วันเสาร์, กันยายน 21, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 37/2566) กสม. เสนอนายกฯ ทบทวนการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง หวั่นผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประเทศไทย - เผยผลการตรวจเยี่ยมศูนย์กักตัว ตม. สงขลา...

Related Posts

(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 37/2566) กสม. เสนอนายกฯ ทบทวนการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง หวั่นผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประเทศไทย – เผยผลการตรวจเยี่ยมศูนย์กักตัว ตม. สงขลา พบการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักไม่เหมาะสม เสนอนายกฯ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เวลา 11.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 37/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. เสนอนายกฯ ทบทวนการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง หวั่นผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประเทศไทย

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 จำนวน 920 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 29 ปี นับแต่วันที่จ่ายไฟเข้าระบบ นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว และเห็นความสำคัญของการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศควบคู่กับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ติดตามข้อมูลและตรวจสอบโครงการดังกล่าวในชั้นกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า จึงเห็นควรมีหนังสือแจ้งข้อพิจารณาไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ทบทวนการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ตามเหตุผลและข้อเท็จจริงที่สรุปได้ดังนี้

เมื่อปี 2563 กสม. ได้มีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง โดยมีข้อเสนอแนะ ให้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยหาแนวทางเสนอให้ สปป.ลาว สร้างความมั่นใจว่าโครงการจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งสองริมฝั่งแม่น้ำโขง และให้คณะรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงข้อห่วงกังวลของทุกภาคส่วน และนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไปปรับใช้ประกอบการตัดสินใจ

ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2566 กสม. ได้ลงพื้นที่อำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พบว่า ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว อีกทั้งการสร้างเขื่อนที่ผ่านมาในแม่น้ำโขงทำให้เกิดผลกระทบสะสม เช่น ปริมาณน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาล ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ตะกอนแม่น้ำลดลง เกิดข้อพิพาทการอ้างสิทธิครอบครองเกาะดอนในแม่น้ำโขง เป็นต้น จึงมีข้อห่วงกังวลว่าโครงการอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งกระทบต่อแนวเขตแดนไทย – ลาว โดยผู้พัฒนาโครงการไม่ได้ศึกษาและประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เตรียมแผนรับมืออย่างชัดเจน

โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ต่อ กสม. ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงของ สรุปได้ว่า หลังจากสิ้นสุดกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ตามระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศสมาชิกตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2539 ได้ส่งข้อห่วงกังวลไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และจัดทำแถลงการณ์ร่วม ส่งต่อไปยัง สปป.ลาว โดย สปป.ลาว ได้ตอบสนองต่อข้อห่วงกังวล และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกร่วมให้ความเห็นในส่วนที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม แต่ปัจจุบันกลไกดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า และแม้ว่าการลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจะมีเงื่อนไขแนบท้ายสัญญา ระบุให้ผู้พัฒนาโครงการรับผิดชอบผลกระทบต่อประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการน้ำ แต่เมื่อหน่วยงานในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย รวมทั้งภาคประชาชน ได้แสดงข้อห่วงกังวลและสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ก็ไม่ได้รับทราบข้อมูลและความชัดเจนของผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ โดยที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2566 ไว้ที่ 36,390 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 56,456 เมกะวัตต์ คิดเป็นส่วนต่างปริมาณไฟฟ้าสำรอง 20,066 เมกะวัตต์ เกินกว่าร้อยละ 15 ตามมาตรฐานสากลของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ และยังมีประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ในหลายโครงการ รวมทั้งยังไม่มีการเปรียบเทียบความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยอาจสูญเสียงบประมาณในการป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ กสม. จึงกำหนดให้มีกระบวนการไต่สวนสาธารณะเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย

จากข้อเท็จจริงข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ประกอบมาตรา 57 ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะนำข้อห่วงกังวลและความเห็นของประชาชนไปพิจารณาก่อนตัดสินใจดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนหรือชุมชน แม้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงจะดำเนินการในเขตอธิปไตยของ สปป.ลาว แต่เนื่องจากแม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่าน 8 จังหวัดของประเทศไทยถือเป็นทรัพยากรร่วมของประชาชนทุกคนที่ได้ใช้ประโยชน์จนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การที่ กฟผ. ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว โดยกระบวนการศึกษาและประเมินผลกระทบตามแผนปฏิบัติการร่วมยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดนที่ชัดเจน กสม. จึงเห็นควรมีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีขอให้ทบทวนการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts