วันอังคาร, กันยายน 24, 2024
หน้าแรกการเมืองปม “ตั้งเลขาธิการ” กสทช. เถียงกันนัว “ไม่ไว้หน้าประธาน”  ทำบอร์ด กสทช. “ร้าวหนัก” หมอไห่ฉุน “ปิดประชุม”

Related Posts

ปม “ตั้งเลขาธิการ” กสทช. เถียงกันนัว “ไม่ไว้หน้าประธาน”  ทำบอร์ด กสทช. “ร้าวหนัก” หมอไห่ฉุน “ปิดประชุม”

“….ประธาน เมินเสียงต้านตั้งแท่นอุ้ม “ไตรรัตน์” สุดลิ่ม! ชิงปิดประชุมกะทันหันทำแผนปรับโครงสร้าง สำนักงาน กสทช.เคว้งด้วย แฉประธานบอร์ด กสทช.เมินเสียงต้าน เดินหน้าชง “ไตรรัตน์” นั่งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ แม้ที่ประชุมกสทช.เสียงส่วนใหญ่รุมต้านหนัก เหตุยังเคลียร์หน้าเสื่อมติบอร์ดสั่งปลด-ตั้งกรรมการสอบไม่ลงตัว ก่อนชิงปิดประชุมหนีเสียงโหวตค้านท่วม โดยระหว่างที่ กสทช.บางคนออกไปพักนั้น นายสรณ ได้กลับเข้ามาในที่ประชุมและกล่าวใส่ไมโครโฟนว่า ขอปิดการประชุม ก่อนจะรีบรุดออกจากที่ประชุมไป  ทิ้งให้บอร์ดกสทช.ที่เหลือได้แต่ทำหน้างงงัน ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในการประชุม กสทช. มาก่อน    -ทำให้แผนปรับโครงสร้างองค์กร กสทช.เคว้งไปด้วย…”

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าในการประชุมบอร์ด กสทช.ครั้งที่ 16/2566 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 66  ที่ผ่านมา ซึ่งมีกระแสข่าวสะพัดก่อนหน้าว่าในการประชุมครั้งนี้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.จะเสนอให้บอร์ด กสทช.เห็นชอบแต่งตั้ง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ขึ้นเป็นเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ในวาระอื่น ๆ นั้น

ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เลขาธิการ กสทช.

ปรากฏว่าเมื่อถึงวาระดังกล่าวกรรมการ กสทช.4 คนที่ประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต (ด้านโทรทัศน์), รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์) , พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกระจายเสียง) และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ (ด้านกิจการโทรคมนาคม) ได้ทวงถามประธาน กสทช. เรื่องมติ กสทช.ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ กสทช.และตั้งคณะกรรมการสอบวินัยนายไตรรัตน์  รวมทั้งยังเห็นชอบให้ “นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ” รองเลขาธิการ ด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ขึ้นปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. แทน แต่ประธาน กสทช. ยืนยันต่อที่ประชุมว่า จะไม่ลงนามในคำสั่งเปลี่ยนตัวรักษาการ โดยอ้างว่า เป็นอำนาจของประธาน กสทช.

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต
รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์
ภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ

*ยันเป็น “มติ กสทช.”ที่บอร์ดรับรองไปแล้ว*

อย่างไรก็ตาม กสทช.เสียงส่วนใหญ่ต่างยืนยันว่า มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 ดังกล่าวถือได้ว่ามีผลทางกฎหมายไปแล้ว โดยที่ประธาน กสทช.ไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะการเห็นชอบให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ กสทช. จากนายไตรรัตน์  มาเป็นนายภูมิศิษฐ์ นั้น เป็นไปตามมติเสียงส่วนใหญ่ อันเป็นผลสืบเนื่องจากผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของรักษาการ เลขาธิการ กสท.ในการบริหารงบกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 600 ล้านที่ให้การสนับสนุนการจัดซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก 2022  โดยละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎ “มัสต์แคร์รี่ (Must Carry)” และตามวัตถุประสงค์ที่ กสทช.ให้การสนับสนุน

นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกบันทึกข้อความจากนายภูมิศิษฐ์ ที่ขอให้ที่ประชุม กสทช. วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีการดำเนินการตามมติ และนายไตรรัตน์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่บริหารจัดการ และลงนามในหนังสือ คำสั่งและประกาศสำคัญต่างๆ ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ามติที่ประชุม กสทช. ที่ให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการฯ จะผ่านการรับรองรายงานการประชุมแล้วก็ตาม

*ประธาน กสทช. ชิ่งหนีเสียงโหวตพัลวัน*

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในครั้งนี้ ได้อ้างถึง ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. พ.ศ. 2555 ข้อ 16 ที่ระบุว่า  “ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้เลขาธิการเสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของ กสทช. ให้เป็นที่สุด” 

แต่อย่างไรก็ตาม ประธาน กสทช.ปฏิเสธที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาวินิจฉัย โดยอ้างว่า ไม่มีการบรรจุวาระนี้ ในการประชุมครั้งนี้ แม้ที่ประชุมจะแย้งว่า เป็นวาระติดตามการดำเนินการตามมติบอร์ด กสทช.ก็ตาม แต่ประธานก็ไม่ยินยอม และระบุว่า วาระติดตามมติ ต้องเป็นวาระที่พิจารณาในช่วงท้ายของการประชุมหลังวาระเสนอเพื่อพิจารณาอื่นๆ จบหมดแล้ว แม้บอร์ด กสทช.จะขอให้สลับวาระติดตามการดำเนินงานขึ้นมาพิจารณาก่อน เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญ และอาจนำมาสู่การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งสร้างความสับสนให้กับพนักงานผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน กสทช.ด้วย แต่ประธาน กสทช.ยังคงยืนกรานที่จะไม่นำระเบียบวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา

*ปรับโครงสร้างสำนักงาน กสทช. ค้างเติ่งอีก*

 ภายหลังการประชุมดำเนินไปร่วม 4 ชั่วโมง จนกระทั่งถึงเวลา 13.30 น. เมื่อถึงการพิจารณาวาระที่ 4.43 เรื่องการปรับโครงสร้างสำนักงาน กสทช.  ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานฯ เพื่อรองรับการหลอมรวมทางเทคโนโลยี ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เปลี่ยนไป และมุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ดีขึ้น โดยให้มีสายงานตามฟังก์ชั่นการบริหารคลื่นความถี่ตามหลักสากลที่ ITU แนะนำ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณและบุคลากรเท่าเดิม

แต่ประธาน กสทช. กลับอ้างว่า ต้องขอให้ทบทวนมติของ กสทช. ในเรื่องเดียวกัน เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นมติบอร์ด กสทช.ชุดที่แล้วก่อน โดยย้ำว่าจะต้องใช้เสียงกรรมการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อพิจารณา ตามข้อ 45 ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ซึ่งในประเด็นนี้ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดย กสทช. พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ประธานคณะทำงานการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช. ได้พยายามอธิบายความหมายของการทบทวนมติตามข้อ 45 ของระเบียบฯ ว่า ไม่ใช่ในกรณีนี้ มิเช่นนั้นแล้ว ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงแผนแม่บทฯ หรือการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือระเบียบต่างๆ ที่ กสทช. ชุดที่แล้วดำเนินการไว้ ก็ต้องมาขอทบทวนมติทุกครั้ง

ที่สำคัญ คณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช. ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 17/2565 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่เห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างสำนักงานฯ รวมทั้งการประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 ก็ได้เห็นชอบและให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างฯ ตามที่ประธานคณะทำงานฯ นำเสนอ ตลอดจนได้จัดประชุมรับฟังความเห็น โดยคณะกรรมการ กสทช.และผู้บริหารสำนักงานฯ ได้เข้าร่วมเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ไปแล้ว ก่อนที่จะถูกเสนอเข้าที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 26 มิ.ย.2566 แต่ได้ถูกเลื่อนการพิจารณามา เกือบสองเดือนแล้ว หลักฐานเหล่านี้จึงสะท้อนว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามมติและอยู่ในสายตาของบอร์ด กสทช. มาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการพิจารณาวาระ (ร่าง) โครงสร้างสำนักงาน กสทช. อยู่ในขอบเขตอำนาจที่สามารถใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุมพิจารณาตามระเบียบการประชุมฯ ได้ ส่งผลให้ กสทช. สามารถลงมติวินิจฉัยชี้ขาดโดยใช้เสียงข้างมากได้ทันที

* *ชิงปิดประชุมหลังจำนนข้อกฎหมาย*

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ กสทช.ทั้ง 4 คนได้เสนอให้มีการลงมติตามระเบียบดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ กสทช. ยึดถือปฏิบัติตามแนวทางนี้มาโดยตลอด  แต่ประธาน กสทช.กลับยืนกรานไม่ยินยอมให้มีการลงมติในเรื่องดังกล่าว โดยได้เสนอให้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ในขณะที่บอร์ด กสทช.เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นระเบียบภายใน กสทช.ที่ถือเป็นองค์กรอิสระและมีความเชี่ยวชาญมากที่สุด ก่อนที่ประธานจะขอพักการประชุมเป็นเวลา 20 นาที แม้บอร์ด 4 คน จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ประธาน กสทช. ก็ประกาศว่าขอพักการประชุมเป็นเวลา 20 นาที และเดินออกจากห้องทันที

 อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ กสทช.บางคนออกไปพักนั้น นายสรณ ได้กลับเข้ามาในที่ประชุมและกล่าวใส่ไมโครโฟนว่า ขอปิดการประชุม ก่อนจะรีบรุดออกจากที่ประชุมไป  ทิ้งให้บอร์ดกสทช.ที่เหลือได้แต่ทำหน้างงงัน ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในการประชุม กสทช. มาก่อน  ทำให้การปรับโครงสร้างสำนักงาน กสทช.รวมทั้งกรณีการหาข้อยุติถึงมติบอร์ด กสทช.ต่อกรณีการเปลี่ยนรักษาการเลขาธิการ กสทช. และการตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ยังคงค้างเติ่งไม่มี่ข้อยุติสักเรื่อง

@suebjarkkhao

“….ประธาน เมินเสียงต้านตั้งแท่นอุ้ม “ไตรรัตน์” สุดลิ่ม!* ชิงปิดประชุมกะทันหันทำแผนปรับโครงสร้าง สำนักงาน กสทช.เคว้งด้วย แฉประธานบอร์ด กสทช.เมินเสียงต้าน เดินหน้าชง “ไตรรัตน์””นั่งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ แม้ที่ประชุมกสทช.เสียงส่วนใหญ่รุมต้านหนัก เหตุยังเคลียร์หน้าเสื่อมติบอร์ดสั่งปลด-ตั้งกรรมการสอบไม่ลงตัว ก่อนชิงปิดประชุมหนีเสียงโหวตค้านท่วม โดยระหว่างที่ กสทช.บางคนออกไปพักนั้น นายสรณ ได้กลับเข้ามาในที่ประชุมและกล่าวใส่ไมโครโฟนว่า ขอปิดการประชุม ก่อนจะรีบรุดออกจากที่ประชุมไป ทิ้งให้บอร์ดกสทช.ที่เหลือได้แต่ทำหน้างงงัน ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในการประชุม กสทช. มาก่อน -ทำให้แผนปรับโครงสร้างองค์กร กสทช.เคว้งไปด้วย…”

♬ เสียงต้นฉบับ – Suebjarkkhao – Suebjarkkhao

#สืบจากข่าว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts