วันจันทร์, กันยายน 9, 2024
หน้าแรกการเมืองการเมืองกระเพื่อมลึก!!

Related Posts

การเมืองกระเพื่อมลึก!!

นายพูลเดช กรรณิการ์ นักวิชาการอิสระ อดีตที่ปรึกษาการเมือง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้ความเห็นถึงสถานการณ์และแนวโน้มการเมือง ภายหลัง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รอดพ้นคดีถือหุ้นไอทีวี ว่า มติศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่วินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีในวันสมัครรับเลือกตั้ง 4 เมษายน 2566 แต่ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

ซึ่งส่งผลทำให้นายพิธารอดจากคดีหุ้นไอทีวี และกลับคืนไปเป็น ส.ส.อีกครั้งหลังจากถูก “แขวน” การปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. มาตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 หลังนำพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง และกำลังถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับคำร้อง “คดีถือหุ้นไอทีวี” ไว้พิจารณา ซึ่งส่งผลทำให้นายพิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เป็นวันเดียวกับการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมในขณะนั้น เตรียมเสนอชื่อนายพิธาให้รัฐสภาโหวตเป็นรอบที่ 2

มติศาลรัฐธรรมนูญในวันนั้น ที่รับคำร้อง “คดีถือหุ้นไอทีวี” ไว้พิจารณา ถูกมองจากพรรคก้าวไกลและผู้สนับสนุนนายพิธาว่า เป็นการร้องศาลรัฐธรรมนูญจากฝั่งการเมืองตรงข้ามนายพิธาและพรรคก้าวไกล เพื่อหาเหตุผลเชิงความชอบธรรมเพื่อสกัดนายพิธา ไม่ให้ขึ้นเป็นนายกฯ

แต่เหตุผลจริงๆ เป็นเหตุผลเชิงกฎหมาย คือ เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาเห็นว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ รอบ 2 ทำไม่ได้ เพราะถือเป็น “ญัตติซ้ำ” ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เพราะในเมื่อชื่อของนายพิธาถูกโหวตคว่ำไปแล้วในครั้งแรก จึงไม่สามารถเสนอชื่อเดิมให้สมาชิกรัฐสภาโหวตซ้ำเป็นรอบที่ 2 ได้

การถูกแขวนตำแหน่ง ส.ส. และการเสนอชื่อซ้ำไม่ได้ คือ มูลเหตุสำคัญที่ทำให้การเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลล่ม เพราะไม่สามารถเสนอรายชื่ออื่นเป็นนายกฯได้ เพราะนายพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯคนเดียวของพรรคก้าวไกล ส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทย ได้สิทธิ์และโอกาสจัดตั้งรัฐบาลแทนในฐานะพรรคอันดับ 2 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มกราคม ไม่เพียงทำให้นายพิธากลับคืนเป็น ส.ส.อีกครั้ง หลังจากถูกแขวนไปนานกว่า 6 เดือน แต่นัยยะที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เป็นการกลับคืนมาอยู่ในสถานะแคนดิเดตนายกฯอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นว่าตัวนายพิธาเองให้ความสำคัญกับสถานะนี้อย่างมาก มากกว่าการกลับคืนเป็นหัวหน้าพรรค หรือเป็นผู้นำฝ่ายค้าน โดยภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เขาไม่ต้องพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลเหมือนเดิมหรือไม่ นายพิธาตอบว่า ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ เพราะคณะกรรมการบริหารพรรคมีอายุงาน 4 ปี แต่ตนเอง “ยังมีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” อยู่

การที่นายพิธาตอกย้ำว่าตัวเขายังมีสถานะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่ แสดงให้เห็นชัดว่านายพิธายังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนายกฯเต็มเปี่ยม ซึ่งแน่นอนว่าความมุ่งมั่นนี้ย่อมมาจากฐานความคิดที่ว่า พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง มี ส.ส.มากที่สุด มีความชอบธรรมที่จะเป็นนายกฯและรัฐบาล

แต่มากไปกว่านั้นคือ คาดว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลคงมีความหวังว่า หากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดปัญหาทางการเมืองกับรัฐบาล และมีเหตุให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ หรือสรรหานายกฯกันใหม่ในรัฐสภา พรรคก้าวไกลมีสิทธิ์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง และนายพิธามีสิทธิ์ถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯในฐานะแคนดิเดตนายกฯจากพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด

ดังนั้น พลันที่นายพิธา กลับคืนสถานะแคนดิเดตนายกฯ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจึงได้รับแรงสั่นสะเทือนโดยตรง เพราะแคนดิเดตนายกฯคนเดิมที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนกลับมาอยู่บนเส้นทางสู่ทำเนียบอีกครั้งแล้ว และพรรคฝ่ายค้านมีแคนดิเดตนายกฯท้าชิงกับรัฐบาลแล้ว!!

ยิ่งเมื่อพิจารณาต่อไปว่า สถานะความสัมพันธ์ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ไม่ใช่ “คู่รัก” หรือบ่าว-สาว หวานแหว๋ว เหมือนคราวร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่สถานะปัจจุบันคือ รัฐบาลกับฝ่ายค้าน ซึ่งพรรคก้าวไกลออกมาคัดค้านนโยบายสำคัญของรัฐบาลทั้ง 2 เรื่อง คือ เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และโครงการแลนด์บริจด์ นั่นแสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลเดินหน้าทำงานเต็มสูบในฐานะฝ่ายค้าน และพร้อมที่จะคัดค้านรัฐบาล

ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อจากนี้คือ หลังนายพิธากลับมาเป็น ส.ส. และเป็นแคนดิเดตนายกฯอีกครั้ง พรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไร หรือจะรับมือกับสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

ระหว่าง แยกทางการเมืองกับก้าวไกลอย่างเด็ดขาด สร้างผลงานของรัฐบาล แข่งขันกับกระแสก้าวไกล เพื่อเอาชนะใจประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

หรืออีกทางหนึ่ง เพื่อไทยดึงก้าวไกลมาอยู่ในอันเดอร์ เพื่อควบคุมกระแสความนิยมต่อก้าวไกลไม่ให้ขยายตัวมากขึ้น โดยทำการปรับ ครม. ดึงพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล

“มีความเป็นไปได้ว่าเพื่อไทยจะเลือกดึงก้าวไกลร่วมรัฐบาล เพื่อให้ก้าวไกลอยู่ในอันเดอร์เพื่อไทยในรัฐบาล มากกว่าที่จะปล่อยก้าวไกลไว้อย่างนี้ มิตรก็ไม่ชัด ศัตรูก็ไม่เชิง คล้ายเป็นหอกข้างแคร่ หรือปล่อยเสือเข้าป่า”

ซึ่งหากมีการปรับ ครม. แน่นอนว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับพรรคภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติทันที ที่อาจต้องออกจากรัฐบาล เพราะ 2 พรรคนี้ปฏิเสธไม่เอาก้าวไกลมาตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล และอีกอย่างต้องไม่ลืมว่า ทั้งรวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทย ครองกระทรวงสำคัญที่เพื่อไทยเองก็เสียดายและอยากได้คืน หากมีการปรับ ครม.ในสูตรดึงก้าวไกลเข้าร่วม เพื่อไทยก็มีโอกาสยึดคืนกระทรวงสำคัญที่อยู่ในมือรวมไทยสร้างชาติและภูมิใจไทย

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ที่เวลานี้จับมือกับก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ก็น่าจะได้อานิสงส์ตามก้าวไกลมาร่วมรัฐบาลด้วย

“ก้าวไกลนั้น หากคิดช็อตสั้นๆ และไม่หวังน้ำบ่อหน้าเกินไป ก็อาจเลือกที่จะร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย หากถูกชวน ดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน หรือรออุบัติเหตุการเมืองที่จะเกิดกับรัฐบาล ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ และเมื่อไหร่”

ก็ขึ้นอยู่กับว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นายทักษิณ ชินวัตร จะยังคุยกันอยู่หรือไม่ หลังจากนายทักษิณได้กลับไทยแล้ว

อย่างไรก็ดี หากเพื่อไทยดึงก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ก็ต้องแลกกับการเผชิญแรงเสียดทานจากฝ่ายต่างๆที่ปกป้องสถาบัน และสถานะของเพื่อไทยก็จะกลับไปพัวพันกับพวกล้มเจ้าอีกครั้ง ยิ่งในตอนนี้ก้าวไกลยังมุ่งมั่นจะแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 การดึงก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล ถือว่ามีราคาที่ต้องจ่ายแพงมากสำหรับนายทักษิณและเพื่อไทย คุ้มหรือไม่คุ้ม ก็คงคิดเองได้ไม่ยาก

แต่ตอนนี้ ทั้งหลายทั้งปวงที่ผมฉายภาพไว้ ก็ต้องรอให้ก้าวไกลผ่านด่านวันที่ 31 มกราคมนี้ ให้ได้ก่อน คือ รอดจากการถูกยุบพรรคในคดีล้มล้างการปกครองฯ จากกรณีเสนอแก้ ม.112!!!


พูลเดช กรรณิการ์
นักวิชาการอิสระ
อดีตที่ปรึกษาการเมือง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts