วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงิน7 หายนะนักลงทุนหุ้น-คริปโตฯ รอบปี 2565 ผลงานชิ้นโบว์ดำ  ก.ล.ต. นั่งมองตามปริบๆ

Related Posts

7 หายนะนักลงทุนหุ้น-คริปโตฯ รอบปี 2565 ผลงานชิ้นโบว์ดำ  ก.ล.ต. นั่งมองตามปริบๆ

“…น่าแปลกใจว่าเพียงปีเดียว ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจล้นมือในการกำกับดูแลตลาดทุน ได้มากมายหลายข้อกลับทำงานอืดอาด อย่างเช่น Zipmex ในประเทศไทย มีการดำเนินการโปรแกรม ZipUp+ หรือมาร์เก็ตติ้งแคมเปญ นำเหรียญมาฝากไว้ก็จะมีดอกผลให้โดยโฆษณาว่า สามารถให้ผลตอบแทนได้ถึง 6-12% ต่อปี อีกทั้งปล่อยให้โฆษณามากว่า 2 ปี เป็นหายนะครั้งใหญ่ในช่วงกลางปี 2565 โดย ก.ล.ต. ได้แต่อ้าง  “ไม่มีการมาหารือกับ ก.ล.ต.ก่อนเลย สร้างเสียหายต่อนักลงทุนไทยร่วม 2,000 ล้านบาท ก.ล.ต.ก็บอกว่าไม่รู้ ไม่ทราบเรื่องมาก่อนและปรับเพียง 1,920,00 บาท และแม้กรณีศาลสิงคโปร์ “ตำหนิ” Zipmex ที่คืนเงินนักลงทุนอินโดนีเซียก่อนประเทศอื่น ดูเหมือน ก.ล.ต. ก็ไม่มีความเด็ดขาดในเรื่องนี้ ปล่อยให้นักลงทุนเผชิญชะตากรรมกันเอง แต่สำหรับเอกชนรายอื่นไม่ว่าจะเป็น Bitkub หรือ Satang Pro ปรับเกินกว่า 10 ครั้ง เป็นเงินรวมกันเกินกว่า 40 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เอกชนรายอื่นไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ให้นักลงทุนไทยเลย  การออกกฎระเบียบไร้ความสมดุล ทำให้เอกชนไทยเสมือนถูกบอนไซ ทำการแข่งขันกับกระดานเทรดเถื่อนต่างชาติยากลำบาก อีกทั้งแนวทางกำหนดขั้นต่ำขัดกับวินัยการลงทุนที่ดี  โดยเกณฑ์ใหม่จะต้องมีเงินลงทุนเดือนละ 50,000 บาท จึงจะสามารถทำเช่นเดิมได้ การนำโทเค็นหรือเหรียญต่างๆ มาซื้อขายบนกระดานที่ได้รับอนุญาต โดยเพิ่มเงื่อนไขห้ามซื้อขายโทเค็น 4 ประเภท อีกทั้งวิกฤติช่องโหว่ตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมองผ่านหุ้น MORE ถูกสังคมตั้งคำถามจำนวนมาก ว่าขาดความเด็ดขาดในการกำจัด พฤติกรรมการเชียร์หุ้น ชี้นำหุ้น และการปลุกปั่นมอมเมาให้นักลงทุนเล่นหุ้นปั่น…”

 1.นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ผงะ ก.ล.ต. ไม่รู้เรื่อง  ZipUp+ มาก่อน ด้านเอกชนโฆษณาเย้ย 2 ปีเต็ม

Zipmex ในประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการโปรแกรม ZipUp+ หรือมาร์เก็ตติ้งแคมเปญว่า หากลูกค้านำเหรียญมาฝากไว้ก็จะมีดอกผลให้ เป็นหายนะครั้งใหญ่ในช่วงกลางปี 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้แต่อ้าง  “ไม่มีการมาหารือกับ ก.ล.ต.ก่อนเลย” ส่อทำไม่รู้ไม่ชี้  โดย ก.ล.ต. ชี้ว่าได้รับแจ้งตอนมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ค.65    ทั้งที่ ก.ล.ต. มีอำนาจเต็มมือในการจัดระเบียบและดูแลนักลงทุนไทยภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล 2561

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตีมึนทั้งที่มีการโปรโมทแคมเปญ ZipUp+ มาร่วม 2 ปี ส่อไปในลักษณะเป็นโปรแกรมการลงทุนนอกกฎหมายไทย   

Zipmex  มีโปรแกรมแนะนำการลงทุน  ZipUp+ โดยโฆษณาว่า สามารถให้ผลตอบแทนได้ถึง 6-12% ต่อปี  ขึ้นอยู่กับชนิดของเหรียญที่นักลงทุนรายย่อย ผ่านการนำมาฝาก-ล็อคไว้ในระบบ  ZipUp โดย Zipmex รับเงินจากส่วนต่างของผลตอบแทนอีกทอดหนึ่ง  โดย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ แล้วมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย” เป็นการทำผิดกฎหมาย ใช่หรือไม่

โดยสาเหตุแท้จริงมาจากเงินที่นำไปลงทุนใน  Babel Finance จำนวน $45 ล้านและ Celsius $5 ล้าน   ทั้งที่มีรายงานว่าการลงทุนของ Babel Finance และ Celsius มีปัญหาขาดสภาพคล่องมานานนม  แต่ทาง Zipmex Thailand  ก็ไม่ได้ยุติการเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์ ZipUp+ ก่อนที่จะเป็นเรื่องเป็นดราม่าขึ้นมาด้วยซ้ำ

ก.ล.ต. ทำได้เพียงหารือ เล่นกระแสข่าวเหมือนเข้าใจหัวอกนักลงทุน แต่ไม่มีความคืบหน้าด้านการช่วยเหลือเหยื่อในเหตุสลดดังกล่าว เมื่อถึงเวลาขอเอกสารหลักฐานจากกระดานเทรด Zipmex กลับได้มาไม่ตรงปก ส่อปล่อยปละละเลย ไม่คิดใช้อำนาจทางการกฎหมายปรับให้เข็ดหลาบ ส่วนข้อหาค่าปรับที่หยิบยื่นให้ก็เพียงเงิน 1,920,00 บาท สวนทางกับมูลค่าเสียหายของนักลงทุนไทยร่วม 2,000 ล้านบาท ขณะที่ ก.ล.ต. มะงุมมะงาหรารอเพียงวันพิพากษาศาลสิงคโปร์ 2 ธันวาคม 2565 ให้ผ่านพ้นเวลาการหาผู้เสริมสภาพคล่องปูทางหาผู้ร่วมชะตากรรมอุ้มหนี้ นานร่วม 4 เดือน

ความเสียหายต่อนักลงทุนไทยมากถึง 2,000 ล้านบาท อีกทั้งปล่อยให้โฆษณามากว่า 2 ปี หาก ก.ล.ต. จะบอกว่าไม่รู้ ไม่ทราบเรื่องมาก่อน ก็เท่ากับเป็นการทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ แต่ถ้ารู้ ทราบเรื่อง แต่กลับนิ่งเฉย  จะเกรงใจทำไมกับบริษัทเอกชนรายนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางไหน นักลงทุนจะสามารถไว้ใจ “ท่านเลขา” ให้ทำงานกินภาษีหลายล้านบาทต่อปีได้อย่างไร

2.ปล่อยยาหอม…ลือเสริมสภาพคล่อง Zipmex แต่นักลงทุนไทยไม่เคยเห็นเงิน ตามมาด้วยข้อตกลงเชิงบังคับแสนประหลาด ก.ล.ต.ทราบหรือยัง?

Zipmex  เผชิญหน้ากับความประมาท ใช้เงินคนอื่นหากำไร สุดท้ายนักลงทุนไทยเจ็บหนัก ด้าน ก.ล.ต. ระเบียบเข้มข้น กฎหมายรัดกุม ถ้าท่านเลขาฯ มีความรู้ความสามารถ แล้วปล่อยให้คนไทย เจ๊งระนาวได้อย่างไร  ทำให้นักลงทุนจำนวนมากเจ็บตัว และเฝ้ารอความหวังกับข่าวลือตลอดมา

การโปรยยาหอมเริ่มต้นตั้งแต่ กระแส นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ  บุตรชายของ ประยุทธ มหากิจศิริ  ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ใน  Zipmex Asia Pte. Ltd. ในสัดส่วน 35,264 หุ้น และถือผ่านบริษัท วี เวนเจอร์ส เทคโนโลจีส์ จำกัด (บริษัทในเครือ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA)) อีกจำนวน 70,529 หุ้น โดย Zipmex Asia Pte. Ltd. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) ในสัดส่วน 93.23% และ นายเอกลาภ อีก 6.77% โยงผู้เป็นบิดาอย่าง ประยุทธ มหากิจศิริ จะตัดสินใจเสี่ยงเข้ามากู้วิกฤติ “ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย”  หรือไม่ ในเมื่อปัจจุบันตลาดคริปโตฯ อยู่ในช่วงขาลงอย่างมาก ประกอบกับปัญหาที่ผุดขึ้นมาตลอดปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นกรณี การล่มสลายของเหรียญ Luna และกระดานเทรด FTX  ยังไม่รวมถึงปัญหาที่ Zipmex เผชิญอยู่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องพฤติกรรมการเลี่ยงกฎหมายของ Zipmex เอาเงินลงทุนของลูกค้าไปหาประโยชน์ต่อ

ซึ่งต่อให้กู้วิกฤติได้ ลูกค้าจะยังเชื่อใจเอาเงินมาฝากไว้กับ Zipmex อีกหรือไม่ อีกทั้งทุกวันนี้กระดานเทรดของ “ซิปเม็กซ์” มีส่วนแบ่งการตลาดไม่ถึง 5% ของทั้งวงการด้วยซ้ำ

คำถามคือใครจะกล้าเอาเงินมาละลาย  

ในระยะหลังมาข่าวลือการระดมเงินทุนเสริมสภาพคล่องช่วยอุ้ม zipmex ยังออกมา หลายครั้งหลายครา แต่นักลงทุนไทยผู้เสียหาย ไม่เคยเห็นเงินจริงๆ สักครั้ง เกือบทุกครั้ง ก.ล.ต. เองก็เมินเฉยต่อข่าวลือไม่สามารถเรียกสอบถามความคืบหน้า ชี้แจงข้อเท็จจริงได้ เพราะอาจจะอ้างว่ารอความชัดเจนหลังวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ให้ผ่านพ้นเวลาที่ศาลสิงคโปร์สั่งคุ้มครองไปก่อน  การหาผู้เสริมสภาพคล่องปูทางหาผู้ร่วมชะตากรรมอุ้มหนี้นานร่วม 4 เดือน กระพือข่าวว่าจะมีตระกูลใหญ่ลงทุนเสริมสภาพคล่อง จนล่าสุดได้ล่วงเลยเวลาที่ศาลสิงคโปร์สั่งคุ้มครองมาแล้วจริงๆ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววใดๆ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 จากการรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า Zipmex Asia Pte. กระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย เตรียมที่จะถ่ายโอนการซื้อขายกิจการซึ่งมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการซื้อกิจการในครั้งนี้จะมาในรูปแบบการผสมผสานระหว่างเหรียญดิจิทัลและเงินสด ซึ่งเป็นหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูกิจการ

ในรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก อ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่ขอเปิดเผยตัวตน เปิดเผยว่า V Ventures ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (TTA) ภายใต้การบริหารงานของนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ได้ยื่นข้อเสนอเป็นเงินสดจำนวน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในส่วนที่เหลืออีก 70 ล้านจะจ่ายเป็นโทเคนดิจิทัล นอกจากนี้ ทางบลูมเบิร์ก ระบุอีกด้วยว่า กลุ่มทุนที่เสนอเงินช่วยเหลือจะได้รับสัดส่วนหุ้นประมาณ 90% ใน Zipmex

รายงานดังกล่าว ยังระบุถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่ Zipmex อาจจะได้รับจากข้อตกลง จะถูกนำไปใช้เพื่อทยอยปลดล็อกกระเป๋าเงินของลูกค้า Zipmex ภายในต้นเดือนเมษายนปีหน้า (2566)

อย่างไรก็ดี บลูมเบิร์กอ้างอิงถึงความปลอดภัยของแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูล ซึ่งสงวนความเป็นส่วนตัว เนื่องจากข้อมูลบางอย่าง ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดได้ 100% ฟังไปฟังมา ก็แสดงว่ายังเป็นข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน จะจริงหรือไม่จริงก็ยังไม่รู้

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ทางฝั่ง Zipmex มีความเคลื่อนไหวผ่านเงื่อนไขข้อตกลงใหม่ว่าผู้ที่ตกลงยอมรับข้อตกลงจะได้รับคำสัญญาว่าจะเงินคืนเต็มจำนวน แลกกับการที่ “ซิปเม็กซ์และสมาชิกของกลุ่มซิปเม็กซ์ และกรรมการ เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานไม่ว่าในประเทศสิงคโปร์หรือประเทศอื่นใด (“บุคคลที่เกี่ยวข้อง”) ไม่มีภาระผูกพัน หน้าที่ หรือความรับผิดชอบใดๆ ต่อท่าน ภายใต้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด” หรือพูดง่ายๆ เป็นภาษาคนปกติว่า

เราจะคืนเงิน แต่ท่านห้ามฟ้องเรา

ยิ่งไปกว่านั้นยังคืนเฉพาะเหรียญที่ฝากไว้เท่านั้น ถือว่าคืนแล้วก็แล้วกันไป ไม่มีการชดเชยค่าเสียโอกาสอะไรทั้งนั้น เรื่องแบบนี้ ก.ล.ต. ไทยรับรู้รับทราบหรือไม่ หรือรู้แล้วแต่ยังคงนิ่งเฉยอีก ไม่ออกมาแสดงความเห็นเพื่อปกป้องนักลงทุน หรือท่านจะยังวางเฉยกับเอกชนรายนี้เหมือนที่ทำมาตลอด…หรืออย่างไร?

3.ศาลสิงคโปร์ “ตำหนิ” Zipmex คืนเงินนักลงทุนอินโดนีเซียก่อนประเทศอื่น ก.ล.ต. ไทยทราบเรื่องหรือไม่? นักลงทุนไทยต้องเสียเปรียบไปถึงไหน?

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ศาลสิงคโปร์มีการนัดไต่สวน Zipmex Asia กรณีขอเลื่อนการชำระหนี้ การไต่สวนเป็นไปอย่างปกติ จนกระทั่งศาลถามถึงว่า ทำไม Zipmex Asia จึงนำเงินซึ่งควรจะเป็นเงินของส่วนกลางไปคืนให้กับผู้เสียหาย “เฉพาะ” ชาวอินโดนีเซียก่อนผู้เสียหายชาติอื่น ทนายความตัวแทนของ Zipmex ก็ได้แต่อ้ำอึ้งตอบคำถามไม่ได้ ศาลสิงคโปร์จึงตำหนิการกระทำของ Zipmex ว่า ทั้งๆ ที่ขอรับการคุ้มครองจากศาลแล้ว แต่ยังแอบทำการลับหลังศาล โดยเอาทรัพย์สินกองกลางที่ลูกค้าผู้เสียหายทุกคนมีส่วนเท่ากัน ไปชดใช้ให้กับลูกค้าเพียงกลุ่มเดียว อย่างนี้เท่ากับว่าประเทศไหนมีผู้บังคับใช้กฎหมายเข้มงวดกว่า ก็จะได้ประโยชน์มากกว่าประเทศอื่น

จากกรณีนี้ ผู้เสียหายในไทยตั้งคำถามว่า  ก.ล.ต. ไล่บี้อะไรช่วยนักลงทุนไทยได้บ้าง   ช่วยกระตือรือร้นกับกรณี Zipmex  ให้ได้สักครึ่งหนึ่ง เฉกเช่นการไล่บี้หาเหตุเตะตัดขากระดานเทรดเอกชนเจ้าอื่นบ้างก็ยังดี  เพราะไม่แน่ว่าหาก ก.ล.ต. มีอิทธิฤทธิ์มากกว่านี้ ป่านนี้ผู้เสียหายอาจจะได้รับเงินคืนเช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียไม่มากก็น้อย ทั้งน่าเสียดายแทนนักลงทุนไทยคนไทย และยินดีกับผู้เสียหายชาวอินโดนีเซียที่มีหน่วยงานกำกับดูแล ที่สามารถพิทักษ์ผลประโยชน์ของนักลงทุนบ้านเขาได้มากกว่าจริงๆ

4. เลือกปฏิบัติ มีอยู่จริง?

จากที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนไทยในกรณีของ Zipmex มีมากกว่า 2,000 ล้านบาท ก.ล.ต.แทบจะปล่อยเกียร์ว่าง โดยปรับ Zipmex ไปเบาะๆ เพียง 1.92 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ก.ล.ต. สั่งปรับเอกชนรายอื่นไม่ว่าจะเป็น Bitkub หรือ Satang Pro เกินกว่า 10 ครั้ง เป็นเงินรวมกันเกินกว่า 40 ล้านบาท ทั้งๆที่เอกชนรายอื่นไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ให้นักลงทุนไทย

แบบนี้เรียกว่าเลือกปฏิบัติได้หรือไม่?

ตัวอย่างเช่น เมื่อ 30 มิถุนายน 2565 ก.ล.ต. ออกคำสั่งด่วน สั่ง Bitkub Online ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดของไทย ก.ล.ต. ระบุว่า เหรียญ KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ให้ปรับรวมเป็นเงิน 15,201,000.00 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ว่าเหตุใด ก.ล.ต. พึ่งมาออกคำสั่งเช่นนี้ เนื่องจากเหรียญ KUB เปิดให้เทรดมาปีกว่าแล้ว และตัว ก.ล.ต. เองเป็นผู้อนุมัติเกณฑ์การลิสเหรียญเข้าสู่การเทรดเองกับมือ

การตัดสินใจลงดาบเรื่อง Listing Rule ของเหรียญ KUB ถูกตั้งคำถามว่า ก.ล.ต.ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน หรือในที่นี้คือกระดานเทรด มีหน้าที่ต้องไปพิจารณาเหรียญเป็นรายตัวหรือไม่ อย่างนี้ต้องพิจารณาเหรียญทุกเหรียญกว่าร้อยในตลาดด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

ตัดภาพกลับมาที่ Zipmex ซึ่งมี Zipmex Token (zmt) เป็นเหรียญของตัวเอง ที่หากใช้มาตรฐานการทำงาน ก.ล.ต.แบบเดียวกับ Bitkub ตัวเหรียญ ZMT เองก็ควรจะถูกตั้งคำถาม และติดตามจาก ก.ล.ต. ในเรื่องคุณสมบัติการพิจารณาคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ว่าปัจจุบันเหรียญ zmt ยังมีคุณสมบัติพอที่จะเทรดอยู่ในกระดานเทรดของ Zipmex อีกต่อไปหรือไม่ หรือ ก.ล.ต. จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่เคยทราบมาก่อนอีก ก.ล.ต. ก็ควรไปดูข้อมูล ซึ่งบอกอยู่ชัดเจนบนเว็ปไซด์ของ Zipmex เองว่า  การลงทุนที่ผิดพลาด (misuse of funds) เป็นสาเหตุหนึ่งที่เหรียญจะต้องถูกถอดออกจากกระดานเทรด (De-list)

ย้อนกลับมาดูที่ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลทำหน้าที่อย่างจริงจัง เอาการเอางาน จนผู้เสียหายในประเทศเขาได้รับเงินคืนไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ทางหน่วยงานกำกับของอินโดนีเซียเขาคิดได้ และสั่งห้ามเทรดเหรียญ Zmt บนกระดานเทรดอินโดนีเซียไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 แล้ว เป็นเพราะเขาใช้ไม้แข็งขนาดนี้ คนประเทศเขาถึงได้เงินคืน

แล้ว ก.ล.ต.ไทยมัวแต่ทำอะไรอยู่…?

คำถามที่ต้องถามดังดังคือ ก.ล.ต. มีแนวทางที่จะดำเนินการอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้างหรือไม่ หรือจะปล่อยให้สังคมครหาว่าท่าน เลือกปฏิบัติ

5. กฎเกณฑ์ประหลาด ออกมาหวังแต่จะทำหมันวงการ ไม่จริงใจไม่เคยส่งเสริมผู้ประกอบกิจการสินทรัพย์ดิจิทัล ตัดอนาคตประเทศไทยในการก้าวเป็นผู้นำวงการสินทรัพย์ดิจิทัล

5.1 ก.ล.ต. ออกกฎระเบียบไร้ความสมดุล   เน้นการกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวด มองไม่เห็นการส่งเสริมเอกชนไทยให้ขยายฐานธุรกิจบุกโกยเงินต่างชาติ แต่เอกชนไทยผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตเอง กลับถูกกระทำฝ่ายเดียว เสมือนถูกบอนไซ ทำการแข่งขันกับกระดานเทรดเถื่อนต่างชาติยากลำบาก 

อย่างเช่น การกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 5,000 บาทต่อธุรกรรม ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อกระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซี ด้อยค่าในการแข่งขันในตลาดไทย และตลาดโลก และยังส่อว่า… ให้ท้ายกระดานเทรดหุ้น โดยลืมคิดไปว่า นักลงทุนรายย่อยเขาหนีจากตลาดหุ้นไทยมา ก็เพราะพวกผีนักปั่นหุ้นครองเมือง

จากข้อมูลสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็น เรื่องการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล มีสาระสำคัญคือให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่อธุรกรรมขั้นต่ำ (Minimum purchase) 5,000 บาท ต่อธุรกรรมเพื่อจำกัดการเข้าถึงการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย เพราะถือเป็นสินทรัพย์มีความเสี่ยงสูง

ตัวอย่างผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหากมีการบังคับใช้หลักการที่เสนอ มีดังนี้

● กระทบสิทธิในการใช้บริการของผู้ซื้อขายที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า 5,000 บาท ต่อธุรกรรม ซึ่งคิดเป็นประมาณ 46% ของจำนวนผู้ซื้อขายทั้งหมด จากข้อมูลระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2565

● ผู้ซื้อขายจะเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการในต่างประเทศแทน เนื่องจากกระดานซื้อขายต่างประเทศไม่มีเกณฑ์ดังกล่าว อีกทั้ง ก.ล.ต.เองก็ไม่มีอำนาจจะไปบังคับอะไรกับกระดานเทรดต่างชาติได้

● เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทยที่จำกัดให้การซื้อหุ้นต้องซื้ออย่างน้อย 100 หุ้น (lot size) ซึ่งตลาดหุ้นไทยที่มีหุ้นกว่า 800 ตัว จะมีหุ้นกว่า 700 ตัว ที่มีราคาต่ำกว่า 50 บาท ทำให้สามารถสรุปได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้การลงทุนในหุ้นไทยทำได้ง่ายกว่าในสินทรัพย์ดิจิทัล

● อาจทำให้เกิดคู่ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ใช่เงินบาท เพื่อให้สามารถกำหนดธุรกรรมที่มูลค่าเทียบเท่าต่ำกว่า 5,000 บาทได้ เนื่องจากการพิจารณามูลค่า จะพิจารณาจากการซื้อด้วยเงินบาทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และไม่รวมถึงการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน

● เนื่องจากผู้ที่เริ่มต้นซื้อขายจะต้องเริ่มที่ขั้นต่ำ 5,000 บาท ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามาถกระจายสมัครหลายๆ ผู้ให้บริการได้ เนื่องจากต้องรวมเงินให้ครบกำหนดขั้นต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ซึ่งมักจะเป็นผู้ให้บริการที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในเวลานั้น ผู้ประกอบการหน้าใหม่ก็จะเกิดได้ยาก และสุดท้ายก็จะไม่มีเกิดแข่งขัน ซึ่งผู้ที่เสียประโยชน์คือลูกค้าหรือนักลงทุนนั่นเอง

● แนวทางกำหนดขั้นต่ำขัดกับวินัยการลงทุนที่ดี ที่มักจะเป็นการถัวเฉลี่ยลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ในช่วงเวลาที่สม่ำเสมอ (DCA) เช่น แบ่งการลงทุน 10 สินทรัพย์และซื้อเพิ่มทุกเดือน แต่หากเป็นเกณฑ์ใหม่จะต้องมีเงินลงทุนเดือนละ 50,000 บาท จึงจะสามารถทำเช่นเดิมได้

5.2 การเพิ่มเงินทุนแรกเข้าและเพิ่มเงินดำรงกองทุน (Net Capital Reserve) ในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทาง ก.ล.ต.มีการให้เหตุผลอย่างไม่สอดคล้อง และไม่ได้สะท้อนความเสี่ยง (Risk-based) แบบที่ ก.ล.ต.พยายามบอก ดูแต่จะเป็นการดันเพดานให้ผู้ประกอบการต้องมีภาระในการเพิ่มเงินทุนในการเริ่มประกอบกิจการ และเก็บเงินเข้ากองทุนให้เยอะไว้ก่อน เผื่อในกรณีผู้ประกอบการนำเงินลูกค้าไปใช้ทำอย่างอื่นที่ไม่ได้อนุญาตแล้วพลาดอีก จะได้มีเงินกองทุนส่วนนี้จ่ายเอง ก.ล.ต.จะได้ไม่ต้องมาคอยหลบเลี่ยง และปกป้องให้อย่างทุกวันนี้

การกำหนดเงินแรกเข้าและกองทุนให้มากขึ้นนั้น หากมองเผินๆ จะเป็นเรื่องที่ดีกับผู้ลงทุน เพราะจะได้มีเงินชดใช้ในกรณีที่เกิดเรื่องขึ้น แต่ถ้ามองลึกลงไปในมุมผู้ประกอบการที่ทำตามกฎและอยู่ในกติกาอยู่แล้ว จะเป็นการสร้างภาระให้ผู้ประกอบการอย่างไม่จำเป็นและมากเกินความจำเป็น ซึ่งการดำรงเงินกองทุนแบบเดิมก็เหมาะสมกับการประกอบกิจการตามปกติอยู่แล้ว การผลักดันหลักเกณฑ์นี้จึงเป็นการสร้างภาระให้กับคนทั้งวงการ เพื่อช่วยผู้ที่ไม่ทำตามกติกาตั้งแต่แรก อย่างที่เค้าว่าปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง

5.3 เมื่อ 11 มิถุนายน 2564  ก.ล.ต. ได้ออกกำหนดเงื่อนไขสำหรับการนำโทเค็นหรือเหรียญต่างๆ มาซื้อขายบนกระดานที่ได้รับอนุญาต โดยเพิ่มเงื่อนไขห้ามซื้อขายโทเค็น 4 ประเภท ได้แก่

1. Meme Token: กลุ่มโทเค็นที่ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจน แต่อาศัยกระแสโลกโซเชียล

2. Fan Token: โทเค็นสำหรับการสนับสนุนตัวบุคคล

3. NFT: โทเค็นที่มีความเฉพาะตัว ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือสิทธิ์ในงานต่างๆ

4. Utility Token ที่ออกโดยผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายเอง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

หลังจากบังคับใช้กฎดังกล่าว ประชาชนและเอกชนต่างตั้งคำถามว่าห้ามทำไม ห้ามเพื่อปกป้องนักลงทุน หรือต้องการที่จะทำหมันวงการคริปโตกันแน่ ยกตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ อย่างกรณี Fan Token และ NFT ให้ลองนึกภาพว่าถ้าทางต้นสังกัดของตัวศิลปินเปิดขายคูปอง โดยกำหนดให้ผู้ที่มีคูปอง 10 ใบสามารถแลกตั๋วรับชมคอนเสิร์ตได้ สิ่งนี้สามารถทำได้ปกติไม่ผิดแปลกอะไร แต่ถ้าต้นสังกัดอยากทำโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน สิ่งนี้จะถูกเรียกว่าเป็น Fan Token และถูก ก.ล.ต.ห้ามไม่ให้มีการซื้อขายเด็ดขาด หรือให้ลองนึกภาพว่าการสะสมของที่ระลึกต่างๆ ที่ปกติสามารถทำได้ แต่พอทำเป็นรูปแบบดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน สิ่งนี้จะถูกเรียกว่า NFT และถูก ก.ล.ต. ห้ามไม่ให้ซื้อขายเช่นกัน อย่างนี้คงต้องถามว่าแล้วเทคโนโลยีบล็อกเชนผิดอะไร สิ่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องปกติทั่วไป แต่พอทำด้วยบล็อกเชนกลับถูกห้าม มันเพราะอะไร

ความเป็นจริง เอกชนไทยมีความพร้อม บางอย่างเอกชนไทยเริ่มทำก่อนต่างชาติด้วยซ้ำไป อย่างกรณีตลาดซื้อขาย NFT เอกชนไทยอย่างน้อย 3 เจ้าเปิดตัวไปแล้ว แต่ ก.ล.ต.ก็มาไล่หวดกันตามหลัง ส่งผลให้วงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ไม่เท่าทันโลก นักลงทุนจึงหนีไปสมัครใช้กระดานเทรด หรือตลาดซื้อขายของต่างชาติ เพื่อจะได้ลงทุนได้ตามความต้องการ โดยไม่ติดข้อจำกัดใดๆ ของ ก.ล.ต.  ทำให้การแข่งขันของเอกชนไทย ไม่ว่าจะเป็นกระดานเทรด หรือวงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเสียหายมหาศาล เม็ดเงินไหลออกไปเข้ามือต่างชาติทันที

6.ไร้การควบคุมการดานเทรดเถื่อนของต่างชาติ คนไทยถูกโจรปล้น 1.3 แสนราย

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเกิดการล่มสลายของกระดานเทรดต่างชาติอย่าง FTX ทำให้นักลงทุนไทยจำนวนมากได้รับเสียหาย ก.ล.ต. ก็น่าจะทราบดี ว่ากระดานเทรดใดบ้างที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ คำถามคือ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. เคยมีมาตรการ หรือการดำเนินการใดๆ ที่เด็ดขาด ออกมาจัดการกระดานเทรดเถื่อนเหล่านี้บ้างหรือไม่

สื่อทั่วโลกรายงานปัญหาที่แพลตฟอร์มเทรดคริปโทเคอร์เรนซี  FTX เจ๊งจนต้องยื่นล้มละลาย   ล่าสุดมีการเปิดเผย “เหยื่อ” เป็นรายประเทศ เมื่อเว็บไซต์ Gecko เปิดเผยรายชื่อ 30 ประเทศที่มีอัตราการเข้าแพลตฟอร์ม FTX.com รายเดือนสูงที่สุด ระหว่างเดือน ม.ค.- ต.ค. 2022 

ปรากฏว่า 3 อันดับแรกในฝั่งเอเชียที่ได้รับความเสียหาย  นำโดย “เกาหลีใต้” 2.972 แสนราย “สิงคโปร์” 2.417 แสนราย และ “ญี่ปุ่น” 2.235 แสนราย ก็คิดเป็นสัดส่วนถึง 16% ของปริมาณการเทรดทั้งหมดของกระดานเทรดเถื่อน FTX

ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 13 โดยมีจำนวนคนเทรดในแพลตฟอร์มนี้อยู่ที่เกือบ 130,000 คนต่อเดือน ซึ่งหมายความว่าการล้มละลายของ FTX ทำให้มีคนไทยบาดเจ็บ (ทางตรง) มากถึง 1.3 แสนราย

กรณีของ FTX ซึ่งถือเป็นการ “ซ้ำ” แผลเดิมของวงการคริปโตเคอร์เรนซีที่ยังไม่หายดีจากเคส Terra, LUNA และ UST เมื่อช่วงกลางปีนี้ 

แต่ในกรณี ZIPEX ที่ ก.ล.ต. ไม่สามารถช่วยเหลือนักลงทุนไทยได้ แต่อย่างใด กลับนิ่งเฉยเป็นทองไม่รู้ร้อน ทั้งๆ ที่ ก.ล.ต. เองก็ทราบดีอยู่แล้ว ว่ากระดานเทรดไหนไม่ได้รับอนุญาตแต่ก็ปล่อยไว้ ไม่มีมาตรการรัดกุมเด็ดขาด จนเกิดปัญหา มีนักลงทุนไทยเสียหายซ้ำซากอีกกว่า 130,000 ราย

อย่าว่าแต่การสนับสนุนส่งเสริมวงการการสินทรัพย์ดิจิทัลเลย เอาแค่ปกป้องประชาชนยังไม่เคยทำได้ ที่ให้คนไทยมีคำถาม

แล้วจะมี กลต. ไว้ทำไม…?

7.ช่องโหว่หุ้นปั่น ช่องโหว่หุ้น more  เจ๊งได้ไม่มีขั้นต่ำ ก.ล.ต. (ไม่ได้ตั้งกฎ)

การบริหารจัดการในฐานะผู้ควบคุมการลงทุน ควรจะรู้เท่ากัน หุ้นเน่า หุ้นปั่น ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่แค่ออกกฎระเบียบ จับได้บ้างไม่ได้บ้าง บริษัทในตลาดรายใดปั่นหุ้น ไม่มีรายได้ แต่ดันทำราคาขึ้นเป็น 100% – 1000% ก็ควรจะเข้าตรวจสอบและตั้งโต๊ะแถลงข่าว แบบไล่ล่าว่ามีเหตุผลอันใดกันแน่ ใครเดือดร้อน ติดดอยเสียหาย ทั้งที่บริษัทไม่มีกำไร แค่ขายฝันโครงการใหญ่ ปั่นกันได้อย่างน่าไม่อาย หลายครั้งคนในตลาดหุ้นก็เห็น แต่แปลกใจที่ ก.ล.ต.กลับไม่เห็น?

วิกฤติช่องโหว่ตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมองผ่านหุ้น MORE ถูกตั้งคำถามจำนวนมาก  พฤติการณ์ฝั่งผู้ซื้อดันราคาหุ้น MORE ให้ราคาสูงชนเพดานโดยใช้เงินจากการบัญชีเงินสดที่มีกำหนดจ่ายช้าออกไป 2 วันได้  และใช้ตัวแทนเปิดบัญชีกระจายอยู่ในโบรกเกอร์ประมาณ 11 แห่งดันราคาหุ้น MORE  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565

เมื่อสะสมหุ้นต้นทุนถูกๆ เอาไว้แล้ว ก็รอรับการโยนขายใส่ของผู้ขาย กลายเป็นปรากฎการณ์แลกเปลี่ยนหุ้นและเงินกัน ตามเวลาที่สุดแสนจะบังเอิญ ฝั่งดันราคาใช้ต้นทุนราวๆ 1,500 ล้านบาท เพื่อแลกกับเงินฝั่งขายราวๆ 4,500 บาท หักลบกลบหนี้ ไม่รู้สุดท้ายเงินหมุนอยู่กระเป๋าใคร ต่อหน้าต่อตา ก.ล.ต. ไทย ในเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีนักลงทุนรายย่อยพลัดหลงอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

แต่ ก.ล.ต. รับผิดชอบอะไรได้บ้างหรือไม่..?

ปฏิบัติการยืมเงินโบรก พยุงราคาขายทำกำไร ในวงเล็บที่ว่า “หากฝั่งซื้อและขายเป็นขบวนการเดียวกันหรือไม่”  คือช่องโหว่ใหญ่ที่ ก.ล.ต. ทราบว่ามีรู้รั่ว แต่เปิดไว้เพื่ออะไร

ถ้าจะให้ตอบแบบง่ายๆ คือ ก.ล.ต. รับทราบเรื่องกฎระเบียบการวางหุ้นประกันเพื่อขอมาร์จิ้นเทรดอยู่แล้ว แต่ปล่อยไว้ให้เป็นช่องโบรกเกอร์หารายได้จากค่าคอมมิชชั่นตามปกติ โดยคิดแค่ว่าไม่มีใครจะเล่นงานช่องโหว่ หรือ ผลประโยชน์มันไม่เข้าใครออกใคร ในอดีตคิดว่ากรณีวางหุ้น เพื่อขอเงินสินเชื่อไม่ถูกนำมาใช้จริง แต่วันนี้ถูกใช้เพื่อโจมตีกลุ่มทุนโบรกเกอร์แล้ว และใครรับประกันได้บ้างว่าไม่มีการนำเงินสินเชื่อก้อนนี้ มาเล่นแร่แปรธาตุปั่นหุ้นชาวบ้าน ปั่นหุ้นตัวเอง ขายฝัน ฟันสตอรี่หุ้น จ้างออกข่าว หวังหลอกลวงรายย่อยไปติดดอย และเมื่อรายย่อยขาดทุนหนักติดดอย ก็ใช้ประโยคคลาสสิคปลอบใจ คือ High Risk High Return หรือไม่ผู้ควบคุมกฎก็แถลงข่าวสักชิ้นสองชิ้น ชี้ว่า เรามีมาตรการแคลชบาลานซ์ ระงับความร้อนแรงอยู่แล้ว ต้องตรวจสอบเองนะจ๊ะ

อีกมุขที่ได้ยินบ่อยครั้งสอบถามความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญไปยังบริษัทจดทะเบียนแล้ว ได้รับรายงานกลับมาว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ สุดท้ายเรื่องเงียบหายไป บทสรุปคือชาวดอยเต็มตลาดหุ้น นักลงทุนรายย่อยจึงออกจากตลาดนี้ไปสู่ตลาดอื่นกันโดยไม่ลังเล เพราะจะฝากความหวังที่ ก.ล.ต. ไว้ทำไม เมื่อทำผลงานได้เพียงเท่านี้

นี่คือบทพิสูจน์ ตลาดหุ้นไทย และ ก.ล.ต.  ดูแลมา 40 ปี บัญชีคนเทรดหุ้นเติบโตอย่างอุ้ยอ้าย ต่อไปต้องพิสูจน์อีกมากว่า มาตรการจับปรับโจรปล้นรายย่อย จะแข็งขันเทียบเท่าการยื่นมือตรวจสอบช่วยรายใหญ่หรือไม่

ส่วนเครื่องมือ AI ด้านความโปร่งใสที่ซุกไว้ใช้เงียบๆ  ก็น่าจะเอามาใช้แล้วเผยข้อมูลให้รายย่อยได้ทราบข้อมูลบ้าง ไม่ใช่ใช้แค่เรื่องมาตรการแคลชบาลานซ์ ที่นักลงทุนยังงุนงง ว่าหุ้นบางตัวครบเกณฑ์แล้ว แต่ปิดตลาดบอกไม่ติด หุ้นบางตัวแค่เฉี่ยวๆ เกณฑ์ สุดท้ายติดเฉยๆ รายย่อยห่อข้ามวัน เปิดตลาดเช้าอีกวัน หน้าชา กระเป๋าแฟบ

หุ้นตัวเล็กตัวร้าย หุ้นร้อน หรือหุ้นที่มีพฤติกรรมปั่น ทั้งโบรกเกอร์และนักลงทุนต่างก็รู้ว่าหุ้นตัวไหนปั่น เพียงแต่ตลาดหลักทรัพย์เท่านั้นที่ไม่ค่อยจะรู้ หรือรู้แล้วทำอะไรไม่ได้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะทำหน้าที่กำกับดูแลป้องกัน และปราบปรามพฤติกรรมปั่นหุ้นขนาดไหนก็ตาม แต่การที่หุ้นปั่นยังอาละวาด สร้างความเสียหายให้นักลงทุนจนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะทั้ง 2 หน่วยงานขาดความเด็ดขาดในการกำจัด พฤติกรรมการเชียร์หุ้น ชี้นำหุ้น และการปลุกปั่นมอมเมาให้นักลงทุนเล่นหุ้นปั่น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางคนสร้างราคาให้ตัวเอง โดยอวดอ้างเป็นกูรูหุ้น แนะนำหุ้นร้อน เชียร์ให้นักลงทุนเข้าไปเล่นอย่างโจ๋งครึ่ม และบางคนเป็นมือปืนรับจ้าง รับใบสั่งจากขาใหญ่ ในการเชียร์หุ้นรายตัวกลุ่มคนในคราบสื่อหลายสำนักนำเสนอข่าวหุ้นอย่างหวือหวา บางแห่งเต้าข่าว ปล่อยข่าวลือ สร้างข้อมูลเท็จเพื่อปั่นราคาหุ้น แล้วนักลงทุนรายย่อยจะเชื่อมือการทำงานของผู้คุมกฎได้อย่างไร…นี่คือคำกล่าวจากสื่อที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการหุ้น สุนันท์ ศรีจันทรา

สุนันท์ ศรีจันทรา

สรุป :

ในช่วงปีที่ผ่านมานั้น ก.ล.ต.ได้เดินสายยิ่งกว่านางงามกับ 4 เวทีสากล  ชุบตัวผู้ทรงภูมิ เคลมผลงานเอกชน เดินตามตูดสิงค์โปร์ ลืมเหลียวหลังโศกนาฏกรรม กระดานเทรดเถื่อนรุกไทย-หุ้นปั่นเม่าตายเป็นเบือ

เลขาธิการ ก.ล.ต. ขยันร่วมงานต่างชาติเสียเหลือเกินในช่วงปลายปี 2565  เดินสายสวยๆ ยิ่งกว่านางงามฯ  อาทิ เข้าร่วมงานนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัล ในงานสัมมนานานาชาติ Future Investment Initiative (FII) ครั้งที่ 6 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565  หวังสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนานโยบาย และการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม ชูจุดยืนยึดหลักการส่งเสริมและการพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุน

งานนี้ท่านเลขาธิการ เข้าร่วมนำเสนอความเห็นภายใต้ หัวข้อ “Writing the Rules of Crypto” โดยเน้นย้ำว่าการออกร่างประกาศหลักเกณฑ์หรือแนวคิดต่าง ๆ จะดำเนินการจัดให้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชน ซึ่ง ก.ล.ต. พร้อมที่จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ด้วย ก.ล.ต. ยึดถือนโยบายการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนานโยบาย และการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม

น่าขันที่โชว์ออฟบอกรับฟังความเห็น รักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมและควบคุม เพราะที่ผ่านมามีแต่ออกกฎแปลกๆ ที่ท่านขยันเสนอขึ้นมา เหมือนจะบอนไซ ไม่ให้วงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเติบโต ข่มเหงแต่เอกชนผู้ได้รับใบอนุญาต แต่ไม่เคยเด็ดขาดกับกระดานเทรดเถื่อน

เลขา ก.ล.ต. ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า บัญชีการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จากปี 2562 ซึ่งมีประมาณ 100,000 บัญชี เป็นประมาณ 3 ล้านบัญชี ภายในเวลา 3 ปี  ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้เวลากว่า 40 ปี  จึงมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในจำนวนใกล้เคียงกัน

นี่ท่านเคลมผลงานเอกชนหรือไม่ ที่เอกชนทุ่มเสี่ยงลงทุน โปรโมท และการให้ความรู้ของอินฟลูเอนเซอร์ไทย ต่างเป็นกำลังหลักต่อการส่งเสริมการลงทุนคริปโตฯ เป็นอย่างมาก ผลงานเหล่านั้นได้ส่งผลให้ต่างชาติเชื่อมั่นต่อวงการคริปโตฯ ไทย งานนี้ ก.ล.ต. ควรจะต้องขอบคุณน้ำใจเอกชนหรือไม่  ที่ได้ร่วมแสดงพลังโปรโมทและให้ความรู้ขยายวงการคริปโตฯ ไทย ส่ง ก.ล.ต. ขึ้นเวทีโลกอย่างน่าชื่อตาบาน ผลงานเต็มกระบุง

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังเข้าร่วมงานสัมมนาและนิทรรศการ Singapore FinTech Festival 2022 (SFF 2022) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2565 ณ Singapore EXPO สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต. และความคืบหน้าในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในตลาดทุนไทย รวมทั้งติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและการยกระดับการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุนไทยสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล”

ท่านเลขาฯ กล่าวว่า ความคืบหน้าในดำเนินโครงการต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา เช่น โครงการ Digital Infrastructure ในตลาดทุนไทย  ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บูธ ก.ล.ต. ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งผู้ลงทุน ประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจ

แผ่นดินสิงคโปร์อาจไม่ทำให้ เลขา ก.ล.ต. ตะขิดตะขวงใจสักเท่าไหร่ เพราะขนาดอยู่ในประเทศไทย ก.ล.ต. ก็อาจจะหลงลืมไปด้วยซ้ำว่า ยังมีผู้เสียหายจากการระดมเงินเข้า  Zipmex Ziplock Zipup+ ถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จากกรณีความเสียหาย 2,000 ล้านบาท โดยกรณีดังกล่าวเมื่อ ก.ล.ต. จะไปเหยียบเวทีนานาชาติ บนแผ่นดินประเทศใดก็ตาม คำว่า “ก.ล.ต.ไม่เคยปรึกษาหารือมาก่อน” ยังดังก้องในหูในหมู่นักลงทุนอยู่

นั่นแสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถหรือไม่ ในการควบคุมจัดการความเสี่ยง โดยรู้ไม่เท่าทันกลเกมส์กระดานเทรดเอกชนรายดังกล่าว

และที่ ก.ล.ต. บอกว่า จะรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมกับควบคุม แต่ตอนไปลอกกฎจาก MAS (The Monetary Authority of Singapore) ก็ดันลอกเน้นแต่ฝั่งควบคุม แต่ดูเหมือนจะไม่มีความคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมวงการสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยในปี 2563 สิงคโปร์ได้ตรากฎหมาย Payment Services Act (PSA) หรือกฎหมายบริการชำระเงิน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบชำระเงินหลากหลายรูปแบบ โดยรวมถึงการกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Virtual Asset Service Providers) เป็นการให้บริการทางการเงินประเภทหนึ่งตามกฎหมายที่ต้องได้รับอนุญาตจาก MAS (The Monetary Authority of Singapore) และที่ผ่านมา MAS ก็ได้ให้ใบอนุญาตในหลายรูปแบบแก่ตลาด คริปโตฯ ในประเทศเพื่อหวังจะดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ

นโยบาย กฎหมายแนวส่งเสริมวงการแบบนี้ ก.ล.ต. ไทย ไม่ชอบ ไม่เอา

ต่อมาต้นปี 2565 พบว่า MAS ได้มีแผนขยายขอบเขตการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเพิ่มประเด็นการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากการลงทุนในคริปโตฯ เช่น จำกัดการโฆษณาในบางลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคริปโตฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นโฆษณาผ่านตู้ ATM ที่มีการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่ง ก.ล.ต. ก็ได้ ควบคุมการโฆษณาเมื่อ 1 กันยายน 2565 ตามหลัง  MAS  ทั้งการโฆษณาในเชิงแจ้งความเสี่ยงชัดเจน และการต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและค่าใช้จ่ายในการโฆษณา รวมถึงรายละเอียดการจ้างบุคคลที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการ 

หรือเรียกง่ายๆ ว่าคุมเข้มหากโฆษณาผ่านการจ้าง Blogger หรือ Influencer จะต้องรายงานทั้งหมดต่อ ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และเงื่อนเวลา ที่กำหนด ซึ่งไม่ต่างจาก MAS ที่ไม่อนุญาตให้ใช้อินฟลูเอนเซอร์

เรื่องราวทั้งหมดนั้นทำให้ประชาชนรู้สึกแปลกใจว่า แค่เพียงปีเดียว จะเกิดปัญหาต่อการทำหน้าที่ของ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจล้นมือในการกำกับดูแลตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ ได้มากมายหลายข้อขนาดนี้ ไม่เพียงแต่เอกชนไทยเสียโอกาส แต่ยังมีประชาชนมากมายที่เสียหาย และรอความช่วยเหลือจาก ก.ล.ต. อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน…

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts