เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 เม.ย. ที่สำนักงานการเลือกตั้ง (กกต) อาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง/นายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อขอให้วินิจฉัยคำชี้แจงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่
ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่ กกต.ได้เปิดเผยข้อมูลการชี้แจงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ต้องใช้เงิน ตามมาตรา 57 พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ซึ่งนโยบายที่เป็นที่พิพากษ์วิจารณ์คือนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งระบุว่าต้องใช้วงเงินถึง 5.6 แสนล้านบาทในการดำเนินนโยบายนั้น แต่ปรากฏว่าในเอกสารชี้แจงของพรรคการเมืองดังกล่าวระบุที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการว่า จะใช้การบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษีนั้น ซึ่งเป็นการชี้แจงตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตาม ม.57 หรือไม่
ส่วนรายละเอียดของที่มาของวงเงินที่ระบุว่าจะนำมาจาก
1.ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 : 260,000 ล้านบาท
2.ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย : 100,000 ล้านบาท
3.การบริหารจัดการงบประมาณ : 110,000 ล้านบาท
4.การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน : 90,000 ล้านบาทนั้น
ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นที่สงสัยว่าจะตรงกับข้อเท็จจริงเพียงใดหรือไม่ เพราะวงเงิน 5.6 แสนล้านบาทต้องนำมาใช้ในครั้งเดียวก่อนเริ่มโครงการ จะอ้างนำภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาทมารวมก่อนไม่ได้ ส่วนการตัดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนก็ไม่แจ้งให้ชัดว่าจะตัดงบประมาณด้านใด ตัดงบบัตรคนจน ตัดงบผู้สูงอายุ ใช่หรือไม่ เป็นต้น
ที่สำคัญ หากพรรคเพื่อไทยจัดสรรเงินที่จะต้องนำมาใช้จ่ายตามกรอบวงเงินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่จะต้องใช้วงเงิน 560,000 ล้านบาทนั้น จะไปกระทบกับวงเงินงบประมาณจากนโยบายการใช้จ่ายเงินอื่น ๆ ของพรรคเพื่อไทยที่มีรวม 70 นโยบาย 15 ด้าน ตามเอกสารชี้แจง ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินที่ใช้ดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 ปีตามวาระรัฐบาล รวมเป็นเงินประมาณ 3 ล้านล้านบาทด้วย
การชี้แจงนโยบายดังกล่าว อาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของ ม.57 พรป.พรรคการเมือง 2560 ที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่ง กกต./นายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่านโยบายหาเสียงดังกล่าว มีความเป็นไปได้ หรือมีการปกปิดข้อมูลที่ควรจะแจ้งหรือไม่ หากมีการปกปิด ก็อาจจะเข้าข่ายผิด พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73(5) เป็นการจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้ แต่ถ้า กกต.ไม่ยอมวินิจฉัย สมาคมฯและผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและ ป.ป.ช.ต่อไป