วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าวป.ป.ช.งานเข้า ประหยัด ร้อง อัยการสูงสุด   ค้านมติ 4 ต่อ 4  ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใหญ่แน่นะวิ

Related Posts

ป.ป.ช.งานเข้า ประหยัด ร้อง อัยการสูงสุด   ค้านมติ 4 ต่อ 4  ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใหญ่แน่นะวิ

“….แฉการลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 4 ต่อ 4 โดยประธานกรรมการป.ป.ช. อาศัยอำนาจตนเองสรุปในที่ประชุม บิดผันกฎหมาย เจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดหลักการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป และธรรมนูญศาลยุติธรรม กรณีกล่าวหาว่า ดร. ประหยัดฯ ร่ำรวยผิดปกติ และถือโอกาสออกคำสั่งด้วยตนเองไล่ออกจากราชการ ต่างกับครั้งพิจารณาคดีนาฬิกาหรูของรองนายกรัฐมนตรีที่ทำอย่างหนึ่ง แต่การพิจารณาคดีของ ดร.ประหยัด ทำอีกอย่างหนึ่ง…”

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.

เอาแล้ว งานไม่ใหญ่แน่นะวิ ประหยัด  ร้องขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด คัดค้านมติคณะกรรมการป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 4 ต่อ 4  ขัดรัฐธรรมนูญ

ดร. ประหยัด พวงจำปา. อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อท่านอัยการสูงสุด พิจารณาคัดค้านมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. 4 ต่อ 4 ละเมิดสิทธิ และขัดรัฐธรรมนูญ  เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ดร. ประหยัดฯ ได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ต่ออัยการสูงสุด กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการประชุมครั้งที่ 66/2565 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2566  มีมติ 4 ต่อ 4  คะแนนเสียงเท่ากัน โดยไม่มีเสียงข้างมาก (ไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะ) แต่ประธานกรรมการ ป.ป.ช. (พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ)  กลับสรุปในที่ประชุมว่าต้องถือตามมาตรา 23 ชี้มูลความผิด ดร. ประหยัด พวงจำปา ว่าร่ำรวยผิดปกติ  และอาศัยช่องว่างกฎหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา มีคำสั่งประธานกรรมการ ป.ป.ช.ไล่ออก ดร. ประหยัด พวงจำปา  เนื่องจากประธานกรรมการ ป.ป.ช. มีอคติ มีข้อขัดแย้งอย่างรุนแรง และไม่ยึดถือปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนกับคดีผู้ใกล้ชิดนักการเมืองในคดีนาฬิกาที่ขอถอนตัว ไม่ลงมติ จึงขอให้ท่านอัยการสูงสุด ได้พิจารณาข้อกฎหมาย 2 เรื่อง

1. อนุกรรมการไต่สวนไม่ปฏิบัติหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงให้ถึงที่สุดว่า ดร. ประหยัดฯ ร่ำรวยผิดปกติ จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือทุจริตเรื่องใด

มาตรา 4 ตาม พ.ร.บ. อนุกรรมการไต่สวนไม่ได้มีการไต่สวนตามหน้าที่ พิสูจน์ให้ได้ความว่า ดร.ประหยัดฯ เป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้กระทำการทุจริต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือมีเรื่องกล่าวหาว่าทุจริตเรื่องอะไร นำทรัพย์สินนั้นมาโดยใช้อำนาจหน้าที่หรือไม่ เพราะทรัพย์สินที่มากล่าวหายัดเยียดให้ดร. ประหยัดฯ ไม่มีรายการใดเป็นชื่อ ดร. ประหยัดฯ   รายการทรัพย์สินห้องชุดเป็นการที่คู่สมรส ได้กู้ยืมแทนเพื่อนนักธุรกิจ  ส่วนหุ้นต่างๆก็เป็นธุรกิจของกงสีของคู่สมรส ซึ่งมีมาแต่เดิม และโอนคืนให้น้องชายเป็นเอกชนก่อนที่ ดร. ประหยัดฯ จะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินครั้งแรก

2. การลงมติคณะกรรมการป.ป.ช. 4 ต่อ 4   ชี้มูลความผิด และมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ เป็นการลงมติละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล

การลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 4 ต่อ 4 โดยประธานกรรมการ ป.ป.ช. อาศัยอำนาจตนเองสรุปใน      ที่ประชุม บิดผันกฎหมาย เจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดหลักการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป และธรรมนูญศาลยุติธรรมว่า ดร. ประหยัดฯ ร่ำรวยผิดปกติ และถือโอกาสออกคำสั่งด้วยตนเองไล่ออกจากราชการ  จนเกิดกระแสข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นในสำนักงาน ป.ป.ช. เพราะ ดร.ประหยัดไม่เคยถูกร้องเรียน ถูกสอบสวน หรือเกิดเรื่องราวที่ไม่ดีไม่งามมาก่อน เป็นข้าราชการที่ดีระดับแนวหน้า  ที่ยึดมั่น สุจริต ไม่ยอมก้มหัวให้ความไม่ถูกต้อง 

การสู้กลับของ ดร.ประหยัดเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตนเอง โดยขอให้อัยการสูงสุด พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมาย หรือพิจารณานำเรื่องเสนอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่าการลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขัดรัฐธรรมนูญ  และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เพื่อประโยชน์แห่งความเป็นธรรม จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จับตามอง และหากเปรียบเทียบกับคดีที่เกิดขึ้นมาแล้ว กลับมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันโดยสิ้น

ดังเช่น เรื่องราวนาฬิกาหรูของนักการเมือง ระดับรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง เหตุการณ์คล้ายกัน แต่วิธีการทำงานกลับไม่เหมือนกัน คงจำกันได้ เมื่อปี 2561 คือการพิจารณาคดีนาฬิกาหรูของนักการเมือง ในครั้งนั้น (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.) ประกาศขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนาฬิกาหรูดังกล่าว เพราะถือว่าเคยทำงานใกล้ชิดกับตัวเอง จึงแสดงสปิริตขอถอนตัว ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จากที่มีจำนวนเป็นเลขคี่คือ 9 คน เหลือลงมติ 8 คน ซึ่งหนึ่งในคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคำถามว่าหากการโหวตลงมติออกมา ได้เสียงเท่ากัน 4:4 จะทำอย่างไร ได้รับคำตอบว่า ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ระบุในการลงมติใดก็ตาม ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ “คณะกรรมการทั้งหมด” หรือหมายความว่าต้องได้เสียงมากกว่า 5 เสียงขึ้นไป เพราะกรรมการทั้งหมดยังคงมี 9 คน จึงจะผ่านการพิจารณา

ตัวอย่างเช่น หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะลงมติว่านักการเมืองมีความผิดในกรณีนาฬิกาหรู ว่าปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ การลงมติจะถามว่า “คณะกรรมการเห็นว่ามีความผิดจริงตามที่เจ้าหน้าที่เสนอมาหรือไม่” ซึ่งหากผลออกมาพบว่า คณะกรรมการทั้ง 8 คนลงมติได้ 4:4 จะเท่ากับว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วตัดสินว่านักการเมือง “ไม่มีความผิด” เพราะมีคณะกรรมการเพียง 4 คน เนื่องจากยังไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด

แต่การลงมติชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ ดร.ประหยัด  พวงจำปา ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา กับ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้บังคับบัญชา เมื่อเปรียบเทียบคดีตรวจสอบทรัพย์สินนาฬิกาหรูของนักการเมืองที่  พลตำรวจเอก วัชรพลฯ อ้างว่าเป็นผู้รู้จักสนิทสนม เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อน จึงขอถอนตัวตามมาตรา 56 ปรากฏตามข่าวสื่อมวลชน แต่ในกรณี ดร.ประหยัดฯ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขณะไต่สวน  ดร.ประหยัดฯ ยังเป็นข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. การแต่งตั้ง ถอดถอนเป็นอำนาจของพลตำรวจเอก วัชรพลฯ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายยังเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และมีคดีฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา และคดีในศาลปกครองมาก่อน อันอาจจะเป็นเหตุโกรธแค้นเคืองอย่างรุนแรง เป็นการส่วนตัวหรือไม่? แล้วทำไม พลตำรวจเอก วัชรพลฯ กลับไม่แสดงความสุจริต ให้ความเป็นธรรม กับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยขอถอนตัวจากการลงมติตามมาตรา 56 เหมือนคดีนาฬิกาหรู แต่กลับเพิกเฉย และร่วมลงมติชี้มูล ดร.ประหยัดฯ จนเป็นเหตุให้มีคะแนน 4:4 ดังกล่าว         

ต้องถาม พลตำรวจเอก วัชรพล ประธาน ป.ป.ช. ดังๆ ว่า ท่านทำไมไม่ขอถอนตัว แสดงสปิริตเหมือนเช่นกรณีพิจารณาคดีนาฬิกาหรูนักการเมือง ตามที่ท่านอ้างว่าอดีตเป็นผู้ทำงานใกล้ชิดกันมาก่อน ดูดีจัง และเมื่อมาถึงกรณีนี้ ดร.ประหยัด พวงจำปา ก็เป็นถึงอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ที่ทำงานใกล้ชิดกับท่านเช่นกันทำไมไม่ขอถอนตัว กลับเป็นผู้ลงมติซะเองอีกด้วย แปลกจัง ..หรือเพราะโกรธเคืองในเรื่องที่มีการฟ้องร้องกัน …หรือ ดร.ประหยัด ไปรู้ไปเห็นเรื่องราวที่ไม่อยากให้คนอื่นรู้หรือเปล่า จึงเกิดกระบวนการสอบสวน ที่พิลึกพิลั่น แล้วไล่ออกจากราชการทันที อันอาจจะเป็นการทำผิดกฏหมายเสียเอง

ท่านประธาน ป.ป.ช. น่าจะออกมาพูดเรื่องนี้บ้างว่า ในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อย่าเอาแต่นิ่งเงียบ เหมือนปิดประตูตีแมวอยู่เลย!!!

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts