วันนี้ ( 21 ก.พ.65 ) ที่บริเวณสถานที่ก่อสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอท่าใหม่ (หลังใหม่ ) เนินคาบนสาธารณประโยชน์ บ้านป่าแดง ต.ท่าใหม่ อ.ท่าใหม่ พระธรรมวชิรเมธี เจ้าคณะภาค 1 เจ้าอาวาสวัดหงศ์รัจนาราม กรุงเทพมหานคร นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง
และนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำพระเถรานุเถระ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน คณะข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และประชาชนชาวอำเภอท่าใหม่ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ว่าการอำเภอท่าใหม่ (หลังใหม่ ) ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างชุ่มฉ่ำ ทำให้สถานที่ก่อสร้างที่จัดเตรียมไว้ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ แต่ก่อนที่จะเริ่มพิธีพราห์มสายฝนก็หยุดตก และสามารถประกอบพิธีได้อย่างราบรื่น
ทั้งนี้นาย ปฏิณญา พานิชอัตรา นายอำเภอท่าใหม่ กล่าวรายงานว่า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่รวม 612.800 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 383,000 ไร่ แบ่งเขตการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 เป็น 14 ตำบล 124 หมู่บ้าน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 5 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 7 แห่ง ประ 70,944 คน จำนวนครัวเรือน 29,228 ครัวเรือน อำเภอท่าใหม่เป็นเมืองแห่งการเกษตรกรรม ทั้งการปลูกทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง พริกไทย เป็นแหล่งอาหารทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา ที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และศูนย์รวมจิตใจทางพุทธศาสนา ประวัติอำเภอท่าใหม่ เริ่มมาตั้งแต่ปี ร.ศ. 116 หรือประมาณ พ.ศ. 2440 เดิมแบ่งการปกครองออกเป็น 2 อำเภอ คือ อำเภอบ้านโขมง และอำเภอพลอยแหวน มีหลวงพรหมสุภาแพ่ง และหลวงรัตนนครคลัง เป็นนายอำเภอ ต่อมา ร.ศ. 117 หรือ พ.ศ. 2441ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า ยังไม่เหมาะสมจึงปรับปรุงการปกครองใหม่ โดยยุบอำเภอบ้านโขมงรวมขึ้นกับอำเภอพลอยแหวน ขนานนามว่า “อำเภอเขาพลอยแหวน” ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ที่ ศาลาการเปรียญวัดเขาพลอยแหวน เมื่อรวบรวมเขตอำเภอบ้านโขมง และอำเภอพลอยแหวนรวมกันแล้ว ทางราชการจึงแต่งตั้งให้หลวงศรีรองเมืองเป็นนายอำเภอ พ.ศ. 2448
สภาพท้องที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเดิมตำบลพลอยแหวน และตำบลบางกะจะมีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น ภายหลังราษฎรอพยพไปอยู่ท้องที่อื่นเป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงย้ายที่ว่าการอำเภอจากพลอยแหวน ไปตั้งที่บ้านท่าใหม่ ตำบลท่าใหม่ ในปัจจุบันนี้ เมื่อย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ บ้านท่าใหม่ ข้างสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าใหม่ในปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอท่าใหม่” / พ.ศ. 2462 ทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอท่าใหม่จากข้างสถานีตำรวจภูธร ไปอยู่ข้างหนองโขยง พ.ศ. 2484 นายจำรัส เวชสัสถ์ นายอำเภอท่าใหม่ ได้พิจารณาเห็นว่าที่ว่าการอำเภอหลังเดิมได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก และได้สร้างมาเป็นเวลาประมาณ 34 ปี ในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม อินโดจีน-ฝรั่งเศส และสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่สามารถนำงบประมาณ มาซ่อมแซมได้ จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งในที่ปัจจุบัน ซึ่งเดิมเป็นอาคารโรงเจเก่า โดยผู้จัดการและคณะกรรมการโรงเจได้อุทิศให้เป็นสถานที่ราชการ เป็น อาคารคอนกรีตชั้นเดียว ต่อมาต่อเติมเป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนเป็นอาคารไม้ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร / พ.ศ. 2507 นายพิสนธ์ สุนทรธรรม นายอำเภอท่าใหม่ ได้ต่อเติมอาคารด้านหลังเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้อง และยังได้ปรับปรุงซ่อมแซมห้องประชุมอำเภอเพื่อให้เป็นสถานที่ทำงานให้เพียงพอกับกำลังเจ้าหน้าที่ จึงนับได้ว่าอาศัยโรงเจเป็นที่ว่าการอำเภอจนถึง พ.ศ. 2528 เป็นเวลาประมาณ 45 ปี / พ.ศ. 2528 จึงได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อทำการก่อสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ตามแบบมาตรฐานกรมโยธาธิการ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2529 อาคารที่ว่าการอำเภอท่าใหม่ ที่ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันนี้ ได้รับงบประมาณจากกรมการปกครองเป็นค่าก่อสร้าง จำนวน 26,980,000 บาท โดยจะก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น กว้าง 22 เมตร ยาว 49 เมตร สูง 7.2 เมตร พร้อมครุภัณฑ์ประกอบอาคาร ซึ่งได้ขอถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์แปลง “เนินคาบนสาธารณประโยชน์” บ้านป่าแดงเนื้อที่ 20 ไร่ เป็นสถานที่ก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากพ่อค้าคหบดีและประชาชนชาวอำเภอท่าใหม่ร่วมกันบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่สำหรับเตรียมการก่อสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอท่าใหม่ กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จต้นปี พ.ศ.2566 นี้