“…ป.ป.ช. ส่งหนังสือด่วนที่สุด!!! แจ้ง วัชระ เพชรทอง ที่ทวงถามถึงกรณีศาลได้มีคำพิพากษาให้โจทก์แจ้งให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็น “ผู้เสียหาย” ดำเนินการเพื่อให้จำเลยคือ “ทักษิณ ชินวัตร” ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 4,000 ล้านบาท ให้กับกระทรวงการคลังตามกฎหมายนั้น ป.ป.ช. ดำเนินการไปแล้วหรือไม่อย่างไร? : โดย ป.ป.ช. ยืนยันว่า ได้แจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการไปนานแล้ว : เผือกร้อนจึงตกลงบนเก้าอี้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทันใด! เอาไงดีละทีนี้ “ท่านนายกฯ” จำเลยผู้นั้นชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” เชียวนะจ๊ะ…”
ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ ได้ส่งหนังสือถึงพลตำรวจเอก วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อติดตามทวงถามกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 คดีระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ กับ พันตำรวจโท ทักษิณ หรือ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย มูลค่าความเสียหายจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (เงินกู้ยืมจำนวน 4,000 ล้านบาท) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ที่ให้กู้แก่รัฐบาลพม่า ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุว่า
“กรณีจึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ชอบที่จะต้องแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้จำเลยนั้นชดใช้ความเสียหายนั้นเอง ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายให้แก่กระทรวงการคลังเข้ามาในคดีนี้ได้ จึงต้องยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้” แต่ไม่ปรากฏข่าวต่อสาธารณะว่า ป.ป.ช.ได้ดำเนินการคืบหน้าอย่างไร
โดยวันนั้น นายวัชระ กล่าวกับผู้สื่้อข่าวว่า “ผมจึงอาศัยอำนาจตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ถาม ป.ป.ช.ว่าบัดนี้ระยะเวลาล่วงเลยมาแล้ว 4 ปี 5 เดือน
- สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งกระทรวงการคลังให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วหรือไม่ อย่างไร
- หากสำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่ได้แจ้งกระทรวงการคลังให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาจะเร่งดำเนินการเมื่อไหร่ อย่างไร และขอให้ส่งสำเนาเอกสารผลการดำเนินงานของ ปปช. ให้ทราบด้วย
ถ้าไม่มีคำตอบ ผมจะมาทวงหนี้ให้ประเทศทุกๆ เดือน จนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา”
“ผมไม่ขัดข้องที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะแต่งตั้งนายทักษิณเป็นประธานที่ปรึกษาของรัฐบาล เพราะมีความรู้ความสามารถจริง มีความเชี่ยวชาญในกิจการต่างประเทศเป็นอย่างมาก ควรที่จะมาพัฒนาประเทศร่วมกันแต่นายทักษิณต้องคืนเงินที่เอาไปให้กับประเทศของท่านบ้าง เพราะคนยากจนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน” นายวัชระ กล่าว
ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.ป.ช. โดย นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค ๙ รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ยืนยันต่อ นายวัชระ เพชรทอง ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. (โจทก์) ได้มีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพื่อให้ พันตำรวจโท หรือ นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) ชดให้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.๓/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม.๔/๒๕๕๑ ไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ป.ป.ช. ก็ได้มีการส่งหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ปช ๑๑๒๙/๑๓๕๕ ถึงปลัดกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.๓/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม.๔/๒๕๕๑ ระหว่าง ป.ป.ช. (โจทก์) และ พันตำรวจโท หรือ นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ว่า จำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ (เดิม) ให้จำคุก ๓ ปี ส่วนประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายให้แก่กระทรวงการคลังหรือไม่ เพียงใด นั้น ขณะยื่นฟ้อง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๓/๑ วรรคหนึ่ง (เดิม) กำหนดวิธีเรียกค่าเสียหายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)) เห็นชอบที่จะต้องแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้จำเลยชดใช้ความเสียหายนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลังเข้ามาในคดีนี้ได้ จึงต้องยกคำขอส่วนนี้ ซึ่งบัดนี้คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอเรียนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับทราบคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว และมีมติให้แจ้งผลคดีดังกล่าว ให้กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย ที่ต้องจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยความเสียหายที่เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยต่อไป…
ช่วงนี้งานเข้ารัฐบาล ท่านนายกฯ เศรษฐา ก่อนหน้านี้รถบรรทุกเหยียบฝาท่อพังยับที่ถนนสุขุมวิท ทำสังคมแตกตื่นกับสติ๊กเกอร์ตัว B หน้ารถ ต่างพากันสงสัยตั้งคำตามต่อนายกฯ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า “เป็นสติ๊กเกอร์ส่วยหรือไม่” และสดๆ ร้อนๆ เมื่อวานก่อนปม น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พูดถึง นายกรัฐมนตรี เตรียมจะดึงตำรวจจีนลาดตระเวนเมืองท่องเที่ยวหลักและรองในประเทศไทย หวังกระตุ้นความเชื่อมั่นเพิ่ม เพราะนายกฯ ห่วงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทำเอา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. นั่งไม่ติด ชี้แจงยืนยันว่า ไม่เคยคิดจะนำตำรวจจีนมาลาดตระเวนอยู่แล้ว เพราะการนำตำรวจจีนเข้ามาเป็นการล้ำอำนาจอธิปไตย พร้อมกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่มีใครเสนอมา และไม่ได้รับคำสั่งจากหน่วยงานใดทั้งสิ้น รวมถึงไม่มีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีด้วย โดยชี้แจงว่า อาจจะเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
วันก่อน..เสียงที่ วัชระ เพชรทอง เฝ้าตะโกนเรียกร้องขอความชอบธรรมต่อบ้านเมืองมันดังไปทุกช่องทางสื่อแล้ว กระจายทั่วสังคมโซเชียลไปแล้ว และสังคมก็สนใจติดตามมาอย่างยาวนาน อีกทั้ง ป.ป.ช.เองก็ยืนยันว่ามีมติเห็นชอบแจ้งไปยังกระทรวงการคลังถึง 2 ครั้ง 2 คราแล้วด้วย…
วันนี้ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่หลบหนีคดีไปเป็นเวลานานหลายปีก็กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมยอมกลับมาติดคุกต่อหน้าต่อตาท่านนายกฯ แล้ว : ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาตัดสิน คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว : ป.ป.ช. ก็ยืนยันว่า เห็นชอบแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้จำเลยชดใช้ความเสียหายนั้นไปแล้ว…
เอาไงดีละทีนี้ “ท่านเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง…จำเลยผู้นั้นชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” เชียวนะจ๊ะ…
สืบจากข่าว รายงาน