“…ไม่ใช่ไปตั้งธงจะพิจารณาให้เขาควบรวมกิจการแล้วจะไปออกกฎเกณฑ์ ออกมาตรการบังคับก่อนควบรวมกิจการ อย่างที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.) เคย “ทำพลาด” มาแล้ว เพราะหากกสทช.ชุดนี้หลวมตัวไปไฟเขียวการควบรวมกิจการดั่งหลุมพรางที่มีการขุดล่อเอาไว้ เชื่อเหอะ! พวกท่านไม่มีโอกาสได้เสวยสุขกับสิ่งทีแลกมันมาแน่ แต่จะเผชิญกับพายุบุแคมที่โถมกระหน่ำถึงขั้นเสี่ยง “คุกตาราง”ตามมาเสียมากกว่า..”
[inline_related_posts title=”คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้” title_align=”left” style=”list” number=”4″ align=”none” ids=”” by=”categories” orderby=”rand” order=”DESC” hide_thumb=”no” thumb_right=”no” views=”no” date=”yes” grid_columns=”2″ post_type=”” tax=””]
“…ภาษิตโบราณท่านว่าไว้…ธรรมชาติของเสือต้องกินเนื้อ ธรรมชาติวัวควายยังไงก็ต้องกินหญ้า คนทำธุรกิจยังไงก็ต้องการ”กำไร”หรือแสวงหากำไร จะไปล่ามโซ่ ล้อมคอกกันยังไง ก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้…”
ควันหลงอันสืบเนื่องมาจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(ในวงจำกัด) หรือที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” เรียกว่าเวที “โฟกัส กรุ๊ป” ต่อกรณีการควบรวมกิจการระหว่าง
“ทรู” และ “ดีแทค” ที่ผ่านไปแล้ว 2 เวที
โดยผลสรุปที่ได้ดูจะ”ต่างกันสุดขั้ว” โดยเวทีแรกของการเปิดรับฟังความคิดเห็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างเห็นพ้องไปกับดีลควบรวมกิจการด้วยอ้างว่า จะทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมโตพอฟัดพอเหวี่ยงกับบริษัทสื่อสารผู้ให้บริการรายใหญ่ในตลาด ประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับบริการและมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา
ขณะที่อีกเวทีเป็นเสียงสะท้อนของผู้บริโภคและพลเมืองนั้นออกมาคัดค้านสุดลิ่ม ด้วยเห็นว่า”ผลแห่งการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการโทรคมนาคมอันดับ 2 และ3 ของตลาดที่ล้วนเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะยิ่งมีแนวโน้มผูกขาดมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นไปอีก จนส่งผลให้ตลาดโทรคมนาคมถอยหลังลงคลองไปหลายสิบปี ประชาชขนผู้บริโภคจะถูกมัดมือชกโขกค่าบริการตามมาอย่างแน่นอน”
ขณะที่ในส่วน กสทช.นั้น เข้าใจว่าคงกำลัง”เมาหมัด” หลังจากรับเผือกร้อนมาจาก กสทช.ชุดก่อน จึงตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตั้ง 4-5 ชุด เพื่อดำเนินการศึกษาผลกระทบจากดีลควบรวมในทุกมิติ คงหวังจะได้ตอบสังคมได้อย่างเต็มปาก หากต้องพิจารณาอนุมัติดีลควบรวมออกไปว่า ได้มีการศึกษากลั่นกรองผลกระทบอย่างรอบด้านแล้ว
แต่สำหรับผู้คว่ำหวอดในวงการสื่อสารโทรคมนาคม และมีส่วนในการยกร่างกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระแห่งนี้ ได้เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายรวมทั้ง กสทช.ชุดปัจจุบันต้องตระหนักก็คือ กม.จัดตั้งคือ พรบ.กสทช.และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของกสทช.นั้น เปิดทางให้ กสทช.ใช้วิจารณญาณ หรือพิจารณาว่าจะอนุมัติ-ไม่อนุมัติดีลควบรวมกิจการในลักษณะเช่นนี้ ได้หรือไม่ต่างหาก “อย่าหลงประเด็น”
พรบ.กสทช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 และ ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 นั้น ให้ กสทช.มีอำนาจหน้าที่เพียง 2 ภารกิจหลักเท่านั้น คือ กำกับดูแล ให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม การดำเนินการใดๆ ในอันที่จะไปกระทบต่อหลักการข้างต้นจะกระทำไม่ได้เลย กิจกรรมใดที่จะไปกระทบลดการแข่งขัน ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลงจะกระทำไม่ได้เลย
และหาก กสทช. เห็นว่าตลาดมีการผูกขาด หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด หรือมีพฤติการณ์เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้บริการ มีอำนาจเหนือตลาดกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ ทำให้ประชาชน.ผู้ใช้บริการถูกเอาเปรียบ กสทช. ก็ต้องงัดกฎหมายที่มีเข้าไปกำกับดูแล ออกมาตรการกำกับดูแลทันที
ไม่ใช่ไปตีเนียนพิจารณาให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดำเนินการควบรวมกิจการต่อไป ด้วยข้ออ้างไม่แน่ใจในอำนาจที่ตนเองมี ทั้งที่การควบรวมกิจการดังกล่าวไม่ต้องไปพิจารณาในมิติอื่น ก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า จะส่งผลต่อการลดการแข่งขัน และทำให้ยักษ์สื่อสารโทรคมนาคมรายนี้ มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ใด กสทช. ก็ไม่สามารถพิจารณาอนุมัติให้ได้อยู่แล้ว ต้องสั่งระงับโดยทันที
เพราะงั้น สิ่งที่กสทช.กำลังดำเนินการอยู่เวลานี้ ไม่ว่าจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบในทุกมิติ หรือการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแบบจำกัด หรือเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะนำไปสู่ข้ออ้างในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการนั้นล้วนแล้วแต่เป็นแค่ “มหกรรมปาหี่” เพียงเพื่อหวังจะสร้างความชอบธรรมในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการว่า ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุมพิจารณาผลกระทบในทุกมิติแล้วเท่านั้น
แต่ปัญหาก็คือกฎหมายจัดตั้ง กสทช. คือ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2562 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หาได้เปิดช่องหรือเปิดทางให้กสทช.ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการที่ว่านี้
ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องตระหนัก ภาษิตโบราณที่ว่า ..ธรรมชาติของเสือต้องกินเนื้อ ธรรมชาติของวัวควายยังไงมันต้องกินหญ้า ทำธุรกิจยังไงก็ต้องการกำไร(Profit) หรือแสวงหากำไร จะไปล่ามโซ่ ล้อมคอก กักกันอย่างไร หากแม้มีโอกาสอันน้อยนิด มันก็ต้องเผยทาสแท้ตามธรรมชาติของมันออกมา…..”
ฉันใดก็ฉันนั้น แม้กสทช.จะไปออกมาตรการห้าม มาตรการที่ต้องดำเนินการก่อนควบรวมกิจการ หรือสกัดกั้นกันอย่างไร สุดท้ายเมื่อมีอำนาจผูกขาดเหนือตลาดไปแล้วธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจที่ต้องการกำไรหรือแสวงหากำไรยังไงก็ต้องเผยออกมาวันยังค่ำจะล้อมคอกกันยังไงก็หนีธรรมชาติไม่พ้น
หากรัฐเปิดโอกาสให้มีการควบรวมกิจการไปแล้ว ต่อให้ออกมาตรการบรรเทา หรือมาตรการห้ามอย่างไร สุดท้ายก็ห้ามไม่ให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องแสวงหากำไร ต้องหาทางเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเพื่อแสวงหากำไรอันเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจเมื่อมีโอกาสยังไงเขาก็ต้องทำ
ท่าทีและพฤติการณ์ที่กสทช.ส่งสัญญานออกมาในเวลานี้ จึงทำให้ผู้คนในสังคมพากันตั้งข้อกังขาถึงกระบวนการสรรหา กสทช.ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้กลไก”อำนาจนอกระบบ”เข้าไปแทรกแซงกระบวนการสรรหากสทช.หรือไม่ ?
เพราะเหตุใด “ว่าที่ กสทช.” บางคน”ที่ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาที่ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิท้ังสิ้นถึง3 รอบ แต่กลับถูกที่ประชุมวุฒิสภาที่ทุกฝ่ายต่างรู้กันอยู่เต็มอกว่ามีที่มาจากไหน “หักดิบ”โหวตล้มว่าที่ กสทช.บางคนออกไป
มันจึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากมีใบสั่งหรือมือที่มองไม่เห็นล้วงลูกเข้าแทรกแซงกระบวนการสรรหา กสทช. มาตั้งแต่ต้น เพื่อส่งคนของตนเข้าไปแทนตัวบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาได้ดำเนินการเลือกสรรเอาไว้แล้ว
หาไม่แล้วป่านนี้การพิจารณาดีลควบรวมกิจการครังนี้ คงถูกปิดประตูลั่นดานไปแล้ว ไม่มา “ขี่ม้ารอบค่าย”เพื่อหาช่องทางไฟเขียวสู่การควบรวมกิจการดังที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้
คงต้องตอกย้ำไปยัง กสทช.ทั้ง 7 อรหันต์ที่กำลัง”เมาหมัด”รับแรงกดดันสารพัดจากรอบด้านอยู่ในเวลานี้ที่จะต้อง
“ตั้งหลักปักฐาน”กันให้มั่น และต้องตระหนักในบทบาทอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงขององค์กร กสทช.ว่าโดยพื้นฐานที่แท้จริงนั้นมีบทบาทอำนาจหน้าที่อย่างไร?
ไม่ใช่ไปตั้งธงจะพิจารณาให้เขาควบรวมกิจการแล้วจะไปออกกฎเกณฑ์ ออกมาตรการบังคับก่อนควบรวมกิจการ อย่างที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เคย “ทำพลาด” มาแล้ว เพราะหากกสทช.ชุดนี้หลวมตัวไปไฟเขียวการควบรวมกิจการดั่งหลุมพรางที่มีการขุดล่อเอาไว้
เชื่อเหอะ! พวกท่านไม่มีโอกาสได้เสวยสุขกับสิ่งทีแลกมันมาแน่ แต่จะเผชิญกับพายุบุแคมที่โถมกระหน่ำถึงขั้นเสี่ยง “คุกตาราง”ตามมาเสียมากกว่า