กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.มานะ กลีบสัตบุศย์ ผบก.ปทส., พ.ต.อ.อริยพล สินสอน, พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญญา รอง ผบก.ปทส., พ.ต.อ.วิศิษฐ์ พลบม่วง ผกก.1 บก.ปทส., พ.ต.ท.เอก มหาสวัสดิ์ รอง ผกก.1 บก.ปทส., พ.ต.ท.กษิดิ์เดช เจริญลาภ รอง ผกก.1 บก.ปทส.
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.ดนัย ดีดวงพันธ์ สว.กก.1 บก.ปทส., ร.ต.อ.อดิศร ดรตะโกน รอง สว.กก.1 บก.ปทส. พร้อมด้วยกำลังชุดปฏิบัติการจับกุม กก.๑ บก.ปทส.
ร่วมกันจับกุม นางนงลักษณ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 50 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครปฐม ที่ จ.61/2565 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2565
สถานที่จับกุม บริเวณริมถนน ภายในซอยสุขสวัสดิ์ แขวงบางประกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น.
พฤติการณ์ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2564 ผู้เสียหายได้ถูกคนร้ายติดต่อมาชักชวนให้ร่วมลงทุนหุ้นดิจิตอลทางเว็บไซต์ โดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งในครั้งแรกผู้เสียหายได้โอนเงินไปให้ผู้ต้องหาเป็นเงินจำนวนหลักหมื่นบาท แต่ต่อมาเมื่อได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ผู้เสียหายจึงลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งภายหลังเมื่อผู้เสียหายพยายามจะถอนเงินออกมา ผู้เสียหายกลับไม่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ โดยเมื่อสอบถามไปทางผู้ต้องหา ผู้ต้องหามักจะอ้างว่าจะต้องเสียภาษีก่อน หรือบางครั้งก็อ้างว่าทางธนาคารมีปัญหา ซึ่งต่อมาหลังจากนั้น ผู้เสียหายก็ไม่สามารถนำเงินออกได้แต่อย่างใด จึงเชื่อว่าตนเองถูกหลอก จึงได้มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมูลค่าความเสียหายประมาณ 3 ล้านบาท
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน และขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าว
จากการตรวจสอบพบว่ามีการเตือนภัยไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่า นางนงลักษณ์ฯ (ผู้ต้องหา) ได้ก่อเหตุหลอกลวงผู้อื่นอีกหลายคดี ดังนี้
คดีเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2564 ผู้เสียหายสูญเงินจำนวน 36,000 บาท พฤติการณ์ คือ ผู้ต้องหาได้หลอกให้ผู้เสียหายร่วมลงทุน โดยเมื่อผู้เสียหายลงทุนครั้งแรก จะให้ผลตอบแทนกลับมา แต่ต่อมาเมื่อได้ลงทุนเพิ่มขึ้นอีก ผู้เสียหายจะไม่สามารถถอนเงินออกได้ โดยผู้้ต้องหาจะอ้างว่าใส่บัญชีธนาคารผิด และบัญชีถูกล็อก ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 100% ของเงินในบัญชีทั้งหมด
คดีเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2564 พื้นที่ สน.ห้วยขวาง ผู้เสียหายสูญเงินจำนวน 904,068 บาท พฤติการณ์ คือ ผู้เสียหายถูกหลอกลงทุนหุ้นดิจิตอล โดยได้ลงทุน 2 – 3 ครั้ง และได้ผลตอบแทนกลับมาจริง หลังจากนั้นจึงได้ลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ต่อมาระบบกลับแจ้งว่าไม่สามารถถอนเงินออกได้เนื่องจากบัญชีนี้ไม่เคยถอนเงินออกจำนวนมาก ต้องจ่ายเงินค้ำประกันเท่ากับเงินตามที่ลงทุนไป ซึ่งเมื่อโอนเงินไปก็ยังถอนเงินออกมาไม่ได้ โดยทางระบบอ้างว่าจะต้องกลับเข้าไปเทรดหุ้นอีกครั้งเพื่อที่จะนำเงินออกมา เมื่อผู้เสียหายดำเนินการตามที่เเจ้งแล้ว ก็แจ้งกลับมาว่าผู้เสียหายใส่บัญชีธนาคารผิด และบัญชีล็อก ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 100% ของเงินในบัญชีทั้งหมด เมื่อจ่ายไปแล้วก็ยังไม่สามารถถอนเงินออกได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอก
จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่สืบสวน กก.1 บก.ปทส. ทราบว่า น.ส.นงลักษณ์ฯ ผู้ต้องหาได้หลบหนีการจับกุมมาพักอาศัยอยู่ภายในซอยสุขสวัสดิ์ แขวงบางประกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่จึงได้เฝ้าติดตามเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม น.ส.นงลักษณ์ฯ ได้บริเวณริมถนนภายในซอยสุขสวัสดิ์ แขวงบางประกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.สามพราน จ.นครปฐม ดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากการสอบถาม น.ส.นงลักษณ์ฯ ให้การภาคเสธ ว่าตนเองไม่ได้หลอกลวงผู้เสียหาย แต่รับว่าเมื่อประมาณปลายปี 2564 มี น.ส.เอ (ซึ่งตนเองไม่ทราบชื่อนามสกุล) เพื่อนที่ตนเองรู้จัก ได้ติดต่อมาขอให้ น.ส.นงลักษณ์ฯ ช่วยเปิดบัญชีธนาคารให้จำนวน 3 บัญชี โดยจะให้ค่าเปิดบัญชี บัญชีละ ๓,๐๐๐ บาท ซึ่งตน ได้เปิดบัญชีธนาคาร, ให้บัตรกดเงิน, รหัส พร้อมกับโทรศัพท์มือถือที่ลงแอปพลิเคชันของธนาคารให้ น.ส.เอ ไป โดยได้เงินค่าจ้างจำนวน 9,000 บาท ซึ่งหลังจากนั้น น.ส.นงลักษณ์ฯ ไม่ทราบว่าบัญชีธนาคารที่ น.ส.เอ ได้ไปจะเอาไปใช้ทำอะไร แต่ต่อมาทราบภายหลังว่า มีบุคคลอื่นที่เคยเปิดบัญชีธนาคารให้ น.ส.เอ มาก่อน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ตนจึงเชื่อว่าตนเองถูกจับกุมมาจากการรับจ้างเปิดบัญชี