นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเป็นที่สุดเมื่อ 27 ก.ค.66 ที่ผ่านมา โดยให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโด Ashton Asoke ด้วยเหตุผล
ที่ดินของ รฟม.ไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
กรณีดังกล่าว เจ้าของอาคารดังกล่าวพยายามที่จะดึงเจ้าของร่วมหรือผู้ซื้อห้องคอนโด 580 ครอบครัวมาเป็นพวกเพื่อกดดันให้กรุงเทพมหานครและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ร่วมรับผิดชอบและเยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
กรณีปัญหาดังกล่าว เจ้าของอาคารแอชตัน ควรจะต้องสำเหนียกและทบทวนต่อผลที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่รับรู้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่าที่ดินที่ตั้งของอาคารแอชตัน เป็นที่ดินที่มีทางเข้า-ออกเพียง 6.4 เมตร ไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้เกิน 23 เมตรหรือไม่เกิน 8-9 ชั้นเท่านั้น ซึ่งนักDevelopper ต่างรู้กันดีในข้อกฎหมายดังกล่าว เพราะถ้าสามารถสร้างอาคารสูงได้มากกว่า 23 เมตร ที่ดินแปลงดังกล่าวคงถูกซื้อไปจากเจ้าของที่ดินเดิมนานแล้ว ไม่ตกมาถึงมือเจ้าของตึกแอชตันหรอก
แต่การที่อาคารแอชตันสามารถได้ใบอนุญาตก่อสร้างได้เกิน 23 เมตรนั้น เพราะอะไร หรือมีมหัศจรรย์ปาฎิหารย์ทางกฎหมายหรืออย่างไร เด็กอมมือทั่วไปก็น่าจะรู้ว่าเป็นเพราะอะไร การอ้างฝ่ายเดียวว่าได้รับอนุมัติจาก 8 หน่วยงานราชการ ได้ใบอนุญาตถึง 9 ฉบับ ได้รับความเห็นก่อนดำเนินการจาก 7 หน่วยงานและ 5 คณะกรรมการมาแล้ว ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างได้ เพราะเมื่อติดกระดุมเม็ดแรกผิด คือไปเช่าที่ดินจาก รฟม.เป็นทางเข้า-ออก ทั้งๆที่ควรจะรู้ตั้งแต่แรกก่อนขออนุญาตก่อสร้างแล้วว่าเป็นที่ดินที่ รฟม.ได้มาจากการเวนคืนจากประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเกี่ยวกับการขนส่งมวลชนเท่านั้น การที่ รฟม.ซิกแซกกฎหมาย ออกระเบียบเกินไปกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ แล้วนำมาให้เอกชนเช่า เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมาตั้งแต่ต้น ทำให้การกลัดกระดุมเม็ดต่อๆไปก็ผิดตามมาทั้งหมด ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น ชอบที่เจ้าของอาคารย่อมรับรู้ความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้น จะมาไวยวายแล้วดึงลูกบ้านมากดดันให้ กทม.รับผิดชอบแทนตนนั้น หาถูกต้องไม่
ที่สำคัญ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นชาวบ้าน ซ.สุขุมวิท 19 แยก 2 ร้องเรียนผู้ประกอบการมาก่อนการฟ้องคดี ก่อนการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2557-2559 แล้ว แต่บริษัทกลับเพิกเฉย ไม่รีบเข้าไปเจรจาป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการก่อสร้างกับชาวบ้านข้างเคียงให้เบ็ดเสร็จหรือเปล่า หรือย่าใจในมหศจรรย์ของกฎหมายและเจ้าหน้าที่ จนทำให้ชาวบ้านต้องมาร้องขอความเป็นธรรมและขอความช่วยเหลือทางคดีกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
ทางออกของเรื่องนี้มีทางเดียวคือ ต้องไปเจรจาซื้อที่ดินจากเอกชนแปลงใดก็ได้เพื่อให้มีทางเข้า-ออกอาคารแอชตันสู่ถนนสายหลักที่มีความกว้างไม่ต่ำกว่า 18 เมตร โดยทางเข้า-ออกนั้นต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร แค่นี้ถ้าทำได้ก็สามารถนำไปขอใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจึ้นได้แล้ว มัวแต่ไปกดดัน กทม.หรือ รฟม.ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ถ้าไม่รีบไปเจรจาซื้อทางเข้า-ออกมาเพิ่ม หน้าที่เอาผิด กทม.และรฟม.ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสมาคมฯและชาวบ้านผู้ฟ้องคดีจะเหมาะสมกว่า ถ้าเดินเกมส์ผิดสุดท้ายอาคารที่มีมูลค่า 6,400 กว่าล้าน คงต้องถูกทุบทิ้งเป็นแน่แท้ นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด