วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. ตรวจสอบกรณีพนักงานสอบสวน สภ. กำแพงแสน ดำเนินคดีล่าช้า กระทบสิทธิผู้เสียหาย เตรียมทำข้อเสนอแนะการสอบสวนคดีสำหรับผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา

Related Posts

กสม. ตรวจสอบกรณีพนักงานสอบสวน สภ. กำแพงแสน ดำเนินคดีล่าช้า กระทบสิทธิผู้เสียหาย เตรียมทำข้อเสนอแนะการสอบสวนคดีสำหรับผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา

วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 34/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. รับเรื่องกรณีผู้เสียหายได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีที่ล่าช้าของพนักงานสอบสวน
    สภ. กำแพงแสนไว้ตรวจสอบ เตรียมจัดทำข้อเสนอแนะการสอบสวนคดีสำหรับผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 บิดา มารดา พี่สาว และน้องสาวของผู้ร้องโดยสารรถยนต์ประสบอุบัติเหตุชนกับรถบรรทุกพ่วงลากจูง เป็นเหตุให้มารดาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนบิดา พี่สาว และน้องสาวบาดเจ็บสาหัส ถัดจากวันเกิดเหตุ เมื่อผู้ร้องไปติดตามคดีที่สถานีตำรวจภูธร (สภ.) กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ทราบว่า พนักงานสอบสวน สภ. กำแพงแสน (ผู้ถูกร้องที่ 1) ปล่อยให้คู่กรณีนำรถบรรทุกพ่วงลากจูงของกลางกลับไปโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหาต่อคนขับรถบรรทุก และต่อมาเมื่อผู้ร้องไปขอรับทรัพย์สินที่อยู่ในรถยนต์คันเกิดเหตุคืน เช่น เงินสด กุญแจบ้านและกุญแจรถจักรยานยนต์ของพี่สาว ผู้ถูกร้องที่ 1 กลับแจ้งว่าได้ส่งมอบให้กับญาติไปหมดแล้ว ซึ่งผู้เสียหายหรือญาติยังไม่ได้ติดต่อขอรับทรัพย์สินแต่อย่างใด และเมื่อผู้ร้องเดินทางไปบ้านพักพี่สาว ก็พบว่า ภายในบ้านถูกรื้อค้น รถจักรยานยนต์สูญหาย จากนั้นได้ติดตามคดีอีกหลายครั้ง กระทั่งผู้ถูกร้องที่ 1 ย้ายไปปฏิบัติราชการในท้องที่อื่น พนักงานสอบสวน สภ. กำแพงแสน อีกราย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ได้มาทำหน้าที่รับผิดชอบคดีนี้แทน และมีการพูดจาข่มขู่ว่าจะออกหมายจับครอบครัวผู้ร้องและยุติการดำเนินคดีด้วย นอกจากนี้ ผู้ร้องต้องใช้รายงานการสอบสวนเพื่อประกอบการยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 แต่เนื่องจากการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา จึงขอให้ตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดี

กรณีดังกล่าว กสม. ได้รับไว้เป็นคำร้อง โดยในเบื้องต้นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยติดต่อสอบถามข้อเท็จจริงไปยังผู้ร้อง ผู้ถูกร้องที่ 2 และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครปฐม สรุปได้ดังนี้

ผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคนเดิม ได้สรุปสำนวนการสอบสวนและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว แต่พนักงานอัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและส่งสำนวนคืน โดยให้สอบปากคำบิดา พี่สาว และน้องสาวซึ่งเป็นผู้เสียหายทั้งสามรายก่อน ต่อมาผู้ถูกร้องที่ 1 ย้ายไปปฏิบัติราชการท้องที่อื่น ผู้ถูกร้องที่ 2 จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ได้ออกหมายเรียกผู้เสียหายมาสอบปากคำ โดยส่งหมายเรียกตามภูมิลำเนา จำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่มีคนรับหมาย หรือติดต่อเข้ามาสอบปากคำ ส่วนการขอรายงานการสอบสวนเพื่อใช้ขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยา ไม่สามารถให้ได้เนื่องจากคดียังสอบสวนไม่แล้วเสร็จและยังไม่ได้ส่งสรุปสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการ

สำหรับการส่งมอบทรัพย์สินในรถคันเกิดเหตุให้กับบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่ผู้ร้องหรือญาติ และไม่ทำบัญชีรายการทรัพย์สินที่ส่งมอบคืน และไม่แจ้งข้อกล่าวหาคนขับรถบรรทุก ผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจงว่าเป็นการพิจารณาจากพยานหลักฐานว่า คู่กรณีไม่ได้มีส่วนที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการในช่วงของผู้ถูกร้องที่ 1 โดยผู้ร้องได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีไว้แล้ว

ด้านผู้ร้องให้ข้อมูลความเสียหายสรุปว่า บิดาป่วยหลายโรคและสุขภาพไม่แข็งแรงมาตั้งแต่ก่อนประสบอุบัติเหตุ หลังเกิดเหตุบิดามีอาการประสาทตาเสื่อมทั้งสองข้าง หูไม่ได้ยินต้องใช้เครื่องช่วยฟัง เดินไม่ได้เป็นผู้ป่วยติดเตียง ส่วนน้องสาวมีอาการช็อกเนื่องจากเห็นภาพมารดาเสียชีวิตอยู่ตรงหน้า กลายเป็นคนเสียสติ กรีดร้องโวยวาย ไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ โดยได้ยื่นคำขอต่อศาลให้สั่งให้เป็นคนวิกลจริตที่อยู่ในความดูแลของผู้อนุบาลแล้ว ซึ่งทั้งบิดาและน้องสาวต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนพี่สาวยังมีอาการเจ็บปวดบริเวณแผล

ในด้านการดำเนินคดี ผู้ร้องแจ้งว่า ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์จากการที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ให้ทรัพย์สินที่อยู่ในรถยนต์คันเกิดเหตุไปกับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติหรือผู้ร้อง และบ้านพักพี่สาวถูกรื้อค้น ทรัพย์สินสูญหายไปแล้ว ส่วนคดีที่เกิดเหตุรถชนนั้น ผู้ร้องได้ติดตามคดีหลายครั้ง โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ได้แจ้งข้อมูลคดีและออกหมายเรียกให้พาผู้เสียหายทั้งสามไปสอบปากคำ หากไม่พาไปตามหมายเรียกจะออกหมายจับผู้เสียหาย และจะถือว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแล้ว ซึ่งผู้ร้องได้ขอเลื่อนการสอบปากคำออกไปก่อน เนื่องจากบิดาเป็นผู้ป่วยติดเตียง เคลื่อนย้ายลำบาก และต้องรอเครื่องช่วยฟังจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครปฐม ส่วนน้องสาว ยังมีอาการทางจิตที่ไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ อย่างไรก็ดี ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้แจ้งตอบเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ว่าจะเดินทางไปสอบปากคำที่บ้านพักของผู้เสียหาย เพื่อเป็นการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียหายแล้ว

สำหรับการขอรับเงินเยียวยาตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 จากการประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครปฐม แจ้งว่า ผู้เสียหายสามารถใช้บันทึกการแจ้งสิทธิเกี่ยวกับคดีได้ ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ได้มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายคือครอบครัวของผู้ร้องแล้ว

จากผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่แจ้งข้อกล่าวหาคู่กรณี และส่งมอบทรัพย์สินในรถคันเกิดเหตุให้กับบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยไม่ได้ทำบัญชีรายการทรัพย์สินไว้ และผู้ถูกร้องที่ 2 พูดจาข่มขู่จะยุติการดำเนินคดี ประกอบกับระยะเวลาการสอบสวนได้ล่วงเลยมาเกินสมควรแล้ว แต่ยังทำการสอบสวนไม่แล้วเสร็จ อาจเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่กระทบสิทธิของผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรมที่จะได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว และเป็นธรรม ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 68 ประกอบกับคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา จึงมีมติให้รับคำร้องนี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป

นอกจากนี้ กสม. เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีบทบัญญัติกำหนดกฎเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการสอบสวน การสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือวิกลจริตไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีข้อจำกัดและเปราะบาง การสอบสวนด้วยวิธีการอย่างเดียวกันกับบุคคลปกติ จึงอาจส่งผลให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาไม่เข้าใจรายละเอียดของคดี หรือคำถามของพนักงานสอบสวน ตลอดจนอาจเกิดภาวะความเครียดหรืออาจให้การไม่ตรงกันเมื่อต้องเข้าให้การหลายครั้ง ทำให้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในแง่ของพยานหลักฐานและผลแห่งคดีอีกด้วย กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่อาจมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของคนพิการ ตามที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ กสม. จึงเห็นควรรับไว้เป็นคำร้องดำเนินการศึกษา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเชิงระบบด้วยอีกทางหนึ่ง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts