ไม่เห็นด้วยที่ คุณศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นเรื่องกับตำรวจเพื่อตรวจสอบคุณโน๊ส อุดม กรณีพูดล้อเลียน หรือพาดพิงรัฐบาล ในทอล์กโชว์ “เดี่ยว 13” เพราะถือเป็น #การคุกคามทางกฎหมาย ต่อผู้เห็นต่าง ขณะที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อคุณศรีสุวรรณ
.
รัฐธรรมนูญ 2560 และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน ดังนั้นการกระทำใด หากรัฐธรรมนูญไม่บัญญัติห้าม ประชาชนย่อมมีเสรีภาพที่จะกระทำได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะ ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในแสดงความคิดเห็น หรือต่อต้านโดยสงบหากเห็นว่ารัฐบาลบริหารงานผิดพลาดจนอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน การแสดงความคิดเห็นของคุณโน๊ส ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นของศิลปิน หรือเป็นการใช้ศิลปะในการแสดงความคิดเห็นโดยสันติและเปิดเผย
.
การฟ้องร้อง หรือการแจ้งความในลักษณะนี้ จึงอาจถือเป็นการ #ดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic Lawsuit to Anti Public Participation – #SLAPP) หรือฟ้องปิดปาก หรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง ทำให้หวาดกลัว และไม่กล้าแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติ รัฐบาลจึงควรมีท่าทีที่ชัดเจนในการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน ไม่ควรปล่อยให้มีการใช้กฎหมายเพื่อคุกคามผู้เห็นต่าง ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
.
อย่างไรก็ดีผู้ที่เห็นต่างจากคุณศรีสุวรรณ ก็ควรเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของคุณศรีสุวรรณ ไม่ควรใช้ความรุนแรงใด ๆ แต่ควรเรียกร้องรัฐบาล โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนให้เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน และในฐานะที่ประเทศไทยได้สมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (HRC) ปี 2025- 2027 ประเทศไทยจึงต้องแสดงความจริงใจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี #รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ #ควรเปิดใจกว้างเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน ไม่ปล่อยให้มีการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีที่เป็นลักษณะการฟ้องเพื่อปิดปากประชาชนตามอำเภอใจอีกต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม: ในการประชุมสภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ครั้งที่ 129 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) แห่งสหประชาชาติ ได้ตีความ #สิทธิของการชุมนุมโดยสงบ ตามความเห็นทั่วไปที่ 37 (General Comment No. 37) ขององค์การสหประชาชาติ มีต่อมาตรา 21 ของ กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เกี่ยวกับ #สิทธิขั้นพื้นฐานของการชุมนุมโดยสงบ หมายความว่า
“การเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบเพื่อแสดงตัวตนว่าคิดอะไร หรือเพื่อบอกเล่าความขัดข้องไม่พอใจ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคน สิทธิของการชุมนุมโดยสงบนี้ เมื่อรวมเข้ากับสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางการเมือง จะประกอบกันเป็นรากฐานของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย บุคคลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนต่างชาติ ผู้หญิง แรงงานอพยพ ไปจนถึงคนที่กำลังแสวงหาที่ลี้ภัย และเป็นผู้ลี้ภัยเต็มตัวแล้ว สามารถใช้สิทธิของการชุมนุมโดยสงบได้ ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบ ทั้งในสถานที่สาธารณะ สถานที่ส่วนตัว นอกอาคาร ในอาคาร และออนไลน์” คณะกรรมการยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “รัฐบาลของรัฐภาคีมีพันธะผูกพันในเชิงบวกตามกติกาสัญญานี้ในการเอื้ออำนวยให้มีการชุมนุมโดยสงบ” (https://www.ohchr.org/…/call-comment-no-37-article-21…)