วันจันทร์, พฤษภาคม 20, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินก.ล.ต. ดับเครื่องชน Bitkub Coin (เหรียญ KUB) “ลับลวงพราง” หรือ ทำตามหน้าที่อย่างเข้มงวด?

Related Posts

ก.ล.ต. ดับเครื่องชน Bitkub Coin (เหรียญ KUB) “ลับลวงพราง” หรือ ทำตามหน้าที่อย่างเข้มงวด?

การปล่อยเกียร์ว่างเหรียญ KUB ไปก่อน แล้วออกฎควบคุมทีหลัง ทำไมทำอย่างนั้น? หรือ กลัวว่าเอกชนไทย ใหญ่เกินตัว ก.ล.ต. ต้องเคลียร์ให้ชัด เพื่อเอกชนไทยจะได้เดินธุรกิจคล่อง อย่าปล่อยสังคม ครหา…. ประชาชนจะสงสัย และนักลงทุนติดดอยเขาถามหาความชัดเจน

เมื่อ 30 มิถุนายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกคำสั่งด่วน สั่ง Bitkub Online ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดของไทย

ก.ล.ต. ระบุว่า เหรียญ KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ของ Bitkub Exchange
โดย ก.ล.ต. เปิดเผยมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องตามมติบอร์ด ก.ล.ต.เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2565 | ฉบับที่ 108 / 2565

นักลงทุนต้องการทราบว่า เหรียญ KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ Listing Rule ของ Bitkub ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้อย่างไร?

ท่ามกลางความงงงวย… ที่ ก.ล.ต. พึ่งมาออกคำสั่ง หลังจากที่เหรียญ KUB เทรดมาปีกว่า เพราะเมื่อปีที่แล้ว 2564 ก.ล.ต ก็เป็นผู้อนุมัติเกณฑ์การลิสเหรียญเข้าสู่การเทรดเองกับมือ

นอกจากนั้น ก.ล.ต. ชี้ว่า Bitkub ให้คะแนนในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคในระดับที่ “สูงกว่ามาตรฐานและไม่เคยมีมาก่อน” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เหรียญ KUB มีเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่จริง สวนทางกับฝั่งเอกชนยืนยันเทคโนโลยีระดับนี้ เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศที่ทำได้ แถมยังทำก่อนกลุ่มทุนธนาคาร ซึ่งยังยืนงงในดงกล้วย เพราะกลุ่มทุนยักษ์ในไทยขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ

ก.ล.ต. ยังบอกว่า Bitkub ยังให้คะแนนในหัวข้อการระดมทุนและหัวข้อส่วนลด Pre-ICO Sale ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของเหรียญ KUB ด้วย จึงทำให้ ก.ล.ต. เห็นว่า คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB โดยรวมไม่ถึงเกณฑ์ที่จะอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้

บริษัท บิทคับ ออนไลน์ และกรรมการ 5 คน ในคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของ BO จึงต้องโดนลงโทษปรับ ในกรณีที่คัดเลือกเหรียญ KUB เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไป Listing Rule และไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 30 ของ และมาตรา 94 พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้ปรับเงินรายละ 2,533,500.00 บาท รวมเป็นเงิน 15,201,000.00 บาท

คำถามคือ…ก่อนจะลิสเหรียญ KUB ขึ้นบนศูนย์ซื้อขาย มิใช่ ก.ล.ต. หรือไง ก็เป็นผู้เห็นชอบ การตรวจสอบโปรไฟล์เหรียญทุกประการ จนกระทั่งกระบวนการตรวจสอบตาม Listing Rule ผ่านมาตรฐาน สามารถนำมาวางตลาด ซื้อขายได้ แต่มีเหตุผลอันใด เมื่อเวลาผ่านพ้นไปแรมปี ก.ล.ต พึ่งเริ่มมีความคิดที่จะตรวจสอบ ไล่จับ …เหรียญ KUB

หรือเพิ่งจะพบว่า การให้คะแนนเหรียญในมุมต่างๆ ไม่โปร่งใสในภายหลัง 1 ปีเต็มๆ…?

ก.ล.ต. ควรระบุชัดๆ ว่า ผิดตรงไหน… แก้ไขอย่างไร …. อย่า ชี้กว้างๆ เกินไป แก้ไขลำบาก นักลงทุนทั่วไป ลงทุนเหรียญไว้จะได้รับผลกระทบ ช่วยอนุเคราะห์ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาเหรียญให้ตรงใจ ก.ล.ต. ได้อย่างไร้ข้อกังวล และจะได้ใช้เป็นมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายไทยทุกรายอย่างเท่าเทียม

หรือไม่… ก็เปิดเวที สวนกันแบบหมัดต่อหมัดบนเวทีสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปรับฟังไปเลย เพื่อความโปร่งใส ช่วยกันถกปัญหาในประเด็นที่ว่า ในเมื่อเหรียญออกมาก่อน ระเบียบอันล่าช้าของ ก.ล.ต. แล้วจะพัฒนาได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่ควบคุม แต่ควรจะต้องร่วมกันพัฒนาวงการสินทรัพย์ดิจิตอลไปพร้อมกันด้วย

ถ้าไม่ติ…เพื่อก่อประโยชน์ ระวังประชาชนจะครหาเอาได้ว่า โลกเงินดิจิตอลกำลังมีขาใหญ่โดดลงมาเล่น มีการขัดขาขัดแข้ง เพื่อผู้ยิ่งใหญ่บางรายหรือไม่ เบรกให้หัวทิ่มหัวตำ รอใครบางคนเข้ามาเล่นเต็มตัว แล้วค่อยปล่อยให้เดินหน้าเต็มที่

ขณะที่บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด เคยออกแถลงการณ์ ย้ำจุดยืนว่า บิทคับประกอบธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วนตามหลักบรรษัทภิบาลและจริยธรรมทางธุรกิจ โดยในส่วนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเหรียญ KUB (Bitkub Coin) บริษัทพิจารณาคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำเข้าสู่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละครั้ง จากหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) เดียวกัน

พร้อมทั้งยืนยันว่า ได้พิจารณาทบทวนคุณสมบัติของเหรียญ KUB (Bitkub Coin) แล้ว เหรียญ KUB ยังคงมีคุณสมบัติเพียงพอและเป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามที่ได้เคยพิจารณาคัดเลือกไว้ และยังคงอยู่ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการโดยบริษัทฯ ตามปกติรวมทั้ง บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. มาโดยตลอด โดยขอแจ้งดังต่อไปนี้

  1. บริษัทฯ พิจารณาคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนและคำนึงถึงความเสี่ยงของเหรียญเป็นสำคัญ ซึ่งบริษัทฯ ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหรียญเพื่อให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหรียญก่อนการเปิดให้ซื้อขายทุกครั้ง
  2. บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามกระบวนการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing) เช่น มีการหารือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และการขอ Profile listing ID ก่อนที่จะนำเข้าสู่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ เป็นต้น เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามหลักการและขั้นตอนที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. นอกจากนี้ หลังจากที่ได้รับทราบประเด็นข้อสังเกตจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว บริษัทฯ ได้มีการปรับปรุงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับแจ้งแล้ว
  3. บริษัทฯ มีการติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่เป็นประจำ และมีการแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบผ่านช่องทางของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ“บิทคับยังได้ตระหนักถึงหลักบรรษัทภิบาลมาโดยตลอด ซึ่งให้ความสำคัญและยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยถือประโยชน์ของลูกค้า นักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นที่ตั้ง รวมทั้งมีการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐานในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดีให้เกิดขึ้นต่อไป”

มหกรรมการไล่กวดเหรียญ KUB ครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งจากการออกกฎรอบที่แล้ว จากรายงานข่าวคณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกกำหนดเงื่อนไขสำหรับการนำโทเค็นหรือเหรียญต่างๆ มาซื้อขายบนกระดานที่ได้รับอนุญาต โดยเพิ่มเงื่อนไขห้ามซื้อขายโทเค็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. Meme Token: กลุ่มโทเค็นที่ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจน แต่อาศัยกระแสโลกโซเชียล
  2. Fan Token: โทเค็นสำหรับการสนับสนุนตัวบุคคล
  3. NFT: โทเค็นที่มีความเฉพาะตัว ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือสิทธิ์ในงานต่างๆ
  4. Utility Token ที่ออกโดยผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายเอง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ทั้งที่กฎเหล่านี้ ออกมาทีหลัง ดันไปขัดแนวทาง นโยบายของเหรียญ KUB ที่ออกมาก่อนหรือไม่ ก็เลยจำเป็นต้องไล่หวดกันตามหลังอีกระลอก ซึ่งส่งผลให้วงการเหรียญดิจิตอลไทย ไม่เท่าทันโลก นักลงทุนอยากซื้อขายก็ต้องไปสมัครแพลตฟอร์มต่างชาติเพื่อลงทุนตามที่ตัวเองต้องการ เพราะแพลทฟอร์มไทยไม่รองรับความต้องการ ทำให้การแข่งขันของคนไทยด้อยลง

ถ้าออกกฎห้ามกันตามหลังลักษณะนี้ แล้วนำมาใช้กันใหม่อยู่ตลอด วันดีคืนดีมีพรายกระซิบให้ทำโน้นทำนี่หรือไม่ บ้านเมืองจะไม่มีขื่อมีแป ต่อไปจะไว้ใจใครได้อย่างไร ใครมีอำนาจ เห็นอะไรขัดหูขัดตา ก็หาเหตุ ยกร่างระเบียบ-กติกาเอาผิดย้อนหลังกันได้หรือ?

เหรียญ KUB ที่ผ่านการตรวจสอบและอยู่ในสายตา ก.ล.ต. มาตั้งแต่ปี 2564 ถึงวันนี้พึ่งมาเอะใจไล่เช็ดล้าง และประชาชนทั่วไปยากจะเข้าใจว่ามันไม่ผ่านมาตรการตรงไหน คะแนนสูงไปด้วยเหตุอันใด นักลงทุนจำนวนมากซื้อติดกระเป๋าเอาไว้ เขาคาดหวังว่า ก.ล.ต. จะให้เหตุผลการพัฒนาอย่างจริงใจให้ตรงตามที่ใจปรารถนา แต่ก็ยังเป็นข้อพิพาทที่ยังไม่มีข้อยุติเสียที ผลของเรื่องนี้กลายเป็นความไม่มั่นใจของนักลงทุนทั่วไป แผ่ขยายไปยังธุรกิจขนาดใหญ่

แม้แต่ดีลขนาดใหญ่ระหว่างบิทคับ กับ SCBS ยังรายงานว่า… ตรวจสอบกันเองแล้ว ผลคือไม่พบสิ่งผิดปกติเลย…. แต่กังวลก็เรื่องข้อพิพาทกับ ก.ล.ต. และนักลงทุนก็เชื่อใจ SCBS เพราะหากพบความผิดปกติ ก็ต้องรายงานต่อนักลงทุนผ่าน ก.ล.ต.

แต่ SCBS กลับชี้ชัดให้ขีดเส้นใต้ว่า “การสอบทานธุรกิจจะไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยสำคัญ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เนื่องจาก Bitkub ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาในการหาข้อสรุปดังกล่าว”

ชี้ชัดๆ “ไม่พบความผิดปกติ” แต่เกรงใจบางหน่วยงาน เป็นอันต้องยุติโอกาสทางธุรกิจ
แล้วนักลงทุนเหรียญจำนวนมากต้องขวัญเสียเพราะอะไร?

ตัดภาพมาที่ผู้ประกอบการอีกเจ้า Zipmex ประเทศไทย ที่ออกผลิตภัณฑ์ Zipup+ นำเงินลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศ เล็ดลอดสายตา ก.ล.ต. ไปได้อย่างไรก็ไม่ทราบ จนเกิดความเสียหาย ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดคริปโตฯและลูกค้านักลงทุนเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมีความเสียหายเกิดขึ้นราว 2,000 ล้านบาท จากผู้เสียหายกว่า 3,800 ราย ทำให้ Zipmex เองต้องประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซี ตั้งแต่วันที่ 20-28 กรกฎาคม

พอเป็นกรณี Zipmex ก.ล.ต. สุดเข้มงวดสั่งปรับ 1.92 ล้านบาท จากความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท ผิดกับเรื่องเหรียญ KUB ที่ไม่รู้มีใครเสียหายรึเปล่า แต่ปรับไปแล้วกว่า 15 ล้านบาท อย่างนี้เรียกได้หรือไม่ ว่าหน่วยงานกำกับ…สองมาตรฐาน

นักพัฒนาไทยตั้งใจทำธุรกิจ น่าจะช่วยสร้างสรรค์ พูดคุยอย่างจริงใจ
อย่าให้เขาถูกมองว่า เป็นผู้ร้าย ในสายตาใครบางคน เพียงเพราะ เด่น ดัง เกินหน้าเกินหน้า

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการและเลขานุการ ในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ถ้าอยากจะช่วยลดความเสียหาย หันไปมองแก๊งหุ้นปั่นบางบริษัท ออกข่าวสร้างกระแส ราคาบวกขึ้น 30% 2-3 วันติดต่อกัน บริษัทอ้างไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่มีนัยสำคัญ ท่าน เลขาฯ ก.ล.ต. ก็เชื่อ…สนิทใจอย่างนั้นหรือ?

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts