วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกภูมิภาคกสม. เป็นห่วงเจ้าหน้าที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีผู้ชุมนุมพร่ำเพรื่อ กระทบเสรีภาพประชาชน

Related Posts

กสม. เป็นห่วงเจ้าหน้าที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีผู้ชุมนุมพร่ำเพรื่อ กระทบเสรีภาพประชาชน

กสม. เป็นห่วงเจ้าหน้าที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีผู้ชุมนุมพร่ำเพรื่อ กระทบเสรีภาพประชาชน รับคำร้องกรณีถูกแจ้งข้อหาจากการยื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาลหน้ายูเอ็นไว้ตรวจสอบ – เปิดสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ เพิ่มประสิทธิภาพงานคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ด้ามขวาน เริ่มปฏิบัติงาน 17 กุมภาพันธ์นี้

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 6/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

1.กสม. ห่วงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กับกรณีการชุมนุม กระทบเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ติงต้องไม่ปิดกั้นเกินกว่าเหตุและไม่ได้สัดส่วนกับการควบคุมโรค

ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 จากนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และพวก ขอให้ตรวจสอบการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภายหลังผู้ร้องและพวกถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการรวมตัวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 นั้น

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องและพวกใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 และมาตรา 44 รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 และข้อ 21 ในการยื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาลที่กระทำการอันอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ในวันดังกล่าว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหาชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการชุมนุม จึงเห็นควรรับไว้เป็นคำร้องเพื่อดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดำเนินการ

ในประเด็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ กสม. เคยมีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 พร้อมข้อเสนอแนะแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการจัดการและควบคุมการชุมนุมด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการป้องกันภัยทางสาธารณสุข ประกอบกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอาจถูกจำกัดได้ แต่เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนั้น มีคุณค่าและมีความสำคัญเป็นอย่างมากในระบอบประชาธิปไตย การบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจะต้องสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือ จะต้องไม่ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้โดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคก็ตาม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการชุมนุมของรัฐบาลมีแนวโน้มเป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวมและห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด และไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุม กับความปลอดภัยสาธารณะหรือการป้องกันภัยทางสาธารณสุข ซึ่ง กสม. ได้มีข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นไปเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคง และไม่อาจนำไปใช้ในการชุมนุมทางการเมืองทั่วไป

“กสม. มีความห่วงกังวลเป็นอย่างมากต่อการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีประชาชนซึ่งรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องทางการเมืองและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในหลายกรณีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อปลายปี 2564 หรือการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งประชาชนหลายคนต้องถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน กสม.จึงขอเน้นย้ำให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มิควรถูกปิดกั้นหรือถูกจำกัดอย่างเกินสมควรแก่เหตุ และไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว

2.เปิดสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ที่หาดใหญ่ เจ้าหน้าที่เริ่มปฏิบัติงานวันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 65) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงกลไกสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ให้จัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้” เป็นส่วนราชการในส่วนภูมิภาคแห่งแรกครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล นั้น

สำนักงาน กสม. ได้ดำเนินการจัดตั้งและสรรหาข้าราชการและพนักงานราชการเพื่อปฏิบัติงาน ณ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ที่ตั้ง “เลขที่ 71/1 อาคารสันติภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถนนปุณณกัณฑ์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา” เรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ได้กำหนดกรอบอัตรากำลังเบื้องต้น คือ เจ้าหน้าที่ 20 ราย แบ่งเป็น ข้าราชการ 17 ราย และพนักงานราชการ 3 ราย ปฏิบัติงานตามกลุ่มงานต่อไปนี้ (1) กลุ่มงานบริหาร (2) กลุ่มงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และ (3) กลุ่มงานส่งเสริมและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และได้มีคำสั่งให้ข้าราชการและพนักงานราชการสังกัดสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ซึ่งปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงาน กสม. ส่วนกลางไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ซึ่งประชาชนสามารถใช้บริการได้ตั้งแต่บัดนี้

“กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ จะเป็นที่พึ่งของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และเชื้อชาติ รวมทั้งมีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอัตราสูง ให้สามารถเข้าถึงกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้โดยง่าย และเมื่อเกิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ กสม. จะสามารถดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถเฝ้าระวัง ประเมินเหตุการณ์ และแสดงท่าทีต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
17 กุมภาพันธ์ 2565

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts