กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 ได้พิจารณาคำร้องและข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายแล้วเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) มีหนังสือตั้งแต่เดือน ก.ค. 2550 ถึงผู้กำกับการ สภ.นครชัยศรี แจ้งผลการตรวจสอบรายการทรัพย์สินของผู้ร้องที่ถูกจับกุม โดยระบุยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงไม่มีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ร้อง ประกอบกับศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อเดือน ต.ค. 2553 ให้คืนทรัพย์สินแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงได้ให้ญาติติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.นครชัยศรี เพื่อขอรับคืนทรัพย์สินแล้วหลายครั้ง แต่ทรัพย์สินดังกล่าวได้สูญหายไป ซึ่งในภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอชดใช้ค่าเสียหายบางรายการเป็นเงินจำนวน 160,000 บาท แต่มีทรัพย์สินบางรายการ คือ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ที่ผู้ร้องยังไม่ได้รับคืนด้วย
เรื่องนี้ กสม. เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้องไม่ได้รีบดำเนินการส่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องภายในเวลาอันควร และต้องให้ผู้ร้องติดตามทวงถามและร้องเรียนต่อหน่วยงานอื่น ๆ จึงยอมขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง แต่ก็เป็นการชดใช้ค่าเสียหายภายหลังจากที่ผู้ร้องได้ร้องเรียนต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบ และเป็นระยะเวลากว่า 14 ปี นับแต่วันที่สำนักงาน ป.ป.ส. มีคำสั่งไม่ตรวจสอบทรัพย์สิน รวมทั้งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คืนรายการทรัพย์สินแก่ผู้ร้องด้วย การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ร้องสูญหาย อันเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 37 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 และไม่เป็นไปตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 15 บทที่ 1 ข้อ 415 ที่กำหนดไว้
กสม. เห็นว่า กรณีดังกล่าวนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องจึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ตร.) โดยให้ ตร.ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ร้องสูญหาย และกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดทั่วประเทศที่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ของกลางในคดีอาญาให้ปฏิบัติตามกฎหมายและประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งเป็นของกลางในคดีอาญา พร้อมกันนี้ ให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไปด้วย
- กสม. แนะกรมโรงงานอุตสาหกรรม แก้ไขระเบียบรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการออกใบอนุญาตโรงงาน หลังชาวสตูลร้องไม่ทราบข้อมูลการขอตั้งโรงงานแอสฟัลท์ติกคอนกรีตในพื้นที่
ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน ก.ย. 2564 จากผู้ร้องซึ่งกล่าวอ้างว่า บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตแอสฟัลท์ติกคอนกรีตต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ผู้ถูกร้อง ได้ปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงานของบริษัทดังกล่าว ซึ่งครบกำหนดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 13 ส.ค. 2564 แต่ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงกลับไม่เคยรับทราบเรื่องมาก่อน เพิ่งมาทราบเรื่องจากเอกสารการประชุมของอำเภอท่าแพเมื่อใกล้ครบกำหนดระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ประชาชนจึงได้ร่วมกันคัดค้าน เนื่องจากหากอนุญาตให้มีการประกอบกิจการโรงงานอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาพอนามัย และวิถีชีวิตของประชาชนที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งบริษัทได้ดำเนินการปรับพื้นที่และถมดินสูงผิดปกติโดยที่ไม่มีการประเมินผลกระทบและอาจปิดกั้นทางน้ำสาธารณะ ผู้ร้องเห็นว่าการปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใบอนุญาตขยายโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลและไม่ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ที่กฎหมายกำหนด จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ได้พิจารณาคำร้องและข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายรับฟังได้ว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ผู้ถูกร้อง ได้ออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 และได้ปิดประกาศ ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล รวมทั้งมีหนังสือส่งประกาศดังกล่าวไปปิดยังอำเภอท่าแพ องค์การบริหารส่วนตำบลแป-ระ และสถานที่ขออนุญาตตั้งโรงงาน โดยผู้ถูกร้องไม่ได้ติดตามว่าหน่วยงานดังกล่าวปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครบทุกแห่งและครบระยะเวลาปิดประกาศหรือไม่ ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ดำเนินการโดยผู้ถูกร้องจึงไม่เป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และไม่สอดคล้องกับการรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน กสม. จึงเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแอสฟัลท์ติกคอนกรีตของบริษัท มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ
ในการนี้ เพื่อให้สิทธิของบุคคลและชุมชนได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กสม. จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดังนี้
(1) กำหนดวิธีปฏิบัติหรือแนวทางการดำเนินการสำหรับหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่จะตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับการติดตามการปิดประกาศรับฟังและผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปยังหน่วยงานสถานที่ปิดประกาศตามที่กฎหมายกำหนด โดยมุ่งเน้นให้ดำเนินการปิดประกาศให้ถูกต้องครบถ้วนตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด อันเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
(2) พิจารณาปรับแก้ไขระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและใบอนุญาตขยายโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยนอกจากกำหนดให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่จะตั้งโรงงานดำเนินการปิดประกาศเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรงงานแล้ว ควรกำหนดให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการ รวมทั้งแสดงความคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ยื่นคำขอประกอบกิจการกับประชาชนได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
24 กุมภาพันธ์ 2565