มูดี้ส์ปรับมุมมองไทยเป็น ‘เชิงลบ’ จาก ‘มีเสถียรภาพ’ แต่ยังคงอันดับ Baa1 หลังประเมินผลกระทบภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ต่อการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2568 เหลือ 2% จาก 2.9% ท่ามกลางภาระหนี้รัฐที่เพิ่มขึ้นเป็น 56% ของ GDP
มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ประกาศเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของไทยเป็น “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” ขณะที่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ Baa1 เนื่องจากเล็งเห็นความเสี่ยงที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจและฐานะการคลังของไทยจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ที่อาจกระทบการส่งออกและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าอยู่แล้ว
นายจีน ฟาง รองกรรมการผู้จัดการ มูดี้ส์ เรทติ้งส์ เปิดเผยว่า การปรับมุมมองดังกล่าวสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเก็บภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ ประกาศไปแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าและการเติบโตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจแบบเปิดอย่างประเทศไทย
“ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษีเพิ่มเติมกับไทยและประเทศอื่นๆ หลังจากช่วงหยุดชั่วคราว 90 วันสิ้นสุดลงหรือไม่ ความไม่แน่นอนนี้ยิ่งซ้ำเติมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวอยู่แล้วหลังโควิด-19 และเสี่ยงที่จะทำให้แนวโน้มการลดลงของศักยภาพการเติบโตรุนแรงขึ้น” นายจีนกล่าว
ข้อมูลจาก OECD ล่าสุดระบุว่า มูลค่าเพิ่มในประเทศของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 3% ของ GDP ในปี 2563 นอกจากนี้ ไทยยังอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคที่ป้อนวัตถุดิบให้การส่งออกของประเทศอื่น
กรณีของมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s) ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่มุมมอง “เชิงลบ” (Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) หลังสะท้อนความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า การปรับลดครั้งนี้เป็นเพียงการปรับในส่วนของ Outlook หรือแนวโน้มทิศทางว่ามีแนวโน้มแย่ลง ไม่ใช่การปรับลดตัวเครดิตเรตติ้ง ทำให้ต้นทุนการเงินและการกู้ยืมน่าจะยังไม่เพิ่มขึ้นในทันที
“การที่มูดีส์ระบุว่าแนวโน้มดูแย่ลง เป็นสัญญาณเตือนว่าความเสี่ยงในปัจจุบันและอนาคตมีสูงขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องออกนโยบายที่เหมาะสมเพื่อพลิกฟื้นทิศทางให้ดีขึ้น และต้องไม่ซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลง” นายนณริฏ ระบุ
นายนณริฏ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายทั้งจากภัยคุกคามใหม่อย่างนโยบายของทรัมป์ และปัญหาเดิมที่สะสมมา เช่น หนี้ครัวเรือนระดับสูง และหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาครัฐควรมุ่งเน้นนโยบายที่แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่มาตรการลดแลกแจกแถมระยะสั้นที่ก่อหนี้โดยไม่ได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงในระยะยาว
นายนณริฏ กล่าวถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่าไม่ควรดำเนินการแล้ว เนื่องจากมีประสิทธิภาพต่ำ และการประเมินล่าสุดพบว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเพียงประมาณร้อยละ 1 ของ GDP เศรษฐกิจจึงไม่ได้หดตัวถึงขนาดที่ต้องใช้มาตรการกระตุ้นระยะสั้น แต่สิ่งเร่งด่วนของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้คือต้องเร่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จำเป็นมากกว่า
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มองว่า เป็นการยกประเด็นจากนโยบาย “ทรัมป์” เรียกเก็บภาษีไทย 36% ซึ่งถือเป็นการประเมินที่เร็วเกินไป เพราะเรื่องยังไม่จบและอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา โดยขณะนี้ไทยก็มีความพร้อมที่จะไปเจรจา มั่นใจว่าจะได้เจรจากับสหรัฐฯ แน่นอน จึงมองว่า การปรับลดอันดับเครดิตไทยครั้งนี้ค่อนข้างแปลก เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา คงอันดับไทยมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้ดี โตเฉลี่ยเพียง 1.9% แต่กลับมาปรับลดอันดับช่วงนี้ ทั้งๆ ที่การส่งออกของไทยกำลังขยายตัวดีมาก โตต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน และยังโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกของไทยจะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่ 2 โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกของไทยจะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่ 2-3%
ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีแนวทางจะกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เป็นเพียงกรอบวงเงินไม่ได้จะกู้ทั้งหมด และเป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อรับมือผลกระทบหลังการเจรจา เพราะอาจจะต้องโดนเรียกเก็บที่ 10% อยู่แล้ว จึงอยากให้รอผลสรุปการเจรจาออกมาในรูปแบบใด แล้วค่อยประเมินความเชื่อมั่นอีกครั้ง
สำหรับความคืบหน้าการเจรจาทรัมป์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลและกำหนดเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติม และมอนิเตอร์ประเด็นจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้า เพื่อทำให้สหรัฐฯ มั่นใจในการเจรจามากขึ้น ย้ำยังเหลือเวลาอีกมากกว่า 70 วัน และคาดว่า จะได้กำหนดการนัดเข้าเจรจา ทรัมป์ภายในเดือนหน้า และยังเชื่อ GDP ไทยไตรมาส 1 โตเกิน 3% และทั้งปี 68 เติบโตใกล้เคียง 3% แต่อาจจะต้องประเมินอีกครั้ง หลังการเจรจาทางภาษีกับสหรัฐฯ
ขณะที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงบ่ายวันนี้ (30 เม.ย.68) ว่า หวังว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ย เพื่อทำให้ค่าเงินอ่อนลง ช่วยหนุนการส่งออกและภาคท่องเที่ยว ซึ่งจากการหารือร่วมกับรัฐมนตรีการค้าของมาเลเซียครั้งก่อน ได้ถามตนว่าทำไมเศรษฐกิจไทยไม่ดี แต่เงินบาทกลับแข็งค่า และแข็งมากกว่าประเทศในภูมิภาคมาก แข็งค่ามากกว่าตอนไทยเจอปัญหาวิฤติต้มยำกุ้งอีก