วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่รัฐบาลตอบรับข้อเสนอ กสม. ให้กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่สมัครใจได้กลับคืนพื้นที่

Related Posts

รัฐบาลตอบรับข้อเสนอ กสม. ให้กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่สมัครใจได้กลับคืนพื้นที่

รัฐบาลตอบรับข้อเสนอ กสม. ให้กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่สมัครใจได้กลับไปใช้ชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่บางกลอยบน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ได้มีรายงานผลการตรวจสอบ เรื่อง สิทธิชุมชนกรณีขอให้ตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหากรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2565 โดยมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน มาตรฐานการครองชีพ ตลอดจนปัญหาการจับกุมชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ให้สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และหลักสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว มีข้อเสนอแนะสำคัญหนึ่งระบุให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการสำรวจพื้นที่อยู่อาศัยและทำกิน ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และ 65 รวมทั้งสำรวจความประสงค์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเกี่ยวกับการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิม ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อเป็นการเยียวยากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่เคยถูกอพยพโยกย้ายถิ่นฐานลงมา โดยดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2565

ล่าสุด กสม. ได้รับทราบว่า คณะกรรมการอิสระฯ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2565 ชุดดังกล่าว ซึ่งมีนายอนุชา นาคาสัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 เมษายน 2566 เรียนนายกรัฐมนตรี รายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการอิสระฯ โดยได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อันเป็นผลจากการประชุมหารือและลงพื้นที่ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำรวจข้อมูลครัวเรือนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำเนินชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน และได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเป็น 2 แนวทาง สรุปได้ดังนี้

แนวทางที่หนึ่ง กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนบ้านบางกลอย หมู่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (บริเวณพื้นที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน) จำนวนประชากร 732 คน ให้ใช้แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมอาชีพ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ และให้การเยียวยากลุ่มราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายชุมชน

แนวทางที่สอง กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่บางกลอยบน (พื้นที่เดิมของชุมชนก่อนถูกโยกย้าย) จำนวนประชากร 150 คน ให้ใช้แนวทางพัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนตามหลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 70 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 โดยดำเนินการผ่านการจัดโครงการศึกษาเชิงทดลองแบบมีส่วนร่วม

คณะกรรมการอิสระฯ ยังเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย

(1) ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน
(2) กรรมการอิสระ
(3) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
เพื่อดำเนินการสำรวจการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าวที่คณะกรรมการอิสระฯ เสนอแล้ว

“กสม. ยินดีที่คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยฯ ได้ศึกษา สำรวจ และมีข้อเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ได้กลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและก่อนรัฐมีคำสั่งและดำเนินการให้อพยพย้ายถิ่น ซึ่งถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมในการกำหนดเจตจำนงของชุมชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กสม. หวังว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อาศัยที่ทำกินรวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินนโยบายของหน่วยงานภาครัฐและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายกรณี เช่น ปัญหาการจับกุมชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts