วันศุกร์, กรกฎาคม 18, 2025
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าวกสม. ชี้โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง ยังก่อผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน แนะ กฟผ. แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

Related Posts

กสม. ชี้โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง ยังก่อผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน แนะ กฟผ. แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

กสม. ชี้โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง ยังก่อผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน แนะ กฟผ. แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ – ขับเคลื่อนการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในและระหว่างประเทศ หนุนจัดทำตราสารระหว่างประเทศที่ครอบคลุมและมีมาตรฐาน

วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 24/2568 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1.กสม. ชี้โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง ยังก่อผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ แนะ กฟผ. แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

นายภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ระบุว่าประชาชนในหมู่บ้านหลายแห่ง ในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ หินปูน และโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แก่ มลภาวะทางเสียง ฝุ่นละออง กลิ่น มีน้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำลดลง รวมทั้งมีสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปนเปื้อนของสารปรอท ตะกั่ว ทองแดง และแคดเมียม ในอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ โดยระบุว่า กฟผ. ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่กำหนดไว้ในรายงานรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด (อบต. สบป้าด) ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบและห่างจากเหมืองแร่ประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร ถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ นอกจากนี้ กสม. ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ระบุว่า เครือข่ายฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินกิจการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินงานของ กฟผ. ในด้านสุขภาพ อาชีพ และสิ่งแวดล้อมได้ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่ากรณีปัญหาตามคำร้องมีประเด็นแยกพิจารณาได้ 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กฟผ. ประกอบกิจการในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง รวม 3 กิจการ ได้แก่ โครงการเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ โครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยปรากฏข้อมูลตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือรายงาน EHIA โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 – 7 ของ กฟผ. (ระยะดำเนินการ) ประจำเดือนมกราคม – มิถุนายน 2565 ว่า คุณภาพน้ำผิวดินและตะกอนดินบริเวณอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ มีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในช่วงปี 2565 – 2567 พบว่า มีประเด็นสิ่งแวดล้อมหลายด้านที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรายงาน EHIA โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพอากาศ

กสม. เห็นว่า แม้ กฟผ. จะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และได้แก้ไขปัญหาตามมาตรการครบถ้วนตามที่ปรากฏในรายงานดังกล่าว รวมทั้งได้ศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับฝุ่นละออง โอโซน และการสะสมของสารพิษในตะกอนดินแล้ว แต่ผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลายด้านยังมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าฝุ่นสูงในพื้นที่โรงไฟฟ้า การปนเปื้อนของสารหนูและแคดเมียมในน้ำและดิน การพบปรอทอินทรีย์เกินมาตรฐานในเนื้อปลาจากแหล่งน้ำดิบ รวมทั้งการตรวจพบเสียงดังรบกวนจากกิจกรรมโรงไฟฟ้าเกินมาตรฐานโดยเฉพาะช่วงกลางคืน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวทางแก้ไขปัญหาของ กฟผ. ตามรายงาน EHIA ไม่สามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของชุมชนได้ อีกทั้ง กฟผ. อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 และจะเริ่มเดินเครื่องในปี 2569 จึงต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสะสมในพื้นที่อำเภอแม่เมาะอย่างเคร่งครัด ในชั้นนี้ จึงรับฟังได้ว่า มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ประเด็นที่สอง กรณีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ให้แก่ อบต. สบป้าด เห็นว่า อบต. สบป้าด จัดอยู่ในกลุ่ม อบต. และเทศบาลอื่นที่อยู่ภายในจังหวัดที่มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ตามประทานบัตร ที่จะได้รับการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ในอัตราร้อยละ 10 ของค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บได้ภายในเขต และจะได้รับการจัดสรรตามอัตราส่วนจำนวนราษฎร ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า อบต. สบป้าดได้รับจัดสรรค่าภาคหลวงแร่จากอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2547 ในชั้นนี้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า หลักเกณฑ์การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ดังกล่าว ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันทางด้านรายได้ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่งที่มีพื้นที่อยู่ใกล้กับเหมืองแร่ ไม่ได้รับการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่หรือได้รับการจัดสรรไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่

และประเด็นที่สาม กรณีการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้แก่เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เห็นว่า แม้ว่าเครือข่ายฯ จะสามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2563 ได้ แต่ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ กลับได้รับจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าฯ เพียง 2 ครั้ง คือในปี 2551 เป็นโครงการให้โคและสุกรในนามเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ และปี 2566 ได้รับจัดสรรเงินผ่านอำเภอแม่เมาะ 600,000 บาท ทั้งที่มีสมาชิกกว่า 200 คน อันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมดุลในการจัดสรรเงินกองทุน นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติเครือข่ายฯ ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินสนับสนุนเพื่อค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าได้อย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากระเบียบเน้นไปที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือกิจกรรมชุมชนทั่วไป กลุ่มผู้ป่วยและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความทุกข์ยากที่เรื้อรัง และสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ในชั้นนี้ จึงรับฟังได้ว่า การออกกฎเกณฑ์และระเบียบเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ กฟผ. แก้ไขปัญหาเสียงดังรบกวน โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนจากกิจกรรมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และปัญหากลิ่นเหม็นที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ปรับปรุงแก้ไขการตรวจวัดเสียงรบกวนและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดทุกโครงการ รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมและผลการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนในพื้นที่บริเวณรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้จัดทำมาตรการและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศที่เกินค่ามาตรฐานเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการตรวจสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง และกรณีโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8 – 9 ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2569 จะต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสะสมในพื้นที่อำเภอแม่เมาะอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แก้ไขปรับปรุงระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และโปร่งใส โดยเฉพาะในประเด็นคำนิยาม “ผู้มีส่วนได้เสีย” ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเครือข่ายภาคประชาชนที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพและด้านสิ่งแวดล้อมให้มีสัดส่วนมากกว่าด้านอื่น ๆ

(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่และค่าภาคหลวงปิโตรเลียมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2544 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

และให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EHIA ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาปรับประเด็นการตรวจวัดเสียงรบกวนให้เป็นไปตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง วิธีการตรวจวัดระดับเสียงรบกวน ระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และระดับเสียงสูงสุด ที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. 2567 และกำหนดมาตรการในการตรวจวัดเสียงรบกวนให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ให้ กฟผ. ดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) โดยรวบรวมปัญหาอุปสรรค และข้อร้องเรียน เพื่อนำไปแก้ไขหรือปรับปรุงการดำเนินโครงการทั้งสามโครงการในพื้นที่อำเภอแม่เมาะให้เป็นไปตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) เป็นประจำทุกปีเพื่อประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยให้ครอบคลุมมิติผลกระทบต่อชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts