วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าวประหยัด” ซัด ป.ป.ช.มติอัปยศ ๔ ต่อ ๔ กล่าวหาว่าผิดอาญา ไล่ออก หนึ่งเดียวในโลก!

Related Posts

ประหยัด” ซัด ป.ป.ช.มติอัปยศ ๔ ต่อ ๔ กล่าวหาว่าผิดอาญา ไล่ออก หนึ่งเดียวในโลก!

“…แจงถี่ยิบ การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง จงใจละเมิดต่อ ดร.ประหยัดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและต่อเนื่อง  ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มีการจงใจตีความกฎหมายโดยบิดเบือนความถูกต้องชอบธรรม และบังคับใช้กฎหมายผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ร่างกฎหมายโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะเข้าข่ายการบังคับใช้กฎหมายขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.๒๕๖๐ ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และขัดแย้งกับหลักการ การดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา…”

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

ดร. ประหยัด ซัด ป.ป.ช.มติอัปยศ ๔ ต่อ ๔ กล่าวหาว่าผิดอาญา ไล่ออก  มติ ป.ป.ช.ที่บิดผัน ๔ ต่อ ๔ ผลมีความผิดทางอาญาและไล่ออก หนึ่งเดียวในโลก สุดอัปยศ (แม้ฟุตบอลเสมอกัน ๔ ต่อ ๔ ยังต้องยิงลูกโทษ)

ดร. ประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลุยต่อยื่นเรื่องคัดค้านมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ๔ ต่อ ๔  เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ  และไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ

เมื่อวันที่ ๖  มกราคม ๒๕๖๖ ดร.ประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่อง ขอคัดค้านการกระทำอันเป็นการจงใจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และเป็นการจงใจละเมิดอย่างร้ายแรงและต่อเนื่อง  ขอให้หยุดการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขอให้ทบทวนแก้ไขมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.อันไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ และขอให้เพิกถอนหนังสือไล่ออกจากราชการ ฉบับลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕

สืบเนื่องมาจาก ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการประชุมครั้งที่ ๖๖/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ เรื่องชี้มูลความผิด ดร.ประหยัด พวงจำปา ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ  โดยที่ประชุมพิจารณาแล้ว ลงคะแนนเสียงเป็น ๒ ฝ่ายเท่ากัน มีมติ ๔ ต่อ ๔ เสียง ดังนี้

๑.ฝ่ายแรก ๔ เสียง เห็นว่าทรัพย์สินของ นางธนิภา พวงจำปา ภรรยาไม่ว่าจะเป็นบัญชีธนาคาร เงินลงทุนในบริษัท ๖ บริษัท และห้องชุดประเทศอังกฤษ เป็นทรัพย์สินที่นายประหยัด พวงจำปา ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ

๒.ฝ่ายที่สอง ๔ เสียงเห็นว่า นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.สังกัดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการและกำกับดูแลกิจการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต และภารกิจสนับสนุนเป็นงานหลัก ซึ่งไม่เอื้อโอกาสที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน และจากการไต่สวนยังไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ทรัพย์สินรายงานเงินฝากของนางธนิภา พวงจำปา ภรรยา และเงินลงทุนในบริษัท ๖ บริษัท ห้องชุดที่ประเทศอังกฤษ เป็นการได้ทรัพย์สินมาโดยสืบเนื่องจาการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของนายประหยัด พวงจำปา ผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ทั้งอนุกรรมการไต่สวน ไม่มีการไต่สวนตามหน้าที่ว่า ดร. ประหยัด พวงจำปา ได้ทรัพย์สินโดยทุจริตอย่างไร

ประธานฯ จึงสรุปว่าผลการลงคะแนนเสียงเมื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช.ฝ่ายที่หนึ่งจำนวน ๔ เสียงซึ่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการป.ป.ช.เท่าที่มีอยู่ว่า ดร. ประหยัด พวงจำปา ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ

เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ ดร.ประหยัด พวงจำปา ได้มีหนังสือ เรื่องโต้แย้งการลงมติของคณะกรมการ ป.ป.ช.ที่ไม่ชอบ ไม่สุจริตด้วย

ต่อมากรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า การลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งตามวรรคสอง กำหนดให้นำมาใช้บังคับกับการลงมติเพื่อมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติด้วยโดยอนุโลม

ดังนั้น การลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีนี้ มีกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน ๔ เสียง ซึ่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (๘ เสียง) มีความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ การลงมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ จึงต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน ๔ เสียงดังกล่าว ว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๒๓ โดยประธานในที่ประชุมไม่ต้องออกเสียงชี้ขาดตามที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้าง

ดร.ประหยัด พวงจำปา ไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับข้อพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าว  ดังนี้

ข้อ ๑. การประชุมไม่มีมติเสียงข้างมาก คะแนนเสียงเท่ากัน ผลของการลงมติไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเป็นเอกฉันท์ หาข้อยุติไม่ได้ การประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ครั้งที่ ๖๖/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ นั้นมีมติ ๔ ต่อ ๔ เท่ากัน โดยไม่มีเสียงข้างมาก และไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีฝ่ายใดแพ้ ไม่มีฝ่ายใดชนะ คะแนนเสียงเท่ากัน  แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับชี้มูลความผิด ส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน และไล่ออกจากราชการ การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง ดร.ประหยัด จงใจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและเป็นการจงใจละเมิดต่อ ดร.ประหยัดฯ อย่างร้ายแรง  ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๒๒ เป็นเรื่องการลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปให้ใช้คะแนนเสียงข้างมากของจํานวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ซึ่งสอดคล้องกับ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๑๘

ส่วนมาตรา ๒๓ นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญพิเศษและเป็นการยกเว้นที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒

“เว้นแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่น” กล่าวคือ เป็นการลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีโทษในทางอาญา กรณีมีคะแนนเสียงเท่ากันประธานในที่ประชุมไม่มีสิทธิออกเสียงชี้ขาด  ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๑๙ และมาตรา ๒๓ เป็นกฎหมายที่บัญญัติเรื่องสำคัญเป็นพิเศษและเป็นการลงมติที่มีโทษในทางอาญา กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิของเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเรื่องชี้ขาดเหมือนเรื่องทั่วไปตามมาตรา ๒๒ ดังนั้น มติที่ออกเสียงตามมาตรา ๒๓ นั้นต้องการมติที่ชนะเป็นเอกฉันท์เท่านั้น เช่น ๕ ต่อ ๓ หรือ ๖ ต่อ ๒ ถึงจะชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาได้ มิเช่นนั้นจะต้องยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ถูกกล่าวหาตามหลักการดำเนินคดีอาญาทั่วไปอันเป็นสากลใช้ทั่วทุกประเทศ

ในการตีความกฎหมายตามตัวอักษร คำว่า “ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” นั้น ต้องหมายถึงหรือแปลได้ว่าต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ และต้องไม่ใช่มีมติเท่ากัน ดังเช่น ๔ ต่อ ๔ อย่างแน่นอน หากเท่ากันก็ไม่ใช่มติที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ เพราะไม่มีฝ่ายใดแพ้ ฝ่ายใดชนะ และจะถือเอาประโยชน์แห่งเสียงข้างมากไม่ได้

*** คำว่า “ไม่น้อยกว่า” แปลความหมายว่า “มากกว่า” ไม่ได้แปลความหมายว่า “เท่ากัน”อย่างแน่นอน***

ถ้าบุคคลใดแปลความหมายว่า “เท่ากับ” และ/หรือ “เท่ากัน” แล้ว ถือว่าเป็นการตีความหรือแปลความหมายให้บิดผันจากกฎหมายสิ่งที่ถูกต้อง หรือความถูกต้องที่แท้จริงเพื่อมุ่งประสงค์ร้ายโดยไม่สุจริต และไม่เป็นธรรม และจงใจประสงค์ให้ร้ายผู้อื่น โดยมาตรา ๒๓ มีเจตนารมณ์ต้องการให้การลงมติของกรรมการ  ป.ป.ช.ต้องการเสียงชนะเด็ดขาด และชนะเป็นเอกฉันท์เท่านั้นจึงจะชี้มูลความผิดได้ และไม่ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิ หรืออำนาจในการออกเสียงชี้ขาดอีกครั้ง ถ้าหากเสียงเท่ากันต้องยกประโยชน์ให้กับผู้ถูกกล่าวหาตามหลักการการดำเนินคดีอาญาทั่วไป เป็นสากลในทุกประเทศ

ซึ่งในวันประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ครั้งที่ ๖๖/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ มีกรรมการ ๘ ท่าน ดังนั้นการมีมติ ๔ ต่อ ๔ ถือว่าเท่ากัน เสมอกัน หาเสียงข้างมากมิได้

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นในเรื่องเสร็จที่ ๑๑๗๘/๒๕๕๘ โดยทั่วไปหลักการหามติของคณะกรรมการโดยการนับคะแนนเสียงนั้นแบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ

(๑) เสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple Majority) หมายถึงคะแนนเสียงข้างมากของผู้ซึ่งประกอบเป็นองค์ประชุม และได้ออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในเรื่องนั้น  การงดออกเสียงลงคะแนน หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมไม่ถือว่าเป็นการออกเสียง จึงไม่อาจนับคะแนนเหล่านั้นรวมไปกับการออกเสียงลงคะแนนของฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้

(๒) เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (Absolute Majority) หมายถึงคะแนนเสียงข้างมากของจำนวนทั้งหมดซึ่งอาจกำหนดให้เกินครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น เช่น สองในสาม หรือสามในสี่ของสมาชิก  หรือกรรมการทั้งหมดเท่าที่มี ในกรณีนี้การหามติของที่ประชุมจึงต้องได้รับคะแนนเสียงตามทีกำหนดไว้ ไม่ว่าจะมีผู้ลงคะแนนเสียงเท่าใด มาประชุมเท่าใด หรืองดออกเสียงเท่าใด คะแนนเสียงที่จะถือเป็นมติได้ต้องได้รับตามจำนวนที่กำหนดไว้เท่านั้น

แต่กรณีการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ครั้งที่ ๖๖/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ ไม่มีเสียงข้างมากแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น เสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple Majority) และ/หรือ เสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (Absolute Majority) แต่เป็นการออกเสียงเท่ากัน

ทั้งๆ ที่การลงมติชี้มูล ดร.ประหยัดจะหาเสียงข้างมากมิได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.กลับมีคำสั่ง ที่ ๖/๒๕๖๕ ลงโทษไล่ ดร.ประหยัด ออกจากราชการ

“การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง ดร.ประหยัด จงใจละเมิดต่อ ดร.ประหยัดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและต่อเนื่อง  ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มีการจงใจตีความกฎหมายโดยบิดเบือนความถูกต้องชอบธรรม และบังคับใช้กฎหมายผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ร่างกฎหมายโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะเข้าข่ายการบังคับใช้กฎหมายขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และขัดแย้งกับหลักการ การดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน

มาตรา ๒๕ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

มาตรา ๒๖ การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

มาตรา ๒๗ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องใดๆ จะกระทํามิได้

บุคคลผู้เป็น ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๒๓ การลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ในเมื่อการประชุมไม่มีมติเสียงข้างมาก จะชี้มูลความผิด ดร.ประหยัด และไล่ ดร.ประหยัด ออกจากราชการไม่ได้ ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจําเลยไม่มีความผิด 

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด  และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” เป็นถ้อยคำของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ วรรค ๒ ที่รับรองหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ว่าเป็นหนึ่งในสิทธิของปวงชนชาวไทย  องค์ประกอบของสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์มีดังนี้ ผู้พิพากษาไม่ควรมีความคิดเอนเอียงไปว่าจำเลยได้กระทำความผิด ภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับฝ่ายโจทก์ หากมีข้อสงสัย จำเลยจะได้รับประโยชน์นั้น 

การชี้มูล ดร.ประหยัดฯ ว่าร่ำรวยผิดปกติ ต่อมาได้ส่งเรื่องให้อัยการเพื่อร้องขอต่อศาลให้ริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินนั้น โทษริบทรัพย์เป็นโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ (๕)  ดังนั้น

หลักการดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามหลักสากลของทุกประเทศ หากมีการลงมติ แล้วคะแนนเสียงเท่ากัน ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ วรรค ๒ ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ และวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๗ ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ซึ่งสอดคล้องกับ วิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๘๔ ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้น ไปจะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จําเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จําเลยน้อยกว่า ซึ่งศาลฎีกาได้วางหลักไว้เพื่อเป็นหลักและแนวบรรทัดฐานต่อไป ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๖๘๘/๒๕๔๙ ความว่า

“ การที่ศาลชั้นต้นมีองค์คณะ ๒ คน พิพากษาคดีโดยถือเอาความเห็นของผู้พิพากษาคนหนึ่งว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลย ซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากเป็นคำพิพากษา และถือเอาความเห็นของผู้พิพากษาอีกคนว่าจำเลยไม่มีความผิดและควรยกฟ้องซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่าเป็นความเห็นแย้ง เป็นการขัดต่อบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๔ กรณีจึงต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นพิพากษายกฟ้อง “

แม้แต่ในคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหุ้นส่วนและบริษัท หากมีการลงมติ คะแนนเสียงเท่ากันให้ถือว่ายังหาข้อยุติมิได้ ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้หรือชนะ และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะได้ต้องได้มติเสียงชนะกันเป็นเอกฉันท์เท่านั้น แต่กรณีของ ดร.ประหยัดเป็นคดีอาญา มีโทษในทางอาญา คะแนนเสียง ๔ ต่อ ๔ เท่ากัน หาข้อยุติไม่ได้ ควรต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย/หรือผู้ถูกกล่าวหา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยเฉพาะประธานกรรมการ ป.ป.ช.และ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งและเป็นปรปักษ์กับ ดร.ประหยัด มีเรื่องพิพาทกับ ดร.ประหยัดในศาลหลายคดี กลับจงใจกลั่นแกล้ง ดร.ประหยัด ชี้มูลความผิด ดร.ประหยัดว่าร่ำรวยผิดปกติ ส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและไล่ ดร.ประหยัดออกจากราชการ เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งและเป็นปรปักษ์กับ ดร.ประหยัด

จะเห็นได้ว่าในเกือบทุกประเทศในโลก องค์กรอิสระในกระบวนการยุติธรรม และ/หรือ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของไทย มีสำนักงาน ป.ป.ช.ประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้น ในคดีอาญากรณีมีการลงมติเท่ากัน ๔ ต่อ ๔ ให้สันนิษฐานไว้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิด ชี้มูลความผิด ดำเนินคดี และไล่ออก เป็นกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบือนความถูกต้องชอบธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๔ , ๒๕ , ๒๖ และ ๒๗ โดยการตีความมาตรา ๒๓ ของในกรณีการลงมติ ๔ ต่อ ๔ แล้วถือว่าเป็นการชี้มูลความผิดได้ ก็ถือว่า มาตรา ๒๓ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ ถือว่ากฎหมายลูก ขัดแย้งกับกฎหมายฉบับแม่และอยู่ในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า มาตรา ๒๓ จึงเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้กับ ดร.ประหยัดเช่นกัน นอกจากนั้นสาเหตุหลักในการตีความไม่ชอบด้วยกฎหมายล้วนเกิดมาจากการกลั่นแกล้งโดยปราศจากข้อสงสัย ดังจะเห็นได้จาก กรรมการ ป.ป.ช. ๒ ท่านที่ลงมติว่า ดร.ประหยัดร่ำรวยผิดปกติ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีหลายคดีในศาล มีความขัดแย้งกับ ดร.ประหยัด มีคดีฟ้องร้องกันหลายคดี

ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ได้เรียนมาทั้งหมด มติ ๔ ต่อ ๔ ไม่อาจตีความหรือแปลความหมายเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากเท่ากัน เสมอกัน ไม่มีฝ่ายใดแพ้ ไม่มีฝ่ายใดชนะ แม้เรื่องของ ดร.ประหยัด จะขึ้นไปอยู่ในชั้นศาล หากมีกรณีการออกมติเท่ากันอีก คงไม่มีองค์กรไหนในกระบวนการยุติธรรมอุตริตีความหรือแปลความดังเช่นสำนักงาน ป.ป.ช.

โดยหนังสือฉบับลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๕ ดร.ประหยัดฯ ขอให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการแก้ไขมติที่ชี้มูลความผิดในกรณีร่ำรวยผิดปกติที่ตีความโดยมิชอบและเพิกถอนหนังสือไล่ออกจากราชการโดยด่วน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๗ วันนับแต่กรรมการป.ป.ช.ได้รับหนังสือฉบับนี้

โดยขอให้กรรมการ ป.ป.ช.แต่ละท่านให้ความเห็นส่วนตัวให้ชัดเจนเกี่ยวกับผลการลงมติ ๔ ต่อ ๔ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๒๓ ว่า ตามกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว กรณีมีเสียง ๔ ต่อ ๔ เท่ากัน สามารถชี้มูล ดร.ประหยัดได้หรือไม่ และสำนักงาน ป.ป.ช.มีอำนาจและ/สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในการไล่ ดร.ประหยัดออกจากราชการได้หรือไม่ โดยขอให้กรรมการแต่ละท่านทำความเห็นส่วนตัวลงในบันทึกรายงานการประชุมที่จะประชุมอันใกล้นี้ ตามหนังสือของ ดร.ประหยัดฉบับนี้ โดยขอให้ทำความเห็นให้ชัดเจน ซึ่ง ดร.ประหยัดจะได้ขอให้ศาลยุติธรรม และ/ หรือศาลรัฐธรรมนูญหมายเรียกรายงานการประชุมจากสำนักงานป.ป.ช.ฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อ ดร.ประหยัดฯ จะได้ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญากับผู้ที่จงใจกลั่นแกล้งต่อไป เป็นการเฉพาะราย และในกรณีที่ท่านใดไม่ออกความคิดเห็นไว้ในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว ถือว่าท่านเป็นผู้มีความเห็นในมติ ๔ ต่อ ๔ และชี้มูลความผิดซึ่ง ดร.ประหยัด มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีกับท่านจนถึงที่สุดต่อไป

อนึ่ง กรรมการ ป.ป.ช.ทุกท่านได้ทราบแล้วว่าการมีมติในคดีอาญา ๔ ต่อ ๔ นั้น ยังไม่ได้ข้อยุติ และไม่ใช่เสียงข้างมาก การที่ท่านได้ชี้มูลความผิด ดร.ประหยัด ส่งเรื่องให้อัยการเพื่อยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินและไล่ ดร.ประหยัดออกจากราชการ เป็นการจงใจกลั่นแกล้ง ดร.ประหยัดและผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงและต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ขอให้กรรมการ ป.ป.ช.ยุติการกระทำเหล่านั้นเสีย และหรือยุติกระบวนการและขั้นตอนที่มิชอบด้วยกฎหมายเหล่านั้นเสียภายในกำหนด ๗ วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ มิฉะนั้น ดร.ประหยัดมีความจำเป็นที่จะนำเรื่องร้องเรียนต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ฟ้องร้องคดีอาญาและคดีแพ่ง ตามสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตต่อไป

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts