วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินเลขา ก.ล.ต. คนใหม่ ถึงยุคของ “คนใน” แก้วิกฤต กู้ศรัทธา ยุติปัญหาความขัดแย้ง

Related Posts

เลขา ก.ล.ต. คนใหม่ ถึงยุคของ “คนใน” แก้วิกฤต กู้ศรัทธา ยุติปัญหาความขัดแย้ง

“…ประเด็นหนึ่งซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นต้นตอของปัญหามากมาย เนื่องจากผู้เข้ามาทำหน้าที่เลขาฯ ก.ล.ต. ถูกคัดเลือกจากคนนอกเป็นหลัก แน่นอนว่าหลายคนที่ได้รับการเลือกสรรเข้ามาเป็นคนเก่ง แต่อาจจะเก่งในสายงานที่เคยบริหารงานนั้นๆ ก.ล.ต. เมื่อเข้ามาเจอตลาดเงิน ตลาดทุนที่มีแนวทางเฉพาะตัว เป็นศูนย์รวมของคนที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินหลากหลาย วัฒนธรรมองค์กรมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็อาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เมื่อคนที่เข้ามา ไม่เข้าใจในกฎเกณฑ์ตลาดเงิน ตลาดทุน จึงมองเห็นภาพแบบเบลอๆ ไม่สามารถกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนได้ ใช้คนไม่ตรงกับงาน ที่ผ่านมา มีความขัดแย้งด้านการทำงานเกิดขึ้นภายในหน่วยงานของ ก.ล.ต. จนส่งผลกระทบให้ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานลาออกจากสำนักงาน ก.ล.ต. ถึงประมาณมากกว่า 200 คน….”

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ก.ล.ต.จะมีเลขาธิการคนใหม่ แทนเลขาฯ คนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งเอกชนผู้ประกอบธุรกิจ ต่างคาดหวังมิติใหม่ในการสร้างสรรค์ตลาดทุน โดยเฉพาะคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นความท้าทายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนกฎเกณฑ์เดิม หากวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ดีก็จะสามารถก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต หากได้รับการพัฒนา ส่งเสริม อย่างถูกทิศ ถูกทาง สินทรัพย์ดิจิทัลจะกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตได้อย่างน่าจับตามอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีปัญหามากมายที่แก้ไม่จบ ทั้งเรื่องตลาดทุน-ตลาดคริปโตฯ ที่ได้รับบทเรียนราคาแพงเกินจะบรรยาย ทั้ง FTX, Zipmex และหุ้น more หรือแม้แต่การบอนไซการพัฒนาของเอกชน  ด้วยการบริหารนโยบายที่เอกชนมองว่าใช้ “ความกลัว” เป็นตัวนำ มากกว่าคำนึงถึงนโยบายที่จะประสานและพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. กับเอกชน โดยไม่แยแสต่อความร่วมไม้ร่วมมือ จนเกิดเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการคริปโตฯ ว่า ก.ล.ต.ออกกฎต่างๆ มาใช้บังคับอย่างไม่สมดุล เน้นแต่การกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่เคยส่งเสริมและพัฒนา ทำให้เอกชนไทยผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายประกอบกิจการ แข่งขันได้อย่างยากลำบาก

เหตุการณ์หุ้น MORE เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สะท้อนช่องโหว่ ปล่อยให้ทุนโบรกเกอร์ใหญ่และทุนปั่นบางรายเข้ามาชิงความได้เปรียบ หักเหลี่ยมเฉือนคมจนนักลงทุนรายย่อยกลายเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก จะหันไปแสวงหาการลงทุนโลกใหม่อย่าง คริปโตเคอร์เรนซี แต่แทนที่จะเทรดกับกระดานคนไทย ก็หันไปเทรดบนกระดานคริปโตฯ ในต่างประเทศที่อยู่เหนือการควบคุมของ ก.ล.ต. ซึ่งหากเกิดความผันผวนขึ้นก็ยากจะเข้าไปบริหารจัดการ แต่ก็เป็นธรรมดา ถ้าของในบ้านไม่ดี ไม่อร่อย ติดกฎระเบียบหยุมหยิม ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมคนไทยโหยหาสินค้าใหม่นอกบ้าน เพราะเข้าถึงง่าย เครื่องมืออำนวยความสะดวกครบครัน และกระดานซื้อขายต่างประเทศไม่มีเกณฑ์การซื้อขายขั้นต่ำ เมื่อนักลงทุนหนีไปเทรดกระดานนอก เหรียญนอก ก.ล.ต. เอื้อมไม่ถึง โอกาสความเสียหายของนักลงทุนไทยก็ยิ่งเสี่ยงตาม อย่าชี้หน้าว่านักลงทุนเจ๊งกันเพราะศึกษาน้อย เพราะขนาดทุนใหญ่ยังหลวมตัวเข้าไปจับมือกับกระดานเทรดเมืองนอกจนเกือบเสียหายมาแล้ว ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจนี้ ควรเน้นการส่งเสริมแบบไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งธุรกิจที่เป็นของคนไทย และ ธุรกิจข้ามชาติ

ประเด็นหนึ่งซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นต้นตอของปัญหามากมาย เนื่องจากผู้เข้ามาทำหน้าที่เลขาฯ ก.ล.ต. ถูกคัดเลือกจากคนนอกเป็นหลัก แน่นอนว่าหลายคนที่ได้รับการเลือกสรรเข้ามาเป็นคนเก่ง แต่อาจจะเก่งในสายงานที่เคยบริหารงานนั้นๆ ก่อนจะมาทำหน้าที่เลขาฯ ก.ล.ต. เมื่อเข้ามาเจอตลาดเงิน ตลาดทุนที่มีแนวทางเฉพาะตัว เป็นศูนย์รวมของคนที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินหลากหลาย วัฒนธรรมองค์กรมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็อาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เมื่อคนที่เข้ามา ไม่เข้าใจในกฎเกณฑ์ตลาดเงิน ตลาดทุน จึงมองเห็นภาพแบบเบลอๆ ไม่สามารถกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนได้ ใช้คนไม่ตรงกับงาน หรือได้รับคำแนะนำที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นความผิดพลาดในภาพรวม พนักงานเก่งๆ ที่ไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น หรือแสดงความคิดเห็นแต่ถูกไล่ต้อนจนมุม ก็หมดไฟในการทำงาน เพราะมองภาพคนละอย่าง พูดกันคนละภาษา จนเกิดเสียงค่อนขอดว่าใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ คนมีฝีมือจำนวนมาก จึงเลือกที่จะเดินออกจากองค์กรแห่งนี้ไปแสวงหาเส้นทางใหม่ที่สบายใจกว่า ดังที่แหล่งข่าวระดับสูงจากโบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งด้านการทำงานเกิดขึ้นภายในหน่วยงานของ ก.ล.ต. จนส่งผลกระทบให้ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานลาออกจากสำนักงาน ก.ล.ต. ถึงประมาณมากกว่า 200 คน

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน

น่าเศร้าใจยิ่งกว่านั้นคือ กระแสข่าวที่ว่าการที่บอร์ด ก.ล.ต. มีมติไม่ต่อวาระเลขาฯ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน เพราะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างบอร์ด ก.ล.ต. กับ เลขาฯ ก.ล.ต. ในด้านการดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดทุนหลายกรณี ปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างกรรมการ กับ เลขาธิการ ก.ล.ต. ในทางความคิดและจุดยืนในการทำงาน ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากในวงการคริปโตเคอร์เรนซี ทั้งกรณี Zipmex นำเงินนักลงทุนไปลงทุนต่อจนเกิดความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท หรือ กรณีการฉ้อโกงกระดานเทรด FTX ที่ตัวเลขชี้ชัดว่าประเทศไทยมีนักลงทุนเสียหายจำนวนเกือบ 130,000 คน ก.ล.ต. ไม่แม้แต่จะกล่าวถึง กล่าวโทษ สั่งปรับ หรือคิดจะดำเนินการใดๆ  จนเกิดเสียงครหาว่า ก.ล.ต. เลือกปฏิบัติโดยเข้มงวดกับบริษัทคริปโตฯ สัญชาติไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ ถ้ากรณีอย่าง FTX เกิดขึ้นกับเอกชนไทย ก.ล.ต. คงสั่งปรับไปแล้ว สังคมมองว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ ก.ล.ต. หน่วยงานควบคุม อ่อนปวกเปียก ไม่อาจออกกฎเกณฑ์บังคับใช้ สนับสนุนนักลงทุนรายย่อยให้ได้รับข่าวสารทันท่วงที และ ก.ล.ต. ไม่มีมาตรการเชิงบังคับอย่างเด็ดขาด ขณะที่ ก.ล.ต. ไล่บี้เหรียญของบริษัทไทยถึงกับออกคำสั่งด่วน ระบุว่าเหรียญมีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) กลับกันเมื่อบริษัทต่างชาติออกเหรียญของตัวเองเช่นเดียวกัน  ทั้งที่กระดานเทรดขาดเงินทุนสภาพคล่อง  ก.ล.ต. ได้ใช้กฎเกณฑ์ ความเข้มงวด จัดการเหรียญเหล่านั้นแบบเดียวกันหรือเปล่า

ปัญหาการขัดแย้งของบอร์ด ก.ล.ต. กับเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่มีมาต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกัน นำไปสู่ปัญหาในภาพรวม ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้บอร์ด ก.ล.ต. ตัดสินใจไม่ต่อวาระให้กับเลขาธิการคนปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเลขาฯ ก.ล.ต. ทุกคนก็ไม่มีใครได้รับการต่อวาระ เมื่อครบกำหนด 4 ปีก็ต้องเดินจากไป อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.ทั้ง 8 คน เมื่อครบวาระก็ต้องสละเก้าอี้ด้วยกันทั้งนั้น แม้บางคนจะได้รับการยอมรับว่าเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.ที่เข้มแข็ง มีความปรารถนาแรงกล้าในการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยของนักลงทุนก็ตาม

เมื่อ ก.ล.ต.ต้องการสร้างองค์กรที่มีความโปร่งใส เป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงขององค์กรหรือบุคคลภายนอก ก็ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในธรรมเนียมการปฏิบัติ ซึ่งเลขาฯ คนปัจจุบันมาจากสายงานยุติธรรม แม้จะมีความเชี่ยวชาญด้านตัวบทกฎหมาย แต่ในงานด้านตลาดทุนยังถูกมองว่าเน้นการใช้กฎหมายเป็นจุดยืนในการแก้ปัญหา ทั้งที่บางเรื่องสามารถหาทางออกด้วยการเจรจาร่วมกันได้ จนเอกชนบางรายมองว่า เป็นการใช้ “ความกลัว” เข้ามาบริหารจัดการมากกว่าจะแก้ระบบเชิงโครงสร้างด้วยการระดมความคิดเห็น เพื่อหาทางออกร่วมกัน

นั่นคือสิ่งที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนและนักลงทุนมองว่า ในวันที่ 1 พ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ก.ล.ต. ควรสรรหาเลขาฯ คนใหม่ที่มาจาก ’คนใน’ แทนที่จะดึง “คนนอก” เข้ามา เพราะอาจจะขาดความรู้ความเข้าใจในงานด้านนี้  ขณะที่ตลาดเงิน ตลาดคริปโตฯ มีปัญหามากมายต้องเข้ามากอบกู้ ถ้าได้เลขาฯ ที่ไม่เข้าใจระบบ ไม่เข้าใจโครงสร้าง ก็อาจจะต้องเผชิญทั้งศึกนอก ศึกใน จะบริหารจัดการตลาดทุนให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร

จากการเกาะติดเรื่องนี้มานาน อาจจะต้องถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะให้ “คนใน” ของ ก.ล.ต. เข้ามาช่วยกู้วิกฤต แก้ปัญหา เก็บกวาดกองซากปรักหักพัง แล้วก่อร่างสร้างระบบขึ้นมาให้สอดคล้องกับเป้าหมายแนวทางที่ควรจะเป็น เลือกคนในองค์กรที่รู้เรื่องดี ไม่ต้องอึดอัดใจทั้งตัวผู้บริหารและคนทำงาน เลขาฯ ก.ล.ต.ควรเป็นคนกลาง ประสานงานทั้งภายในและภายนอก ผสานโลกปัจจุบันกับทิศทางอนาคตไปด้วยกัน พัฒนาตลาดทุนและตลาดคริปโตฯ ให้ก้าวเดินอย่างสง่าผ่าเผย ไร้แรงกดดัน ไม่ใช่เข้ามาเพื่อ “ประสานงา” จนซวนเซไปทั้งระบบ

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Latest Posts