วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินZipmex บทเรียนราคาแพง กับการเลือกตั้ง เลขา ก.ล.ต. คนใหม่

Related Posts

Zipmex บทเรียนราคาแพง กับการเลือกตั้ง เลขา ก.ล.ต. คนใหม่

“…ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีปัญหามากมายที่แก้ไม่จบ ทั้งเรื่องตลาดทุน-ตลาดคริปโตฯ ที่ได้รับบทเรียนราคาแพงเกินจะบรรยาย ทั้ง FTX, Zipmex, หุ้น more  การคัดสรร เลขาก.ล.ต. คนใหม่ ปี 2566  “รื่นวดี” อดีตเลขา ก.ล.ต. แม้ผลงานรอบปี 2565 มีหลายประเด็นถูกมองว่าสอบไม่ผ่าน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่เลขา ก.ล.ต.คนปัจจุบันจะลงสมัครรับการคัดเลือก เพราะกฎระเบียบเปิดช่องให้ทำได้ แต่ถ้าเข้ารอบผ่านไปต่อได้ บอร์ด ก.ล.ต.จะต้องอธิบายถึงผลงานปี 2565 กับสังคมให้ได้ ทั้งปัญหาวงการตลาดทุน หุ้นปั่น ปล้นโบรกฯ บอนไซคริปโตฯ แถมด้วยความย่อยยับของ Zipmex สดๆ ร้อนๆ ในเดือนมีนาคม 2566 ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ก.ล.ต. มี “คนใน” ฝีมือดีที่จะเข้ามากู้วิกฤต แทนที่จะดึง “คนนอก” เข้ามา เพราะอาจจะขาดความรู้ความเข้าใจในงานด้านนี้  ขณะที่ตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ มีปัญหามากมายต้องจัดการ ถ้าได้เลขาฯ ที่ไม่เข้าในระบบ ไม่เข้าใจโครงสร้าง ก็อาจจะต้องเผชิญทั้งศึกนอก ศึกใน จะบริหารจัดการตลาดเงิน ตลาดทุนให้ก้าวไปข้างหน้าได้…”

ข่าวเชิงลึกลือสะพัดว่า Zipmex เตรียมเลิกกิจการ เนื่องจาก V Ventures หุ้นส่วนสำคัญหยุดเพิ่มเงินลงทุน ถอนตัวเลิกอุ้ม ส่งผลให้สถานภาพของ Zipmex ที่อ่อนแออยู่แล้ว ย่ำแย่จนยากจะดำเนินกิจการต่อไปได้ โดย V Ventures ภายใต้การบริหารของ “เจ้าสัวกึ้ง” เฉลิมชัย มหากิจศิริ ทายาท “ประยุทธ มหากิจศิริ” เจ้าพ่อเนสกาแฟ หยุดการจ่ายเงินสนับสนุนงวดที่ 4 ส่งผลให้ Zipmex ต้องส่งอีเมลแจ้งพนักงานถึงปัญหากระแสเงินสดว่าไม่สามารถจ่ายเงินเต็มจำนวนสำหรับเดือนมีนาคม 2023 ก่อนจะค่อยๆ ทยอยปรับลดพนักงานบางส่วน และอาจต้องปิดกิจการในที่สุด

(ขวา) “เจ้าสัวกึ้ง” เฉลิมชัย มหากิจศิริ ทายาท “ประยุทธ มหากิจศิริ” (ซ้าย)

อย่างที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดี เนื่องจากเราได้ลงนามในข้อตกลงการลงทุนในเดือนธันวาคม 2565 กลุ่มทุนที่เข้ามาช่วยเหลือ จะต้องจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจในงวดรายเดือน แต่ล่าสุด ณ วันนี้ เรายังไม่ได้รับเงินตามกำหนดเวลาของงวดนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามหลายครั้งก็ตาม แต่กลุ่มทุนดังกล่าวก็เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทอาจต้องปิดกิจการลง” ข้อความแจ้งต่อพนักงานในอีเมล

ทั้งนี้ V Ventures มีกำหนดที่จะต้องจ่ายเงินงวดที่ 4 มูลค่า 1.25 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 40 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2566 แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวปรากฏว่ายังไม่มีเงินเติมเข้ามาใน Zipmex แม้ว่าทาง Zipmex จะยังคงคาดหวังว่าเกิดอุปสรรคจากความล่าช้า แต่ปรากฎกว่าไม่มีการตอบรับใดๆจาก V Ventures

เรายังคงหวังว่าการโอนเงินงวดรายเดือนโดย V Ventures จะล่าช้าเพียงเล็กน้อย แต่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ทั้งหมดที่อาจเลวร้าย ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น” ข้อความในอีเมล ระบุ

การที่ V Ventures ไม่จ่ายเงินมาให้ อาจทำให้พนักงานมากกว่า 100 คนจะไม่ได้รับเงินเดือนในเดือนมีนาคม ขณะที่ Zipmex ที่มีพนักงานและที่ปรึกษาทั้งหมดประมาณ 230 คน ส่วนที่เหลือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกต่างๆ ของกลุ่มและจะไม่ได้รับผลกระทบจากการชำระเงินที่ไม่ได้รับในตอนนี้ เพราะหน่วยงานอื่น ๆ ในกลุ่ม Zipmex มีเงินสดเพียงพอสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน แต่ในอนาคตอาจจะไม่แน่” แหล่งข่าว กล่าว

กรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ซึ่งมีบริษัทแม่ในสิงคโปร์ นำผลิตภัณฑ์ “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตฯ ของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zip up+ โดยเฉพาะ บิทคอยน์ (BTC), อีเธอเรียม (ETH), USDTและ USDC เป็นต้น ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้ Zipmex ประเทศไทย ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดคริปโตฯ และลูกค้านักลงทุนเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมีความเสียหายเกิดขึ้นราว 2,000 ล้านบาท จากผู้เสียหาย 3,800 ราย ขณะที่ผู้ลงทุนเหรียญขาดทุนกว่า 88% ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ หากมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย”

ประเด็นที่สังคมตั้งคำถามคือ ก.ล.ต. ไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องเลยหรือว่า ZipUp+ ทำให้นักลงทุนเสียหายหลักพันล้านบาท ตั้งแต่เริ่มเกิดเรื่อง ก.ล.ต.อ้ำอึ้ง แจ้งว่าไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องว่าเอกชนนำเงินลูกค้าไทยไปลงทุนต่ออีกทอดหนึ่งที่บริษัทต่างชาติ ทั้งๆ ที่ zipmex โฆษณาอยู่ทุกวัน ประชาชนก็ลงทุนไปเพราะอุ่นใจที่นำเงินไปลงทุนกับผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลของไทย จากความเสียหายที่เกิดขึ้นระดับพันล้าน เป็นเวลากว่า 4 เดือน ก.ล.ต. ปรับเงินไปเพียง 1.92 ล้านบาท ด้วยข้อหาเล็กๆ น้อยๆ พร้อมทั้งสั่งการ กล่าวโทษ อีกครั้งสองครั้ง พอเป็นพิธีให้คนรู้ว่าติดตามเรื่องอยู่ แต่ประชาชนตั้งคำถามว่าทำเท่านี้เพียงพอแล้วหรือ ไม่มีกระบวนการดำเนินงานที่ชัดเจนจริงจังกับ Zipmex หรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีปัญหามากมายที่แก้ไม่จบ ทั้งเรื่องตลาดทุน-ตลาดคริปโตฯ ที่ได้รับบทเรียนราคาแพงเกินจะบรรยาย ทั้ง FTX, Zipmex, หุ้น more หรือแม้แต่การบอนไซการพัฒนาของเอกชน  ด้วยการบริหารนโยบายที่เอกชนมองว่าใช้ “ความกลัว” เป็นตัวนำ มากกว่าคำนึงถึงนโยบายที่จะประสานและพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. กับเอกชน โดยไม่แยแสต่อความร่วมไม้ร่วมมือ จนเกิดเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการคริปโตฯ ว่า ก.ล.ต.ออกกฎต่างๆ มาใช้บังคับอย่างไม่สมดุล เน้นแต่การกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่เคยส่งเสริมและพัฒนา ทำให้เอกชนไทยผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายประกอบกิจการ แข่งขันได้อย่างยากลำบาก

หลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น นำมาสู่กระแสข่าวว่าการที่บอร์ด ก.ล.ต. มีมติไม่ต่อวาระเลขา ก.ล.ต. คนปัจจุบัน เพราะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างบอร์ด ก.ล.ต. กับ เลขา ก.ล.ต. ในด้านการดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดทุนหลายกรณี ปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างกรรมการ กับ เลขา ก.ล.ต. ในทางความคิดและจุดยืนในการทำงาน ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากในวงการคริปโตเคอร์เรนซี เมื่อบอร์ดไม่ต่ออายุเลขา ก.ล.ต. กลับถูกเพ่งเล็งว่าเป็นเพราะความไม่พอใจส่วนตัวของบอร์ดบางคนกับเลขา ก.ล.ต.หรือเปล่า ทั้งที่เป็นมติเสียงข้างมาก

ปัญหาการขัดแย้งของบอร์ด ก.ล.ต. กับเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่มีมาต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกัน นำไปสู่ปัญหาในภาพรวม ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้บอร์ด ก.ล.ต. ตัดสินใจไม่ต่อวาระให้กับเลขาธิการคนปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเลขา ก.ล.ต. ทุกคนก็ไม่มีใครได้รับการต่อวาระ เมื่อครบกำหนด 4 ปีก็ต้องเดินจากไป อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.ทั้ง 8 คน เมื่อครบวาระก็ต้องสละเก้าอี้ด้วยกันทั้งนั้น แม้บางคนจะได้รับการยอมรับว่าเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.ที่เข้มแข็ง มีความปรารถนาแรงกล้าในการกำกับดูแลตลาดทุนให้เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยของนักลงทุนก็ตาม

รื่นวดี สุวรรณมงคล

ท่ามกลางการคัดสรร เลขา ก.ล.ต. คนใหม่ ปี 2566 การโหวตต่อจากนี้ และการสัมภาษณ์ว่าที่เลขา ตามกระแสข่าว 3-4 ท่าน เพื่อตัดคนเข้ารอบชิงให้เหลือเพียงแค่ 2 ท่าน  ที่แน่ๆ ในรอบนี้ “รื่นวดี” ผู้คุมกฎหน่วยงานกำกับ ก.ล.ต. แม้ผลงานรอบปี 2565 มีหลายประเด็นถูกมองว่าสอบไม่ผ่าน โดยเฉพาะปม Zipmex แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่เลขา ก.ล.ต.คนปัจจุบันจะลงสมัครรับการคัดเลือก เพราะกฎระเบียบเปิดช่องให้ทำได้ แต่ถ้าเข้ารอบผ่านไปต่อได้ บอร์ด ก.ล.ต.จะต้องอธิบายถึงผลงานปี 2565 กับสังคมให้ได้ ทั้งปัญหาวงการตลาดทุน หุ้นปั่น ปล้นโบรกฯ บอนไซคริปโตฯ แถมด้วยความย่อยยับของ Zipmex สดๆ ร้อนๆ ในเดือนมีนาคม 2566

หากบอร์ด ก.ล.ต. ต้องพิจารณาแบบห่วงหน้าพะวงหลัง ห่วงการเมืองภายในมากกว่าความโปร่งใสของตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ  ก็ต้องเตรียมรับมือกับกระแสสังคมที่จะต้องสอบถามถึงความชัดเจน โปร่งใส ไร้ใบสั่ง หรือ ไม่มีใครเหมาะสมแล้วจริงๆ ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ก.ล.ต. มี “คนใน” ฝีมือดีที่จะเข้ามากู้วิกฤต แทนที่จะดึง “คนนอก” เข้ามา เพราะอาจจะขาดความรู้ความเข้าใจในงานด้านนี้  ขณะที่ตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ มีปัญหามากมายต้องจัดการ ถ้าได้เลขาฯที่ไม่เข้าในระบบ ไม่เข้าใจโครงสร้าง ก็อาจจะต้องเผชิญทั้งศึกนอก ศึกใน จะบริหารจัดการตลาดเงิน ตลาดทุนให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร ซึ่งถ้าบอร์ด ก.ล.ต.มีคำอธิบายชัดเจน โปร่งใส สังคมยอมรับได้ ก็ไม่ว่ากัน 

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts