ขอนำเสนอวิธีสำรวจพฤติกรรมที่อาจทำให้ท่านเสียเงินให้แก่มิจฉาชีพ
ทุกวันนี้แก๊งคอลเซนเตอร์ ยังคงอาละวาด สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่คนไทยเป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจกันไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง ยังมีประชาชนบางรายที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำออกมา และด้วยเหตุนี้ มิจฉาชีพแก๊งคอลเซนเตอร์ ก็ยังคงหากินกับเหยื่อที่ยังมีภูมิต้านทานทางไซเบอร์ที่ต่ำ และขอแค่ 1 คนจาก 100 คน หรือเพียงแค่ 1 เปอเซนต์ ของเหยื่อที่หลงเชื่อ ก็เพียงพอที่จะคุ้มค่าเหนื่อยและกระทำความผิดต่อไป รวมถึงการเปลี่ยนมุข เปลี่ยนเรื่องราว เปลี่ยนสตอรี่ ก็สามารถทำให้แก๊งพวกนี้ยังคงหากินกับเรื่องพวกนี้ได้อยู่เรื่อยๆ
เราลองมาดูกันว่า พฤติกรรมแบบไหนบ้างที่อาจทำให้ท่านเสียเงินให้แก่มิจฉาชีพ จนต้องมานั่งเจ็บกระดองใจ นึกเสียดายเงินที่อุตส่าห์หามาได้อย่างยากลำบากกันครับ
1.เชื่อคนง่าย – ใครพูดอะไรก็เชื่อ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซนเตอร์โทรมาใช้อุบายโกหกหลอกล่อ หว่านล้อมต่างๆนานา ก็หลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
2.ไม่เอะใจ – ขาดสติ ไตร่ตรองว่าสิ่งที่คู่สนทนาพูดนั้น มันสมเหตุสมผล มากน้อยเพียงไร
3.ไม่วางสาย – ยิ่งพูดคุยนาน ยิ่งมีโอกาสถูกกล่อมให้เชื่อได้มากยิ่งขึ้น สุดท้าย ก็โอนเงินให้มิจฉาชีพไป
4.ไม่ศึกษา – ไม่หมั่นหาความรู้ ตามสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานรัฐและเอกชน เกี่ยวกับการเตือนภัยมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซนเตอร์
สรุปสั้นๆเพียง 4 ข้อ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป ท่องจำง่าย เพราะเป็นคำคล้องจอง “เชื่อคนง่าย ไม่เอะใจ ไม่วางสาย ไม่ศึกษา” เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะท่องจำคำสี่คำนี้ได้ขึ้นใจ อย่างน้อยขอแค่ ให้ท่านนึกคำสี่คำนี้ได้ ก่อนที่ท่านจะกดรับสายจากเบอร์แปลก ครับ
บก.ปอท. หวังว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่มอบความรู้ให้แก่ท่าน เกี่ยวกับภัยต่างๆที่แฝงมากับเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเตือนภัยต่างๆ เป็นการเติมวัคซีนทางไซเบอร์เพื่อให้ท่านมีภูมิคุ้มกันที่ดีห่างไกลจากมิจฉาชีพครับ เพราะเรามีความเชื่อว่า การป้องกันนั้นย่อมดีกว่าการแก้ไข
ด้วยรักและปรารถนาดีจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)