วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์วัชระ เพชรทองวัชระ ร้องชวนสอบ ‘พรพิศ-มณฑา’

Related Posts

วัชระ ร้องชวนสอบ ‘พรพิศ-มณฑา’

“…วัชระ ร้องชวนสอบ ‘พรพิศ-มณฑา’ จัดทำงบประมาณหมกเม็ดปี 63-64 จน สตง.ยัง งง!! ไม่สามารถแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินปี 2564 และมีความเห็นรายงานการเงินปี 2563 ไม่ถูกต้อง ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ…”

(7 มิ.ย.65) ที่อาคารรัฐสภา เมื่อเวลา 12.30 น. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่าน นางธนพร จันทร์เลิศดี ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารทั่วไปและสารบรรณถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและสอบจริยธรรม นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ นางมณฑา น้อยแย้ม ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่สามารถแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินปี 2564 และมีความเห็นรายงานการเงินปี 2563 ไม่ถูกต้อง ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ

นายวัชระ ได้ระบุในหนังสือร้องเรียนว่า ด้วยปรากฏรายงานสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะผู้สอบบัญชีของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินปี 2564 ที่ได้รับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจำนวน 2,876,534,800 บาท เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็น มีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบที่มียอดตามบัญชีต่ำกว่าทะเบียนคุมการจ่ายเงินงวด จำนวน 2 สัญญา และงบการเงินปี 2563 ที่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจำนวน 2,758,288,200 บาท ซึ่งสตง. มีความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง มีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญนั้น ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐสภาต้องจัดทำรายงานการเงินอย่างสมเหตุสมผล เพื่อให้ผู้จำเป็นต้องนำข้อมูลจากรายงานการเงินนี้ไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจและใช้ประเมินความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีต่อสาธารณะ ดังนั้น จึงมีข้อสงสัยหลายประการที่ต้องสอบถามคือ

1.เพราะเหตุใดสำนักงานฯ จึงไม่สามารถจัดทำรายงานการเงินตามเกณฑ์คงค้างได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จนเป็นสาเหตุให้ สตง.ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชี (ภายนอก) แสดงความเห็นว่าสำนักงานฯ ไม่สามารถจัดทำรายงานการเงินปี 2564และปี 2563 ตามกรอบมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนดใช่หรือไม่ สำนักงานฯ ได้ปกปิดข้อมูลอะไรไว้ และเกิดความเสียหายหรือไม่ อย่างไร เช่นปี 2563 ลูกหนี้เงินยืมในงบประมาณ มีความผิดปกติของรายการหักล้างลูกหนี้เงินยืมโดยไม่มีเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีของงวดปี 2556-2560 จำนวน 13 รายการ เป็นเงิน 1,142,129 บาท ส่อว่าทุจริตหรือไม่ เป็นต้น

2.การทำรายงานการเงินไม่ถูกต้องตามเกณฑ์คงค้าง ส่งผลให้ผู้ใช้รายงานการเงิน (สตง. ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่รัฐสภา ฯลฯ) ไม่สามารถเข้าใจความหมายของข้อมูลที่แสดงในรายงานการเงินที่ทำขึ้นโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ และไม่สามารถนำรายงานการเงินมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันได้ ซึ่งกระทบต่อศักยภาพในการให้บริการของโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณและก่อหนี้ผูกพัน เช่นปี 2564 โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ มีการอนุมัติจ่ายเงินงวดงานไปแล้วแต่ได้รับสิ่งของที่ผิดข้อกำหนดในสัญญาคือ ไม้ตะเคียนทองกลายเป็นไม้พะยอม เป็นต้น และโครงการอื่น ๆ ใช่หรือไม่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จะแก้ไขอย่างไร

3.รายงานการเงินที่ผิดพลาดและไม่แสดงรายการที่ครอบคลุมทรัพยากรทั้งหมดที่ใช้ไป เช่น โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ เป็นต้น ตรงตามวิสัยทัศน์ (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก้าวสู่การเป็น SMART Parliament) พันธกิจ (เสริมสร้างกระบวนการนิติบัญญัติให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล , เสริมสร้างบทบาทและความร่วมมือในเวทีรัฐสภาอาเซียนและรัฐสภาระหว่างประเทศ , ส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนรวมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และก่อให้เกิดผลผลิตตามเป้าหมาย (เป็นองค์กรที่มีขีดสมรรถนะสูง) ตรงตามที่สำนักงานฯ กำหนดไว้หรือไม่ กระทบต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของสถาบันนิติบัญญัติหรือไม่

4. รายงานของผู้สอบบัญชีระบุว่า “ไม่สามารถแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินมีนัยสำคัญ ไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมเพียงพอ รายงานการเงินไม่ถูกต้อง มีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ” แสดงว่าการบริหารเงินงบประมาณแผ่นดินของสำนักงานฯ ไม่โปร่งใส ส่อว่าทุจริตและขาดธรรมาภิบาลใช่หรือไม่ เนื่องจากระหว่างการดำรงตำแหน่งของนางมณฑา น้อยแย้ม ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ ในฐานะผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลงานคลังและงบประมาณ มีผู้แจ้งเบาะแสว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาทำการทุจริตต่างกรรมต่างวาระ ได้แก่ สินทรัพย์ประเภทลูกหนี้เงินยืม (ทำเอกสารเท็จไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นจำนวนเงินนับล้านบาท) เงินสด (ไม่นำส่งคืนคลังภายในเวลาที่กำหนด) เงินฝากธนาคาร (โอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่นโดยมิชอบ) เงินค่าอาหารทำการนอกเวลา (โอนเงินเข้าบัญชีตนเองโดยมิชอบ) และสำนักงานฯ มีคำสั่งลงโทษทางวินัยและละเมิดกับผู้ใต้บังคับบัญชาของนางมณฑาฯ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน เช่น ไล่ออก ลดขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน เป็นต้น  จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดนางมณฑา ที่ได้กระทำความผิดบ่อยครั้ง (จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง) จึงไม่ถูกลงโทษทางวินัยหรือทางละเมิดร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งไม่ใส่ใจรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารต่อรายงานการเงินของ สตง. ร่วมกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (บุคคลทั้งสองลงนามรับรองรายงานของผู้สอบบัญชีแล้ว)

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายวัชระ ได้แจ้งเบาะแสการทุจริตการเบิกจ่ายน้ำมันหลวงรถยนต์หลวงของ นายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่านางมณฑา น้อยแย้ม ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน นางมณฑาฯ ตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สอบสวนข้อเท็จจริงความผิดปกติของงบการเงินของสำนักงานฯ ปี 2564 และปี 2563 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐสภาที่ขาดความโปร่งใส ไม่ทำบัญชีและรายงานการเงินตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กำหนดภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ใช้บังคับตามมาตรา 84 และหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามมาตรา 80 ดังนั้น จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบจริยธรรม กับ นางมณฑา น้อยแย้ม ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ และ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพราะบริหารงานขาดความโปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมาในการทำงาน ดังนโยบายที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเคยให้ เนื่องในพิธีลงนามคำรับรองการปฏิบัติราชการของสำนักงานฯ ปี 2564 ว่า

“ขอให้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักธรรมาภิบาล กฎหมายระเบียบและความถูกต้องไว้เป็นหลัก อย่าทำในสิ่งที่ผิด”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts