วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกการเมืองแก้ตัว‘ให้ ทรู – ดีแทค’ทำไม!?

Related Posts

แก้ตัว‘ให้ ทรู – ดีแทค’ทำไม!?

กสทช…โทรโข่งหรือเครื่องฟอกขาว? ทำเอาแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมงงเป็นไก่ตาแตก!

“….ในมติของคณะอนุกรรมการฯ ติดตามผลการควบรวมทรู – ดีแทค ยังไม่เคยมีการรับรองว่า บริษัทฯ ได้ลดราคาค่าบริการลงร้อยละ 12 ตามที่สำนักงาน กสทช. แถลงข้างต้น การออกโรงปกป้องบริษัทสื่อสารชนิดที่เรียกว่า แทบจะเป็น “โทรโข่ง” หรือ PR Agency ของบริษัททรูกันไปเลย  *หาใช่เรื่องที่สำนักงานจะไป “ฟอกขาว” ตัดสินว่าทุกอย่างดำเนินการถูกต้องได้มาตรฐาน โดยที่ยังไม่ได้รายงานหรือนำเสนอต่อบอร์ด กสทช.แม้แต่น้อย!*รายงานคุณภาพสัญญาณที่บริษัทหอบแฟ้มแจงสำนักงาน รวมทั้งบรรดาแพ็คเกจค่าบริการที่อ้างว่าไม่ได้มีการปรับขึ้น หรือโขกค่าบริการ แถมยังมีการปรับลดค่าบริการลงไปแล้วตามเงื่อนไขที่กสทช.กำหนดนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนยังไม่ได้มีการตรวจสอบ ตรวจทานความถูกต้อง และยังไม่มีการจ้างที่ปรึกษาอิสระขึ้นมาดำเนินการตรวจทาน หรือตรวจสอบความถูกต้อง แล้วสำนักงาน กสทช.ไปด่วนสรุปทุกอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขข้อกำหนดก่อนหน้านี้ได้อย่างไร?…”

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

กับเรื่องที่ “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำทีมผู้บริหารสำนักงานฯออกมาแถลงข่าวยืนยัน ผลการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช.ต่อกรณีร้องเรียนคุณภาพสัญญาณมือถืออ่อน อินเทอร์เน็ตอืด คุณภาพต่ำสวนทิศกับค่าบริการที่แพงขึ้น ภายหลังการควบรวม TRUE-DTAC อย่างเบ็ดเสร็จนับจาก 1 มีนาคม 2566 

โดยยืนยัน  จากการติดตามตรวจสอบของคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลของสำนักงาน กสทช.ต่อกรณีควบรวมทรู-ดีแทคได้รับการยืนยันว่า บริษัทได้ทำตามเงื่อนไขควบรวมด้วยการลดเพดานอัตราค่าบริการเฉลี่ย 12 % โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการโดยสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขก่อนการควบรวม และไม่พบปัญหาอย่างที่มีการร้องเรียนแม้แต่น้อย  

เช่นเดียวกับเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่อืดและล่มบ่อย รวมทั้งการปรับลดแพ็คเกจโปรโมชั่นยัดเยียดเอาแพ็คเกจใหม่ที่มัดมือชกเพิ่มค่าบริการนั้นจากการตรวจสอบของ กสทช.ก็ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้มีการลดจุดรับส่งสัญญาณหรือเซลล์ฃไซต์แต่อย่างใดทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานตามที่กำหนด

แถมยังยืนยันด้วยว่าประเด็นเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคนั้น กสทช. พบว่า แม้จะมีเพิ่มขึ้นจาก 500 เรื่อง เป็น 600 เรื่องแต่ส่วนใหญ่ร้องเรียนเกี่ยวกับข้อความโฆษณา การให้บริการและการคิดค่าบริการผิดพลาด มีเพียง 17 เรื่องเท่านั้นที่ร้องเรียนเรื่องคุณภาพสัญญาณ สอดคล้องกับการตรวจสอบคุณภาพสัญญาณของกสทช.จากทีมงานที่สุ่มทดสอบทั่วประเทศ ซึ่งยังไม่พบการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานของผู้ให้บริการทุกเครือข่าย

เรียกได้ว่า เป็นการออกโรงปกป้องบริษัทสื่อสารชนิดที่เรียกว่า แทบจะเป็น “โทรโข่ง” หรือ PR Agency ของบริษัททรูกันไปเลย ประเภทที่ว่าคุณภาพสัญญาณอ่อนด้อยหรือบอดตรงไหนเอาปากกามาวงเลยก็ว่าได้

ทำเอามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชนพากันตั้งข้อกังขา เหตุใดสำนักงาน กสทช.จึงร้อนรนรีบแถลงออกโรงปกป้องบริษัทสื่อสารรายนี้ ทั้งที่ กสทช.เสียงข้างมากร้องขอให้ประธาน กสทช.สั่งการให้สำนักงาน กสทช.ดำเนินการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ที่กำลังเป็นปมปัญหาเหล่านี้เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็น

*หาใช่เรื่องที่สำนักงานจะไป “ฟอกขาว” ตัดสินว่าทุกอย่างดำเนินการถูกต้องได้มาตรฐาน โดยที่ยังไม่ได้รายงานหรือนำเสนอต่อบอร์ด กสทช.แม้แต่น้อย!*

จึงไม่แปลกใจที่สื่อเกือบทุกสำนักต่างพากันพาดหัว….. _” กสทช.ชี้แจงแทน “ทรู” ยืนยันบริษัททำตามเงื่อนไข  ของ กสทช.ครบถ้วน หรือ กสทช.แจง ยิบ ทรู-ดีแทค คุณภาพสัญญาณยังดี ไม่พบค่าบริการแพง….. กสทช.ป้อง ทรู-ดีแทค กรณีสัญญาณล่ม ย้ำคุณภาพไม่ได้ลดแค่มาช้า…..”_

จึงไม่แปลกใจ วันวานในการประขุมบอร์ด กสทช.ที่จะต้องพิจารณากรณีร้องเรียนมือถือหลังควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”นี้ จึงดุเดือดเลือดพล่านหลังสำนักงาน กสทช. นำรายงานอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการควบรวมกิจการเสนอให้ที่ประชุมรับทราบ แต่กลับไม่สามารถ Declare ได้ว่าข้อมูลที่ทางทรูยื่นเสนอมานั้นถูกต้องหรือไม่

รายงานคุณภาพสัญญาณที่บริษัทหอบแฟ้มแจงสำนักงาน รวมทั้งบรรดาแพ็คเกจค่าบริการที่อ้างว่าไม่ได้มีการปรับขึ้น หรือโขกค่าบริการ แถมยังมีการปรับลดค่าบริการลงไปแล้วตามเงื่อนไขที่กสทช.กำหนดนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนยังไม่ได้มีการตรวจสอบ ตรวจทานความถูกต้อง และยังไม่มีการจ้างที่ปรึกษาอิสระขึ้นมาดำเนินการตรวจทาน หรือตรวจสอบความถูกต้อง

แล้วสำนักงาน กสทช.ไปด่วนสรุปทุกอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขข้อกำหนดก่อนหน้านี้ได้อย่างไร?

เช่นเดียวกับที่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตสิ่งที่สำนักงาน กสทช. แถลงข้างต้นว่าในมติของคณะอนุกรรมการฯ ติดตามผลการควบรวมทรู – ดีแทค ยังไม่เคยมีการรับรองว่า บริษัทฯ ได้ลดราคาค่าบริการลงร้อยละ 12 ตามที่สำนักงาน กสทช. แถลงข้างต้น

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

ดังนั้นการแถลงของสำนักงาน กสทช. อาจไม่ตรงกับมติของคณะอนุกรรมการฯ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า จำนวนผู้ใช้บริการแต่ละโปรโมชั่นถูกต้องหรือไม่ และมีโปรโมชั่นที่ไม่เปิดเผยเป็นการทั่วไปตามประกาศ กสทช. ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จริง จึงทำให้คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถตรวจสอบจากฐานข้อมูลของบริษัทฯ ได้โดยตรงว่าเป็นไปตามที่บริษัทฯ แจ้งหรือไม่

นอกจากนี้ ต้องมีการกำหนดอัตราค่าบริการตามต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost Pricing) ในกรณีค่าบริการแยกส่วน (เช่น บริการเสียง ส่งข้อความ ส่งข้อมูล) และใช้กับกรณีค่าบริการส่วนเกินโปรโมชั่นที่เกิดจริง แต่บริษัทฯ ยังคงคิดราคาส่วนเกินโปรโมชันในราคาที่สูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยซึ่งน่าจะไม่เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้ 

อีกประเด็นหนึ่ง แม้จะปรากฎรายการส่งเสริมการขายแบบเสนอเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลตามพฤติกรรมการใช้งานเพื่อนำมาแสดงว่าได้มีการลดราคาร้อยละ 12 แล้ว แต่เมื่อไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ารายการนี้มีประมาณเท่าไร ก็บอกไม่ได้ว่ามีผลต่อการลดราคาจริงหรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ควรพิจารณาแนวทางการตรวจสอบด้วยเช่นกัน 

ส่วนที่บริษัทฯ ยืนยันยังคงมีแพ็กเกจราคา 299 บาท/เดือน อยู่นั้น หากยังมีแพ็กเกจข้างต้นจริง บริษัทฯ ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะและผู้บริโภคจะต้องสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์หรือที่ทำการของแต่ละค่ายมือถือได้ ซึ่งตามประกาศ กสทช. กำหนดไว้ว่าทุกรายการส่งเสริมการขายจะต้องเผยแพร่ให้สาธารณะรับรู้ ดังนั้น การอ้างว่ายังมีอยู่ แต่ไม่มีการเผยแพร่โดยสาธารณะและผู้บริโภคจะต้องสอบถามกับศูนย์บริการหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ อาจเป็นไปได้ว่าไม่ปฏิบัติตามที่ประกาศ กสทช. กำหนดใช่หรือไม่?

น่าแปลก! บรรดาข้อร้องเรียนของผู้บริโภคที่มีต่อคุณภาพสัญญาณ และแพ็คเกจบริการมือถือภายหลังการควบรวมที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคออกมาฟ้องสังคมเหล่านี้ ประชาชนผู้บริโภคกลับไม่เคยได้ยินว่า กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งก็คือ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ จะได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา

แม้แต่เรื่องที่ กสทช.เสียงข้างมากที่ทำบันทึกด่วนที่สุดไปถึงประธาน กสทช.เพื่อขอให้สั่งการให้สำนักงาน กสทช.ได้รวบรวมข้อมูลสภาวะการณ์ของตลาดมือถือภายหลังการควบรวมเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในวันที่ 20 ธันวาคมเองก็ไม่เห็นว่าจะมีคำสั่งใด ๆ ออกมา ตรงกันข้ามกับเป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช.ที่ออกมาฟอกขาวให้แก่บริษัทเสียเอง และกลับกลายเป็น นพ.ประวิทย์ อดีต กสทช.และประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ออกโรงแทน

ก็คงจะด้วยเหตุนี้ วันวาน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ออกโรงเชิญชวนให้ผู้บริโภคที่พบปัญหาในเรื่องคุณภาพสัญญาณฯและบริการ รวมทั้งแพ็คเกจค่าบริการที่ไม่ตรงปกได้ร้องเรียนไปโดยตรงไปยังสายด่วน กสทช. 1200 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รักษาการเลขาธิการ กสทช.ยืนยันว่าจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพสัญญาณและการให้บริการยังคงเป็นไปตามมาตรฐาน และที่ผ่านมา มีผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาคุณภาพสัญญาณ และแพ็คเกจค่าบริการเพียง 17 รายเท่านั้น

*และทำให้สังคมพากันตั้งข้อกังขากันต่อไปแล้วสิ่งที่ กสทช.เสียงข้างมากร้องขอให้ประธาน กสทช.ได้นำเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ รวมทั้งข้อมูลของอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการฯ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช.พิจารณาจะไปมีความหมายอะไร ในเมื่อสำนักงาน กสทช.ทำหน้าที่เป็นโทรโข่ง หรือเครื่องฟอกขาว ไปให้เองเช่นนี้*

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts