- กสม. ตรวจสอบกรณีราษฎรถูกสั่งให้ออกจากพื้นที่ป่าหินเหล็กไฟ จ.ประจวบคีรีขันธ์ฯ แนะศูนย์การทหารราบชะลอการฝึกซ้อมรบในพื้นที่พิพาท เร่งหาที่ดินรองรับการย้ายที่อาศัย
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2565 ระบุว่า ได้รับทราบข้อเท็จจริงจากข่าวในอินเทอร์เน็ตว่า ชาวบ้านตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กว่า 1,200 คน ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ศูนย์การทหารราบ (ผู้ถูกร้อง) มีคำสั่งให้ประชาชนออกจากที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เนื่องจากจะใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ซ้อมรบกระสุนจริง จึงขอให้ กสม. ตรวจสอบ
กรณีนี้ กสม. ได้ตรวจสอบและลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงร่วมกับทุกฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนศูนย์การทหารราบ ผู้แทนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้แทนสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ผู้แทนอำเภอหัวหิน ผู้แทนสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พื้นที่พิพาทอยู่ในเขตหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 9 ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของป่าหินเหล็กไฟ ซึ่งเป็นป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่า พ.ศ. 2456 ซึ่งศูนย์การทหารราบได้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่พิพาทเมื่อ ปี 2500 โดยกำหนดให้เป็นเขตปลอดภัยในราชการทหารของที่ทหาร เมื่อปี 2512 และเมื่อปี 2513 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จำแนกที่ดินพื้นที่ป่าหินเหล็กไฟเป็นที่สงวนไว้ใช้ในราชการกระทรวงกลาโหม (ค่ายธนะรัชต์) เนื้อที่ประมาณ 930 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ ประชาชนได้เริ่มเข้ามาอยู่ในตำบลบึงนครประมาณปี 2518 ขณะนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่เพื่อแจ้งว่าที่ดินนี้เป็นที่ดินประเภทใด โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกอ้อย สับปะรด และข้าวโพด
ต่อมา เมื่อปี 2552 ได้มีการขึ้นทะเบียนเขตปลอดภัยในราชการทหารบางส่วนเป็นที่ราชพัสดุ และเมื่อปี 2554 ศูนย์การทหารราบ ได้กำหนดให้พื้นที่พิพาทเป็นศูนย์ฝึกทางยุทธวิธีกองทัพบก แห่งที่ 2 เพื่อรองรับการฝึกหน่วยทหารขนาดใหญ่ ระดับกองพันผสม และขอออก นสล. ในพื้นที่บางส่วนของตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมประมาณ 8,700 ไร่ ศูนย์การทหารราบจึงได้มีคำสั่งให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่พิพาทออกจากพื้นที่
ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้นเห็นว่า เมื่อพื้นที่พิพาทเป็นที่ดินของรัฐที่คณะรัฐมนตรีสงวนหวงห้ามไว้ และศูนย์การทหารราบ ได้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่แล้ว จึงทำให้ที่ดินดังกล่าวมีสถานะเป็นที่ดินของรัฐประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) และเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 (3) โดยหน่วยงานรัฐเข้าใช้ประโยชน์ มาตั้งแต่ปี 2513 ศูนย์การทหารราบ ในฐานะผู้ใช้ที่ราชพัสดุจึงมีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาที่ราชพัสดุ เช่นเดียวกับที่วิญญูชนพึงรักษาทรัพย์สินของตน และระมัดระวังไม่ให้เกิดการบุกรุกหรือความเสียหายใด ๆ ตามกฎกระทรวง การใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563 ข้อ 19 ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องมีคำสั่งให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่พิพาทมาตั้งแต่ประมาณปี 2518 ออกจากพื้นที่พิพาทดังกล่าวซึ่งมีสถานะเป็นที่ราชพัสดุแล้ว จึงไม่เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับกรณีที่ศูนย์การทหารราบไม่อนุญาตให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปักเสาพาดสายระบบจำหน่ายไฟเข้าไปในที่ราชพัสดุ ทำให้ประชาชนที่อาศัยทำกินอยู่ในพื้นที่นั้นเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.813/2556 ว่า การปักเสาพาดสายระบบจำหน่ายไฟฟ้าในที่ราชพัสดุซึ่งศูนย์การทหารราบใช้ประโยชน์จะส่งผลกระทบต่อภารกิจของศูนย์การทหารราบในการฝึกกำลังพลและศึกษา รวมทั้งเกิดข้อจำกัดในการใช้อุปกรณ์การฝึกที่ร้ายแรง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ แม้ว่ารัฐจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีไฟฟ้าหรือประปาซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน แต่การใช้สิทธิต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เมื่อที่ดินซึ่งต้องใช้เป็นพื้นที่ขยายแนวเขตปักเสาพาดสายไฟฟ้าเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะในกรณีนี้ต้องผ่านที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุและอยู่ในความครอบครองดูแลของศูนย์การทหารราบ อีกทั้งศูนย์การทหารราบไม่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดให้มีบริการสาธารณะให้แก่ผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินซึ่งอยู่ในความครอบครองของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพิจารณาให้ประชาชนเข้าโครงการเร่งรัดขยายเขตบริการไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นแล้ว อีกทั้งเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว อันเป็นกรณีตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว กสม. จึงเห็นควรยุติเรื่องในประเด็นนี้
นางปรีดา กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทับซ้อนระหว่างที่ดินของรัฐประเภทที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมายกับที่ดินซึ่งประชาชนครอบครองและทำกินมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 72 (3) กำหนดให้รัฐพึงมีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ดินทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ประกอบกับจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีปัญหาความไม่เสถียรและอาจกระทบต่อการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในบางเวลา
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนซึ่งครอบครองและทำกินในที่ดินพิพาทนี้มาเป็นเวลากว่า 47 ปี ได้มีที่อยู่อาศัยที่ทำกินและเข้าถึงความมั่นคงในการถือครองที่ดิน อันสอดคล้องตามหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้อย่างเพียงพอตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ประการที่ 3 เรื่อง การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังศูนย์การทหารราบ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปได้ดังนี้
ให้ศูนย์การทหารราบ ชะลอการฝึกซ้อมรบเต็มรูปแบบไปก่อนจนกว่าจะสามารถจัดหาที่ดินและอพยพประชาชนออกไปจากพื้นที่ได้ และในการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงทุกครั้งต้องมีการแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าโดยทั่วถึง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนี้ให้ จัดหาที่ดินภายในที่ราชพัสดุแปลงที่ไม่มีการซ้อมรบ หรือร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดหาที่ดินในจังหวัดและจัดที่ดินรองรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกให้ออกจากพื้นที่ รวมทั้งจัดสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นพื้นฐาน และส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนเหล่านั้น ทั้งนี้ ให้ศูนย์การทหารราบร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ปรับปรุงหรือพัฒนาระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอด้วย
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
24 กุมภาพันธ์ 2566