วันอังคาร, กันยายน 24, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่“ค่าโง่ โฮปเวลล์” ไม่เข็ดหลาบไฮสปีดเทรน”เชื่อมสามสนามบิน”ส่อแวว “เกิดขึ้นอีก”

Related Posts

“ค่าโง่ โฮปเวลล์” ไม่เข็ดหลาบไฮสปีดเทรน”เชื่อมสามสนามบิน”ส่อแวว “เกิดขึ้นอีก”

แกะรอยเส้นทางแก้สัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน… ยิ่งกว่า “ค่าโง่ โฮปเวลล์” เริ่มส่งสัญญาณที่ส่อจะจบลงด้วย “ค่าโง่” อีกโครงการแล้ว!

“…7 ปีโครงการโฮปเวลล์ ที่ก่อสร้างล่าช้า มีความคืบหน้าไม่ถึง 15% คมนาคมและการรถไฟฯ บอกเลิกสัญญา ด้วยข้ออ้างเอกชนไม่มีความจริงใจ แต่กับไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินของเจ้าสัวซีพี. ที่การรถไฟฯลงนามในสัญญาไปตั้งแต่ ตุลา 62 จวบจนวันนี้ที่ล่วงเลยมาจะครบ 4 ปีแล้ว โครงการกลับยังไม่มีความคืบหน้าแม้แต่ต้นเดียว แต่ก็ให้น่าแปลก คมนาคม-การรถไฟฯกลับไม่คิดจะลงไปไล่เบี้ย ตรงกันข้าม เมื่อเอกชนร้องขอแก้ไขสัญญาทั้งขอยืดค่าสิทธิ์รับโอนแอร์พอร์ตลิงค์ และขอให้รัฐร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนก่อสร้างโครงการ 1.2 แสนล้านออกมาใช้ก่อน กลับตั้งแท่นเห็นด้วย บทเรียนค่าโง่โฮปเวลล์ที่ใครต่อใครก็ถล่มโจมตีกันนัก อย่างน้อยในความล่าช้าเอกชนก็ยังจ่ายค่าต๋งสัมปทานให้แก่รัฐครบตามสัญญา แต่กับไฮสปีดเทรนที่คนรถไฟพากันสุมหัวอุ้มสมอยู่น้ัน มีอะไรที่เหนือกว่าโฮผปเวลล์บ้าง ก็สมแล้วที่ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟและแกนนำ พท.จะออกมาระบุว่าระวังจะเป็นยิ่งกว่า ค่าโง่โฮปเวลล์เอา..”

…………………………………………………..

กับ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)”วงเงินลงทุนกว่า 2.4 แสนล้านบาท โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(PPP) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)กับ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัดในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่นัยว่าจะเป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์สำคัญของการขับเคลื่อนและดึงดูดการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

แม้จะลงนามในสัญญาสัมปทานกันไปตั้งแต่ 24 ตุลาคม 62 แต่ล่วงเลยมากระทั่งวันนี้กว่า 3 ปีจะครบ 4 ปีอยู่รอมร่อ แต่โครงการกลับยังไม่มีความคืบหน้า ยังไม่ “เปิดหวูด”เริ่มต้นก่อสร้างโครงการ แม้การตอกเสาเข็มสักต้น

ความคืบหน้าล่าสุดที่ทุกฝ่ายได้รับรู้ ก็คือ การที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นประธาน ไฟเขียวอนุมัติการแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อกรุยทางให้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทาน ยืดชำระค่าสิทธิรับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาทออกไป 7 งวด และแก้ไขสัญญาร่วมทุนอันเนื่องมาจาก “เหตุสุดวิสัย” กรณีการแพร่ระบาดของโรค หรือมีสงครามที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถาม 7 ปีของโครงการ “โฮปเวลล์” ที่การก่อสร้างเป็นไปด้วยความล่าช้า มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไม่ถึง 15% กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ตัดสินใจบอกเลิกสัญญาสัมปทาน ด้วยข้ออ้างเอกชนไม่มีความจริงใจที่จะดำเนินโครงการ จนนำไปสู่ข้อขัดแย้งที่ลุกลามบานปลาย สุดท้ายต้องลงเอยด้วย “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐถูกศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ต้องชดเชยความเสียหายให้แก่คู่สัญญาเอกชนจำนวน กว่า 25,000 ล้าน จากการที่ภาครัฐบอกเลิกสัญญาสัมปทานไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบโครงการโฮปเวลล์ และไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน อย่างน้อยโครงการโฮปเวลล์ ก็มีการก่อสร้างเสาตอม่อโครงการเรียงรายตามแนวเส้นทางสัมปทานกันให้เห็น และแม้การก่อสร้างจะเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่ผ่านมากว่า 7 ปีมีความคืบหน้าไปไม่ถึง 15% แต่บริษัทก็ยังคงจ่าย “ค่าสัมปทาน” ให้แก่รัฐตามกำหนดกว่า 2,300 ล้านบาท

แต่กับโครงการ “ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน” ที่แม้จะล่วงเลยมาร่วม 4 ปี โดยที่การก่อสร้างยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆแม้แต่น้อย ไม่เพียงการรถไฟฯ จะไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ตรงกันข้ามเมื่อเอกชนร้องขอแก้ไขสัญญาสัมปทานทั้งขอยืดค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจำนวน 10,671 ล้าน และขอให้ภาครัฐปรับร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนก่อสร้างโครงการตามมติ ครม.จำนวน 1.2 แสนล้านจากที่รัฐต้องจ่ายเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จมาเป็นการสร้างไป-จ่ายไป คู่สัญญาฝ่ายรัฐคือการรถไฟกลับตั้งแท่นเห็นด้วยทุกกระเบียดนิ้ว

จนถึงขั้นที่ “นายประภัสร์ จงสงวน” อดีตผู้ว่ารถไฟฯและแกนนำ พท.จะออกมาระบุว่า ระวังโครงการนี้จะเป็นยิ่งกว่า “ค่าโง่โฮปเวลล์” เอา พร้อมตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับโครงการนี้ และเกิดอะไรขึ้นกับคู่สัญญาฝ่ายรัฐคือการรถไฟ เหตุใดจึงปฏิบัติต่อโครงการสัญญาสัมปทานทั้งสองโครงการแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน


*แก้สัญญาสัมปทาน-เปิดทางจับเสือมือเปล่า?

แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคมได้ตั้งข้อสังเกตุต่อประเด็นดังกล่าวว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ กพอ.อนุมัติออกไปก่อนหน้า โดยยอมยืดเวลาการเงินค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จากที่ต้องจ่าย 10,671 ล้านบาทออกไปเป็น 7 งวด หรือ7 ปีโดยอ้างผลกระทบจากสถานการณ์โควิดนั้น ควรต้องพิจารณาด้วยว่าสร้างความเป็นธรรมแก่โครงการอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ และรัฐมีการดำเนินการชดเชยให้แก่เอกชนรายอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ในส่วนของการแก้ไขปัญหาทางการเงินที่มีความพยายาม จะล้วงลูกดึงเงินสนับสนุนการลงทุนจากรัฐมาใช้ก่อสร้างก่อนในลักษณะสร้างไป-จ่ายไป จากสัญญาสัมปทานที่กำหนดไว้รัฐจะจ่ายคืนเงินอุดหนุนเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปีที่ 6 ของสัญญานั้น ถือเป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับเงื่อนไขการประมูล และสัญญาร่วมลงทุนชัดแจ้ง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนคู่สัญญา

เพราะการที่รัฐบาลตัดสินใจคัดเลือกกลุ่มทุนซีพี. เป็นผู้ชนะประมูลโครงการนี้ เพราะเชื่อในศักยภาพและสถานะด้านการเงินของบริษัท จึงกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนต้องจัดหา Supplier Credit มาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ รัฐจึงจะจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างให้

“แม้จะอ้างว่า การแก้ไขสัญญาปรับร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐในลักษณะ “สร้างไป-จ่ายไป” ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณ และดอกเบี้ยลงไปกว่า 27,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินลงทุนในส่วนงานที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 9,200 ล้านที่การรถไฟฯ ไม่ต้องแบกรับภาระเอง แต่ในส่วนของคู่สัญญาเอกชนที่ได้ไปจากการแก้ไขสัญญานั้น ไม่เพียงจะลดภาระการระดมทุนร่วม 200,000 ล้านบาทลงไปเหลืออยู่เพียง 79,000 ล้านบาท เพราะหันมาใช้เม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐแทน ผลประโยชน์จากการลดต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ ต้นทุนการระดมทุนของเอกชนที่ได้ไปแทบจะทำให้เอกชน “จับเสือมือเปล่า”

เช่นเดียวกับการอนุมัติให้แก้ไขสัญญา โดยกำหนดเหตุสุดวิสัย และเหตุแห่งการผ่อนผัน ที่มาจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการนั้น ในหลักการจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ไม่ใช่ไปกำหนดเอาไว้เป็นวงกว้างในสัญญาในลักษณะเอื้อต่อการแก้ไขสัญญาเช่นนี้ เพราะในเงื่อนไขการประมูลโครงการร่วมลงทุนพีพีพีนั้น วางเงื่อนไขเอาไว้ชัดเจนว่าเอกชนต้องยอมรับภาระความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่แล้ว

*เตือนระวังยิ่งกว่า”ค่าโง่โฮปเวลล์”

ก่อนหน้านี้ นายประภัสร์ จงสงวน แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตผู้ว่าการการรถไฟฯ ได้ออกโรงคัดค้านมติของ “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยเห็นชอบให้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท จำนวน 7 งวด และแก้ไขสัญญาร่วมทุนอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรคหรือมีสงครามที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ

โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก ครม.ชุดนี้ เป็นรัฐบาลรักษาการที่ไม่มีอำนาจแล้ว จึงไม่สมควรจะพิจารณาเรื่องที่จะสร้างภาระหรือมีผลผูกพันไปยังรัฐบาลชุดต่อไป พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คณะกรรมการอีอีซีที่กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบินที่เห็นชอบและเตรียมนำเสนอ ครม.เพื่อรับทราบแนวทางการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว ล้วนแล้วแต่เป็นสาระสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะการร่นระยะเวลาจ่ายเงินช่วยเหลือให้บริษัทผู้ได้รับสัมปทาน จากเดิมตามสัญญาคือ รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนก่อสร้างเมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว เปลี่ยนเป็นจ่ายตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง

“หากไฟเขียวในเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม ครม.เพื่อทราบนั้น แท้จริงแล้ว คือ การอนุมัติตามกฎหมายของอีอีซีหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงจะสร้างปัญหาให้กับโครงการ และสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลชุดใหม่เป็นอย่างมาก เพราะโดยหลักการแล้ว สัญญาที่ลงนามไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญ”

นายประภัสร์ ยังกล่าวด้วยว่า สัญญาการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้น แม้จะลงนามในสัญญามาตั้งแต่ปี 62 แต่จนวันนี้ยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง หรือตอกเสาเข็มเพื่อเดินหน้าก่อสร้าง ซ้ำยังมีประเด็นพิพาท รวมถึงประเด็นการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ซึ่งตามสัญญาเอกชนต้องจ่ายเงินในการรับสิทธิ์บริหารแอร์พอร์ตลิงค์ให้แก่คู่สัญญาฝ่ายรัฐคือการรถไฟฯ ( รฟท.) แต่กลับพบว่า มีการส่งมอบรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ไปแล้วโดยที่รัฐคือการรถไฟฯ ยังไม่ได้รับเงินค่าสิทธิ์จำนวน 10,000 ล้านบาทแต่อย่างใด แต่จ่ายเงินค่าสิทธิ์เพียง 10% ส่วนเงินที่เหลืออีก 90% อยู่ในรายละเอียดของการแก้ไขสัญญา ซึ่งหากไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐยิ่งกว่ากรณีค่าโง่โฮปเวลล์ จึงอยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน

เช่นเดียวกับเลขาธิการองค์กรต้านโกง หรือ ACT ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าข้อเสนอขอแก้ไขสัญญาสัมปทานไฮสปีดเทรนข้างต้นเหล่านี้ว่า ล้วนเป็นข้อเสนอทางการเงินเพิ่มเติมที่เคยผนวกอยู่ใน 11 ข้อเสนอที่กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรได้ยื่นต่อการรถไฟฯ เมื่อครั้งเข้าประมูลโครงการนี้ตั้งแต่ปลายปี 61แต่ถูกคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกตัดทิ้งไป เพราะเป็นข้อเสนอที่อยู่นอกเงื่อนไข TOR

“หากวันนี้ฝ่ายรัฐยอมแก้สัญญาให้ ด้วยข้ออ้างเป็นโครงการความร่วมมือ และเกรงว่าเอกชนจะขาดทุนแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง “โครงการ 2 แสนล้านบาทเขาต้องศึกษามาอย่างดีแล้วจึงสมัครใจเข้าประมูล แต่วันนี้งานยังไม่เริ่ม (คู่สัญญาฝ่ายรัฐ) ก็สงสารกันเสียแล้ว… ไม่ต้องรอเวลา ไม่ต้องรอพิสูจน์ ไม่ต้องรอเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้.. อย่างนี้ประชาชนได้อะไร รัฐได้อะไร”

Double Standard

7 ปีโครงการโฮปเวลล์ ที่ก่อสร้างล่าช้า มีความคืบหน้าไม่ถึง 15% คมนาคมและการรถไฟฯ บอกเลิกสัญญา ด้วยข้ออ้างเอกชนไม่มีความจริงใจ

แต่กับไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินของเจ้าสัวซีพี. ที่การรถไฟฯลงนามในสัญญาไปตั้งแต่ ตุลา 62 จวบจนวันนี้ที่ล่วงเลยมาจะครบ 4 ปีแล้ว โครงการกลับยังไม่มีความคืบหน้าแม้แต่ต้นเดียว แต่ก็ให้น่าแปลก คมนาคม-การรถไฟฯกลับไม่คิดจะลงไปไล่เบี้ย

ตรงกันข้าม เมื่อเอกชนร้องขอแก้ไขสัญญาทั้งขอยืดค่าสิทธิ์รับโอนแอร์พอร์ตลิงค์ และขอให้รัฐร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนก่อสร้างโครงการ 1.2 แสนล้านออกมาใช้ก่อน กลับตั้งแท่นเห็นด้วย

บทเรียนค่าโง่โฮปเวลล์ที่ใครต่อใครก็ถล่มโจมตีกันนัก อย่างน้อยในความล่าช้าเอกชนก็ยังจ่ายค่าต๋งสัมปทานให้แก่รัฐครบตามสัญญา

แต่กับไฮสปีดเทรนที่คนรถไฟพากันสุมหัวอุ้มสมอยู่น้ัน มีอะไรที่เหนือกว่าโฮผปเวลล์บ้าง

ก็สมแล้วที่ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟและแกนนำ พท.จะออกมาระบุว่าระวังจะเป็นยิ่งกว่า ค่าโง่โฮปเวลล์เอา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts