ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น “ผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” และอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์สิทธิของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่รัฐต้องให้ความสำคัญ เห็นว่าสิทธิในการมีหลักประกันด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องจัดให้กับผู้สูงอายุทุกคนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
เพื่อไม่ให้กระทบกับประชากรผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจตกหล่นหรือหลุดไปจากกระบวนการคัดกรอง ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต กสม. เห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาทบทวนระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐอย่างถ้วนหน้า และดำเนินมาตรการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ หรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งพิจารณาปรับอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ควรคงมาตรการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้และมีสุขภาวะที่ดี เช่น การส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ ส่งเสริมการออมในระบบกองทุนการออมแห่งชาติ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุในสังคมไทยต่อไป
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
23 สิงหาคม 2566