วันศุกร์, ธันวาคม 6, 2024
หน้าแรกท้องถิ่นอยากอยู่ต่อ “แต่” ความสามารถมีมั้ย? “รื่นวดี” อดีตเลขาก.ล.ต. ฟ้องศาลปกครอง “ให้ช่วย”

Related Posts

อยากอยู่ต่อ “แต่” ความสามารถมีมั้ย? “รื่นวดี” อดีตเลขาก.ล.ต. ฟ้องศาลปกครอง “ให้ช่วย”

“….ความพยายามเฮือกสุดท้าย ของ “รื่นวดี”  อยากอยู่ต่อ โดยยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง  ฟ้องสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ผลกรรมติดจรวดหลายเรื่อง ตั้งแต่การซื้อขายหุ้นของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE หุ้น STARK สร้างความเสียหายเฉพาะนักลงทุนรายย่อยกว่า 6700 คน รวมกว่า 13,000 ล้านบาท  Zipmex แฟลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติไทย ความเสียหาย 2,600 ล้านบาท รับผิดชอบเพียง 133 ล้านบาทเท่านั้น วิกฤติ FTX ล่มสลาย พบว่ามีนักลงทุนจากประเทศไทย จำนวนเกือบ 130,000 คน ได้รับผลกระทบ ซึ่งแน่นอนนักลงทุนจากประเทศไทยก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรเอาจากแพลตฟอร์มเถื่อนต่างชาติได้ เรื่องBitkub ที่ก.ล.ต. ใช้เวลากว่า 7 เดือน จึงมีมติว่า Bitkub ได้แก้ไขตามการสั่งการของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว ชั่วระยะเวลานั้นได้ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจใน Bitkub และมีนักลงทุนมากมายที่เสียหายเพราะความไม่ชัดเจนในกรณีนี้ ผลงานดีชั่วมันค้ำคอ นักลงทุนทั่วประเทศตัดสินได้ หากแข่งอีก สอบตกอีก จะเอาหน้าไปไว้ไหน…”

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้มีมติ ให้เปิดสรรหาเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นการทั่วไป แทนการใช้วิธีการต่อหรือขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคลออกไปอีกวาระหนึ่ง จนนำมาสู่กระบวนการสรรหา และได้ 2 ตัวแทนชิงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา โดยปราศจากชื่อของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตเลขาธิการฯ แม้นางสาวรื่นวดี จะลงสมัครแข่งขันเพื่อจะได้อยู่ในอำนาจต่อไปด้วยก็ตาม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ได้ยื่นฟ้องสำนักงาน ก.ล.ต.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และนายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีขั้นตอนการพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. โดยกล่าวหาว่านายพิชิตในฐานะประธาน ก.ล.ต. มีส่วนได้เสียและมีความเป็นปฏิปักษ์กับนางสาวรื่นวดี แต่นายพิชิตไม่ถอนตัวหรืองดเข้าประชุม เพื่อลงมติในวาระเลือกเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ทำให้ผลการคัดเลือกไม่เป็นธรรมต่อนางสาวรื่นวดี จึงได้นำคดีมาฟ้อง

โดยสรุปคำขอท้ายฟ้องแบบภาษาชาวบ้านได้ว่า

1. ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนผลกระบวนการสรรหาเลขาธิการฯ ที่ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้สำนักงาน ก.ล.ต. สอบถามความสมัครใจของตนเองเสียก่อนว่า อยากดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไปอีกวาระหนึ่งหรือไม่ โดยนางสาวรื่นวดีอ้างว่าตนมีคุณสมบัติที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะมีสิทธิได้รับการขยายอายุการทำงานได้อีกวาระหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตาม “แนวปฏิบัติ” ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยไม่จำเป็นต้องสรรหาเลขาธิการฯ คนใหม่

2. ขอให้ศาลสั่งให้ดำเนินการสรรหาใหม่ ตามเกณฑ์ที่ตนเห็นว่าเป็นธรรม กล่าวคือให้พิจารณาถึงคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ ผลงาน ตลอดจนประสบการณ์ของบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการ

หากยึดตามตรรกะทำนอง รื่นวดี ซึ่งอยากต่ออายุโดยไม่ต้องแข่งขัน หรืออยากคัดสรรใหม่ก็ตามที   ก็น่าตั้งคำถามว่า…คณะกรรมการ ก.ล.ต. ไว้อีกทำไม  เนื่องจาก “แนวปฏิบัติ” เรื่องการต่อวาระตำแหน่งเลขาธิการฯโดยอัตโนมัติ ไม่ได้ถูกบัญญัติเป็นกฎหมายใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และเมื่อเทียบเคียงกับหน่วยงานในลักษณะใกล้เคียงกัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ก็ใช้วิธีเปิดสรรหาเป็นการทั่วไป เพื่อให้กระบวนการมีความโปร่งใส และเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร   อีกทั้ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่ละท่านก็เป็นตัวแทนหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ย่อมมีวิจารณญาณส่วนตัว เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติและความเหมาะสมแล้วเห็นว่าการเปิดสรรหาเป็นการทั่วไป คือทางเลือกที่ดีกว่า โปร่งใสกว่า ก็ไม่แปลกที่จะมีมติไปตามนั้น ประกอบกับคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสการสมัครเข้ารับการสรรหาของนางสาวรื่นวดี แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อนางสาวรื่นวดี ตัดสินใจเลือกลงสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นเลขาธิการฯ ก.ล.ต. แล้วผลปรากฎว่าไม่ได้รับเลือกเข้ารอบเป็น 2 คนสุดท้ายตามกระบวนการที่ตนเองก็ยอมรับแต่แรก จึงกลับมาย้อนความ หาประเด็นยื่นฟ้องประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และ สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ประเดี๋ยวคนจะครหาว่าเข้าทำนองขี้แพ้ชวนตี ซ้ำยังมีคำขอให้ยกเลิกกระบวนการสรรหาที่ทำไปแล้วทั้งหมด และขอให้สอบถามตนเองเสียก่อนว่าอยากต่ออายุตำแหน่งงานของตนหรือไม่ หรือพูดง่ายๆ อยากชนะ แต่ไม่อยากลงแข่งนั่นเอง

หากพิจารณาเหตุผลที่นางสาวรื่นวดีผู้ที่ “อยากชนะ โดยไม่ต้องแข่ง” เพราะผลกรรมอันน่าหวาดเสียวมันจ่อคอหอยอยู่หรือไม่

(1) ผลงานชิ้นโบดำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา  เช่น

(1.1) ปัญหาในวงการตลาดทุน

– MORE

การซื้อขายหุ้นของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE นั้นมีปริมาณการซื้อขายผิดปกติส่อเค้าว่าเป็นการสมคบคิดกันปั่นหุ้น แม้ว่าจะเป็นความผิดคลาสสิกตามกฎหมายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ ก.ล.ต. แต่ด้วยความล่าช้าในการดำเนินการทำให้ใช้ระยะเวลากว่า 3 เดือนจึงสามารถกล่าวโทษผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MORE พร้อมพวก 18 รายต่อพนักงานสอบสวนได้ ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงการทำงานของ ก.ล.ต. ภายใต้การนำของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กลับกัน กลายเป็น ตลท. ที่พยายามหยุดความเสียหาย โดยประกาศห้ามซื้อขายหุ้น MORE เป็นการชั่วคราว รวมถึงจับมือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมซื้อขายที่ผิดปกติ และประสานกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้ดำเนินการสอบสวน

– STARK

หุ้น STARK นั้นเริ่มเห็นความไม่ปกติตั้งแต่เดือน ก.พ. 2566 เนื่องจากผู้สอบบัญชีพบและได้แจ้งพฤติการณ์อันควรสงสัย ต่อมาวันที่ 28 ก.พ.2566 บริษัทฯ ประกาศส่งงบล่าช้า โดยได้ขอเลื่อนการส่งงบรวม 3 ครั้งจนถึงเดือนเมษายน ดังนั้นแม้จะเริ่มมีความผิดปกติมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่นางสาวรื่นวดีก็ไม่ได้ดำเนินการใดใดจนกระทั่งหมดสมัยไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2566 และนายธวัชชัย พิทยโสภณ ขึ้นมารักษาการแทน ก.ล.ต. จึงได้สั่งให้ STARK ชี้แจงข้อเท็จจริง และจัดให้มี extended-scope special audit ในวันที่ 17 พ.ค.2566 นำมาสู่การกล่าวโทษบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) กรรมการอดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันแต่งบัญชี STARK และบริษัทย่อย รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK สร้างความเสียหายเฉพาะนักลงทุนรายย่อยกว่า 6700 คน รวมกว่า 13,000 ล้านบาท

(1.2) ปัญหาวงการสินทรัพย์ดิจิทัล

วันที่ 20 ก.ค. 2565 Zipmex แฟลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติไทยประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีในผลิตภัณฑ์ ZipUp+ ซึ่งเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไทย ไปฝากกับ Babel และ Celsius บริษัทต่างชาติ เพื่อหาประโชยน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาแต่บริษัทต่างชาติดังกล่าวส่อแววว่าจะล้มละลาย ทำให้ไม่สามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาคืนลูกค้าได้ คิดมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 2,600 ล้านบาท ต่อมา ก.ล.ต. ภายใต้การนำของนางสาวรื่นวดี ได้สั่งปรับนายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซิปเมกซ์ รวมทั้งหมดเป็นเงินราว 2.6 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนของค่าปรับเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ลงทุน ความเสียหายนั้นสูงกว่าเป็น 1,000 เท่าของค่าปรับ ประกอบกับท่าทีนิ่งเฉยจากทาง ก.ล.ต. ที่ไม่มีข่าวว่าได้ตั้งเรื่องสอบสวนหรือดำเนินคดีกับ Zipmex มีเพียงการเรียกไปชี้แจงเท่านั้น หรือจะเป็นผลจากความเกรงใจทีมผู้บริหารของ Zipmex ซึ่งเป็นบุคคลในตระกูลใหญ่มีชื่อเสียงหรือไม่ อย่างเช่น พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด (CMO) ของ Zipmex ที่เป็นลูกสาวของนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เรียกว่าบริษัทนี้เป็นเครือข่ายธุรกิจสว.ก็ว่าได้ ซ้ำร้ายจากเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 Zipmex ประกาศว่าจะคืนเงินให้กับเจ้าหนี้ทุกคน แต่คืนให้เพียง 5.1% ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด โดยคำนวณจากมูลค่า ณ วันที่ 20 ก.ย. 2565 เรียกอีกอย่างว่าถ้าลงทุน 1,000 บาท จะเหลือ 51 บาท หรือความเสียหาย 2,600 ล้านบาท Zipmex รับผิดชอบเพียง 133 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่ง Zipmex กล้าทำเช่นนี้ ในยุคการกำกับดูแลของนางสาวรื่นวดี ซึ่งส่อไปในทางล้มเหลวในหน้าที่การคุ้มครองนักลงทุนหรือไม่

– FTX Binance OKEX

กระดานเทรด Binance ที่แม้มีข่าวร่วมกับกลุ่มทุนใหญ่ตั้งนิติบุคคลใหม่สัญชาติไทย โดยได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของ Binance Global  แม้ทาง ก.ล.ต. จะเคยกล่าวโทษไว้กับพนักงานสอบสวนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากทาง ก.ล.ต. ว่าจะสามารถดำเนินกิจการโดยอิสระต่อไปในประเทศไทยได้หรือไม่ นอกจากนี้ผลจากการปล่อยปะละเลยของ ก.ล.ต. นี้เอง

เมื่อเกิดวิกฤติ FTX ล่มสลาย พบว่ามีนักลงทุนจากประเทศไทย จำนวนเกือบ 130,000 คน ได้รับผลกระทบ ซึ่งแน่นอนนักลงทุนจากประเทศไทยก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรเอาจากแพลตฟอร์มเถื่อนต่างชาติได้ และล่าสุด OKEX ไม่ได้รับใบอนุญาตในไทยอีกเช่นกัน ได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักของคอนเสิร์ตใหญ่ในประเทศไทยอย่าง Rolling Loud และชักชวนให้ชาวไทยสมัครเข้าใช้งานอย่างเปิดเผย

จากกรณีเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ก.ล.ต. ภายใต้การนำของนางสาวรื่นวดี  ไร้ซึ่งมาตรการเชิงรุกและเป็นรูปธรรม  ปล่อยปละละเลยให้แพลตฟอร์มต่างชาติ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทย สามารถประกอบกิจการในประเทศไทยได้อย่างอิสระ เมื่อเกิดความเสียหายนักลงทุนไทยก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่เพียงเท่านั้น ยังถือเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบกิจการชาวไทย ที่ต้องทำตามกฎกติกาอันเคร่งครัดของ ก.ล.ต. ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม

– Bitkub

ก.ล.ต มีคำสั่งให้ Bitkub Online ประสานกับผู้ออกเหรียญ KUB (Bitkub Chain) ให้แก้ไขมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์เหรียญ KUB และแก้ไขในส่วนของ adminTransfer ในเรื่องนี้ทาง บริษัทบิทคับได้ชี้แจงไปยังสำนักงาน ก.ล.ต.  ว่าเหรียญ Kub นั้นไม่ได้มีเทคโนโลยี Admin Transfer แต่อย่างใด อาจจะเป็นความเข้าใจผิดของทาง ก.ล.ต. เอง โดยเรื่องนี้มีผลกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของเหรียญ KUB ซึ่งทาง ก.ล.ต. ใช้เวลากว่า 7 เดือน จึงมีมติว่า Bitkub ได้แก้ไขตามการสั่งการของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ชั่วระยะเวลานั้นได้ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจใน Bitkub เนื่องจากมีปัญหาคาราคาซังกับทาง ก.ล.ต. และมีนักลงทุนมากมายที่เสียหายเพราะความไม่ชัดเจนในกรณีนี้

(2) ข้ออ้างเรื่องความไม่เป็นกลางของ คณะกรรมการ ก.ล.ต.

นางสาวรื่นวดีกล่าวอ้างไว้ในคำร้องต่อศาลปกครอง ว่าคนในคณะกรรมการ ก.ล.ต. หลายคนมีความไม่เป็นกลางและมีส่วนได้เสียในการไม่ต่ออายุตน โดยเฉพาะในส่วนของประธานบอร์ด คือ นายพิชิต อัคราทิตย์ ที่แม้จะมีส่วนพัวพันกับบริษัท  เอเชียเวลท์ จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีโดยสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ความเป็นจริงนายพิชิตได้ขายหุ้นให้บุคคลอื่นและสละเก้าอี้บริหารเพื่อเคลียร์ตัวเองตั้งแต่ตอนที่เตรียมเข้านั่งเป็นประธาน คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในปี 2563 แล้ว และในส่วนของภรรยาของนายพิชิต ก็ถือหุ้นในบริษัท เอเชียเวลท์ โฮลดิ้ง จำกัด (บริษัทแม่) อยู่เพียง 1.25% ซึ่งก็ไม่ได้มีอำนาจใดๆในทางบริหาร

ในส่วนของนายพรชัย ชุนหจินดา ถูกข้อครหาจากนางสาวรื่นวดีว่าไม่เป็นกลาง เนื่องจากเป็นพี่น้องกับหนึ่งใน 11 บุคคลที่ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่งกรณีขายหุ้น บริษัท ผลธัญญะ จำกัด (มหาชน) โดยใช้ข้อมูลภายใน อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวของนายพรชัยนั้นก็ไม่ได้ถูกร้องเรียน หรือมีส่วนพัวพันกับ บริษัท ผลธัญญะ แต่อย่างใด จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่านายพรชัยมีอคติกับนางสาวรื่นวดีตามที่ถูกกล่าวหา

และเรื่องตลกร้ายที่สุด เป็นกรณีของนายสุภัค ศิวะรักษ์ และนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ทั้งสองท่านนี้เคยประเมินผลงานของนางสาวรื่นวดีในปี พ.ศ. 2562 โดยประเมินนางสาวรื่นวดีต่ำกว่าที่นางสาวรื่นวดีประเมินตนเอง ซึ่งการให้คะแนนประจำปีเป็นเรื่องปกติของการประเมินผลงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรในอนาคต ถ้าแค่การให้คะแนนประเมินผลงานประจำปีก็เอามาเป็นเหตุว่าทั้งสองท่านมีความไม่เป็นกลางเสียแล้ว  ต่อไปคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือแม้แต่ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานอื่นคงไม่สามารถมีการประเมินผลงานผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากันได้อีก

(3) ข้อครหาเรื่องการบริหารงานภายในสำนักงาน ก.ล.ต.

เรื่องนี้เป็นปัญหาภายในองค์กรที่ถูกบรรยายด้วยความคับแค้นใจผ่านจดหมายน้อยนิรนามจำนวนมาก ซึ่งคนภายนอกไม่มีทางล่วงรู้ได้ว่าจริงเท็จหรือไม่ประการใด โดยเนื้อหาแต่ละเรื่องล้วนเป็นประเด็นร้ายแรงที่จะส่งผลต่อการทำหน้าที่กำกับดูแลของ ก.ล.ต. และกำลังใจของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ อีกทั้งยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกลไกรับผิดและกลไกตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนภายในสำนักงาน ก.ล.ต. ว่ายังใช้การได้ดีอยู่หรือไม่ ตัวอย่างเนื้อหาในจดหมายนิรนามมีดังนี้

“ตลอดช่วงสี่ปีที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ล.ต. ได้อ่อนแอลงมาก เพราะการบริหารงานหลายด้านไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล ส่งผลให้พนักงานที่มีความรู้ความสามารถมากกว่า 200 คนต้องลาออก และมีอีกจำนวนมากที่แม้ไม่ลาออก แต่เลือกจะอยู่เฉย ๆ ไม่ทำงานเต็มความสามารถที่มี”

“เป็นยุคที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยพนักงานมากที่สุดตั้งแต่ตั้งสำนักงาน ก.ล.ต. มา จนพนักงานกลัวไปหมด ไม่กล้าทำงานอย่างเต็มที่”

“มีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและที่ปรึกษาหลายคน จากกลุ่มผู้บริหารที่ใกล้เกษียณอายุ ซึ่งมีผลประเมินการทำงานก่อนหน้านั้นเพียงปานกลาง-ต่ำ …ปัจจุบัน ก.ล.ต. มีอดีตพนักงานที่เป็นที่ปรึกษาแล้ว 10 ตำแหน่ง หลายตำแหน่งไม่สามารถระบุขอบเขตงานที่ชัดเจน …นอกจากนี้ ที่ปรึกษาแต่ละคนได้รับเงินเดือนกันคนละหลายแสนบาทต่อเดือน …ที่ปรึกษาบางรายยังเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร ซึ่งมีผลกระทบต่อการบริหารงานองค์กร เนื่องจากเข้ามาแทรกแซงการทำงานปกติได้”

แม้คนนอกจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหาเหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่ แต่มีตัวเลขชัดเจนตามข้อข้อเท็จจริง ยืนยันว่าตั้งแต่นางสาวรื่นวดีเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการเมื่อเดือนพ.ค. 2562 ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่สำนักงาน ก.ล.ต. จัดตั้งขึ้น กล่าวคือ มีผู้บริหารลาออกจำนวนมากถึง 15 คนทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการลาออกกันน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย โดยในยุคของนายรพี สุจริตกุล ลาออกเพียง 1-2 คนเท่านั้น และพนักงานที่มีผลการทำงานดีเด่นลาออกสูงขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับภาวะปกติ

ความพยายามเฮือกสุกท้ายของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ที่ไม่ยอมปล่อยเก้าอี้เลขาธิการ ก.ล.ต. ตำแหน่งที่ตนเองนั่งมาแล้ว 4 ปี ซึ่งถือเป็นยุคมืด หากมองผ่านสายตาของ ‘คนใน’ และถือเป็นยุคแห่งความอ่อนแอ หากมองผ่านสายตาของ “คนนอก” มีผู้เสียหายมหาศาลที่รู้สึกว่า ก.ล.ต. ไม่สามารถคุ้มครองนักลงทุนได้  ไม่น่าแปลกใจที่นางสาวรื่นวดีจะเรียกร้องให้ศาลปกครองเพิกถอนกระบวนการสรรหาทั้งหมด และเริ่มกระบวนการใหม่ โดยให้เริ่มจากการถามความสมัครใจของนางสาวรื่นวดีก่อนโดยยังไม่ต้องมีการสรรหาใหม่ เนื่องจากผลงานที่ผ่านมาของตัวเองนั้นเป็นที่แน่นอนว่าถ้าลงแข่งเพื่ออยู่ต่ออีกสมัย ผลก็คงออกมาอย่างที่เป็นอยู่ อาจจะไม่มีหน้าอยู่ติด ในรายชื่อ 1 ใน 2 ของผู้ที่เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งเลขาธิการฯ เพื่อส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณานั่นเอง

กรรมติดจรวด ผลงานดีชั่วมันค้ำคอ นักลงทุนทั่วประเทศตัดสินได้ หากแข่งอีก สอบตกอีก จะเอาหน้าไปไว้ไหน!!!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts