทรสาคร มีองค์กรหรือเครือข่าย มูลนิธิ LPN เป็นผู้ดูแล ตั้งอยู่ในหมู่บ้านมหาชัยนิเวศน์ ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาคร,4.ศูนย์มาริสเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่น มีองค์กร หรือเครือข่าย ศูนย์คาทอลิกนักบุญอันนา เป็นผู้ดูแล ตั้งอยู่ที่ ซอยหลังตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร และ ศูนย์คาทอลิกนักบุญยออากิมเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่น มีองค์กรหรือเครือข่าย ศูนย์คาทอลิกนักบุญอันนา เป็นผู้ดูแล
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลศูนย์ฯ ทั้ง 5 แห่งพบว่า ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายจังหวัดสมุทรสาคร อาทิเช่น สถานที่ตั้งศูนย์ของมูลนิธิ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้นอกพื้นที่ตั้งของมูลนิธิฯ,อาคารสถานที่เรียน ที่ไม่ได้มาตรฐานตามกำหนด,การจ้างครูและบุคลากรทางการศึกษา และ การจัดหลักสูตรการศึกษา รวมถึง การยื่นเอกสารขอจัดตั้งศูนย์ฯ เป็นต้น ดังนั้น ในปีการศึกษาที่กำลังจะเปิดเทอมใหม่นี้ (16 พ.ค.68) ทางศูนย์การเรียนสำหรับเด็กข้ามชาติทั้ง 5 แห่ง จึงไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ หากที่ใดเปิดรับเด็กเข้ามาเรียน ก็ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายทันที ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหาให้กับเด็กข้ามชาติกว่า 800 คนที่เข้ารับการศึกษาในศูนย์การเรียนฯ ทั้ง 5 แห่งนั้น ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ได้มีการจัดหาสถานที่เรียนไว้รองรับแล้วทั้งหมด 43 โรงเรียน แต่ปรากฏว่า ยังไม่มีผู้แทนศูนย์การเรียนฯ หรือทางผู้ปกครองของเด็ก เข้าไปติดต่อที่โรงเรียน เพื่อนำบุตรหลานแรงงานข้ามชาติเข้าเรียนร่วมกับเด็กไทยในปีการศึกษาที่กำลังจะเปิดเทอมนี้ ซึ่งสาเหตุก็อาจจะมาจากยังไม่รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ต้องให้บุตรหลานเข้าเรียนในสถานศึกษา หรือ ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง
นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผวจ.สมุทรสาคร สั่งการว่า หากศูนย์การเรียนฯ ใดไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายจังหวัดสมุทรสาคร ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยนับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป มอบหมายให้ทางศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งชุดบูรณาการความร่วมมือ ลงพื้นที่จัดระเบียบการศึกษาให้แก่บุตรหลานแรงงานข้ามชาติ ด้วยการเข้าตรวจศูนย์การเรียนรู้ทุกแห่ง และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบเปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่ทางอำเภอ ปกครองท้องที่ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานโยธาฯ ก็ต้องไปตรวจความพร้อมของตัวอาคาร หากไม่เป็นไปตามที่กำหนด ต้องสั่งระงับใช้อาคารทันที ทั้งนี้หากพบการกระทำความผิดใด ก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายในทุกกรณี ตั้งแต่ผู้ดูแล ผู้สอน ไปจนถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ส่วนเด็กๆ ก็ให้ผู้ปกครองมารับแล้วส่งเข้าเรียนยังสถานศึกษาในสังกัด พร้อมกันนี้สิ่งที่ต้องเน้นย้ำกับทุกโรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกแห่ง ต้องร่วมกันดูแลและให้การศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติเสมือนเด็กไทย อีกทั้งยังต้องไม่กระทำกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบหรือขัดต่อความมั่นคงของผืนแผ่นดินไทยอย่างเด็ดขาด





อติชาตสุขยืนรายงาน