วันที่ 12 เม.ย. ที่สำนังาน กกต. ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อชี้เบาะแสให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง/นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ดำเนินการสอบสวน ไต่สวน และวินิจฉัยเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้เป็นนโยบายหาเสียงโดยมีกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กว่าไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) นั้นขัดต่อ พรบ.เงินตราหรือไม่
ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และกรรมการ เลขานุการ โฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทยชี้แจงเพิ่มเติม 10 ประเด็นเกี่ยวกับ “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” เมื่อวันที่ 10 เม.ย.66 ที่ผ่านมา โดยยอมรับว่ากระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อนั้น
กระเป๋าเงินดิจิทัลดังกล่าว เมื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งว่าไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) เป็นเพียงเหรียญ (คูปอง) ที่สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้นั้น อาจถือได้ว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะสร้างเงินตราในรูปแบบใหม่ขึ้นมาใช้ จึงอันเป็นการฝ่าฝืน พรบ.เงินตรา พ.ศ.2501 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยตรง จึงไม่ต่างอะไรกับ “เบี้ยกุดชุม” ของชุมชนตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ที่โด่งดังเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และหรือกระทรวงการคลังได้ออกมาชี้แล้วในขณะนั้นว่า “เป็นการใช้และกำหนดเงินตราที่ผิดกฎหมาย”
ดังนั้น เมื่อพรรคการเมืองกำหนดนโยบายที่อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของ กกต./นายทะเบียนพรรคการเมือง ที่จะต้องสั่งให้ระงับยับยั้ง โดยดำเนินการบังคับใช้ตามม.22 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 โดยเคร่งครัด โดยที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องวินิจฉัยให้เป็นข้อยุติว่า “เงินดิจิทัล” ในรูปเหรียญ (คูปอง) ที่พรรคเพื่อไทยใช้เป็นนโยบายหาเสียงแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาทให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปนั้น ถือได้ว่าเป็น “วัตถุหรือเครื่องหมายใดๆแทนเงินตรา” ตาม ม.9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา 2501 หรือไม่
หาก กกต.วินิจฉัยว่าเข้าข่าย พรรคเพื่อไทยก็จะต้องระงับการใช้นโยบายดังกล่าวโดยทันที และอาจมีความผิดตามมาตรา 73(5) แห่ง พรป.เลือกตั้ง ส.ส.2561 ฐานหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคอาจต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนด 20 ปีอีกด้วย