วันที่ 1 พ.ย.66 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ศาลปกครองสูงสุดได้นัดคู่กรณีมาพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 31 ต.ค.66 ที่ผ่านมา หลังจากที่สมาคมฯและชาวบ้านแม่รำพึงรวม 41 คนได้ยื่นอุทธรณ์หลังศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง 18 แปลงให้เอกชน โดยที่หน่วยงานรัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่ออกมาปกป้อง คุ้มครองดูแลที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ สมาคมฯและชาวแม่รำพึงจึงต้องลุกกันขึ้นมาปกป้องป่าพรุแม่นำพึงแทน
คดีนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้นำความมาฟ้องต่อศาลปกครองกลางตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่มีกลุ่มนายทุนโรงงานเหล็กพยายามจะเข้ามากว๊านซื้อที่ดินในป่าพรุแม่รำพึง เพื่อนำไปก่อสร้างและขยายโรงงานเหล็ก จนกระทั่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2555 โดยพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ที่ดินพิพาททั้ง 18 แปลงมิได้อยู่ในแนวเขตนอกป่าสงวนแห่งชาติและป่าชายเลน และมีชาวบ้านยึดถือครอบครองทำประโยชน์แล้ว ซึ่งขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงที่พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าพรุ มีต้นแสมและต้นไม้นานาพันธุ์ขึ้นเต็มพื้นที่ จะเป็นพื้นที่ที่มีการทำประโยชน์ไปได้อย่างไร สมาคมฯและชาวบ้านผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์สู้คดีไปยังศาลปกครองสูงสุด
กระทั้งศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดี โดยตุลาการผู้แถลงคดีซึ่งเป็นอีกองค์คณะหนึ่งในระบบไต่สวน ได้แถลงความเห็นส่วนตัวต่อองค์คณะสรุปได้ว่า เมื่อพิจารณษระวางจากภาพถ่ายทางอากาศ(แผนที่ทหาร)ในปี 2519 ปี 2538 และปี 2545 ไม่พบว่ามีการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท บางแปลงอาจมีร่องรอยการทำประโยชน์อยู่บ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การออกเอกสารสิทธิ์ น.ส.๓ ก. ของกรมที่ดินจึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นควรพิพากษาสั่งให้เพิกถอนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินป่าพรุดังกล่าว อาทิ น.ส.3 ก. เลขที่ 1173, 1174, 1175, 1734, 1739, 1738, 1981, 1179, 1829 และ น.ส.3 เลขที่ 1 เสีย โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่ออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว
คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ถือว่าเป็นแสงสว่างที่เป็นขวัญและกำลังใจให้กับชาวแม่รำพึง ที่จะร่วมมือกันในการปกปักรักษาทรัพยากรป่าพรุให้กับลูกหลานในอนาคตเพื่อใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่พัฒนาวิสาหกิจชุมชน โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาต่อยอดโดยใช้ฐานทรัพยากรจากป่าพรุดังกล่าวได้ และทุกคนต่างมีความหวังว่าในวันที่ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในเร็ว ๆ นี้ จะร่วมกันเดินทางมารับฟังและเตรียมการทำบุญสืบชะตาผืนป่าพรุดังกล่าวต่อไป