กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปอศ. พ.ต.ท.ปุณณวิช อรรคนันท์ รองผกก.4 บก.ปอศ. พ.ต.ท.ภาณุพงษ์ กะระกล รอง ผกก.4 บก.ปอศ.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.ชณิตพงศ์ ศิริเวช สว.กก.4 บก.ปอศ. พ.ต.ต.หญิงสุจิตรา ทองสกุล สว.กก.4 บก.ปอศ. ร.ต.ต.พรเทพ ธีระชาติ รอง สว.(ป) กก.4 บก.ปอศ. ด.ต.บพิตร ทองอนันต์ ผบ.หมู่ กก.4 บก.ปอศ. ด.ต.พีระพงษ์ เพ็ชรฉกรรจ์ ผบ.หมู่ กก.4 บก.ปอศ. จ.ส.ต.อานัฐ อาสนา ผบ.หมู่ กก.4 บก.ปอศ.
ร่วมกันจับกุม นายธนัญชกร หรือพระพัชรวัฒน์(สงวนนามสกุล) ทั้งในฐานะส่วนตัว และในฐานะนิติบุคคล (บริษัท สไมล์พลัส เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทยจำกัด))
โดยจับกุมได้ที่บริเวณบ้านเลขที่ 47 หมู่ 2 ตำบลหนองปรือ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี
ก่อนเกิดเหตุ ประมาณต้นเดือน กุมภาพันธ์ 2559 ผู้เสียหายกับพวกได้เข้าไปในไลน์กลุ่มของ บริษัท สไมล์พลัส (S.P.N) ภายในกลุ่มนั้น ได้มีการโฆษณาขายสินค้าพร้อมกับแพคเก็จการลงทุน โดยให้ข้อมูลว่าต้องการจัดรายการส่งเสริมการขายสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และคืนกำไรให้กับสมาชิกเป็นเงินปันผล ซึ่งมีสินค้าจำกัดเพียง 5,000 กล่อง หรือ 5,000 รหัสแพคเกจ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีลักษณะกล่องสีฟ้า บรรจุจำนวน 10 ซอง ราคา 3,500 บาท มีคุณสมบัติชะลอชรา, สิวฟ้ากระ, ผิวขาวอมชมพู, ลดน้ำหนัก
ในช่วงแรกมีข้อความเชิญชวนว่า “ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สมัครสมาชิก 4,700 บาทได้รับเงินปันผลทุกรอบ 5 วัน ครั้งละ 2,200 บาท จำนวน 3 ครั้ง รวมรับ 6,600 บาท ใน 15 วัน พร้อมอาหารเสริม 1 กล่องราคา 3,500 บาท”
โดยขั้นตอนคือแจ้งชื่อและจำนวนแพคเกจที่ต้องการสมัคร จากนั้นโอนเงินค่าสมัครพร้อมหลักฐานการโอน เข้าไปในไลน์กลุ่มโดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยจัดเก็บข้อมูลและแจ้งรายละเอียดให้กับสมาชิกทราบ
ต่อมาเมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ถึงประมาณต้นเดือน มีนาคม 2559 บริษัท สไมล์พลัส เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ได้หยุดการจ่ายผลตอบแทนไป ซึ่งทำให้ผู้กล่าวหาและพวก รวม 35 คน ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 2,519,200 บาท เชื่อว่าตนถูกหลอกลวงอย่างแน่นอน จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” กับ บริษัท สไมล์พลัส เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายธนัญชกร หรือพระพัชรวัฒน์ (ในฐานะนิติบุคคล) และบุคคลที่ร่วมกระบวนการจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมสืบทราบว่าผู้ต้องหาได้หลบหนีไปบวชเป็นพระ ที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้เดินทางไปตรวจสอบ พบผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าวจริง จึงได้ทำการจับกุมตัว นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางขอเตือนภัย ให้ประชาชนทุกท่านพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ข้อสังเกตุของการลงทุนที่อาจเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ คือ การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมูลค่าสูง ในระยะเวลาอันสั้น อันเป็นพฤติกรรมที่มิจฉาชีพมักเลือกใช้ในการหลอกให้ลงทุน